xs
xsm
sm
md
lg

"พระปกเกล้าโพล"ชี้คนตจว.เลือกผู้สมัคร คนกรุงเลือกแคนดิเดตนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ ( 13 มี.ค.) สถาบันพระปกเกล้า โดยนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันฯ แถลงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง นโยบายอะไรโดนใจประชาชน ผู้สมัคร พรรค และว่าที่นายกฯ แบบไหนที่นั่งในใจแล้วเข้าตา ซึ่งเป็นการสำรวจ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 7-10 มี.ค. จาก 1,540 ตัวอย่าง
ผลสำรวจประเด็นแรก นโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ประชาชนพึงพอใจ และเห็นว่าทำได้จริง พบว่า อันดับ 1. ร้อยละ 20.4 คือ เพิ่มราคาพืชผลทางการเกษตร 2. ร้อยละ 16.6 เพิ่มค่าจ้างแรงงาน และ 3. ร้อยละ15.6 ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือคนจน ถือว่านโยบายแก้ปัญหาการเกษตร ค่าแรง แก้ปัญหาความยากจน โดนใจมากที่สุด โดยคนกรุงเทพฯ ชอบนโยบายลดความเลื่อมล้ำ ภาคกลาง ชอบเพิ่มค่าแรง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ชอบ เพิ่มราคาพืชผลทางการเกษตร เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่าคนรุ่นใหม่ ช่วงอายุ 18 -25 ปี ชอบนโยบายเรียนฟรี ปฏิรูปการศึกษา คนวัยทำงาน อายุ 26- 35 ปี ชอบนโยบายเพิ่มค่าจ้างแรงงาน และลดความเลื่อมล้ำ ส่วนคนสูงอายุ 61 ปีขึ้นไปชอบ เพิ่มราคาพืชผลทางการเกษตร
ประเด็นที่ 2 ปัจจัยในการเลือกผู้สมัคร พรรคการเมือง และแคนดิเดตนายกฯ พบว่า ความซื่อสัตย์ มีวิสัยทัศน์ แก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ เป็นปัจจัยหลัก โดยความซื่อสัตย์ มีความสำคัญมาก ร้อยละ 78.2 มีวิสัยทัศน์และความคิดก้าวหน้า ร้อยละ 66.8 ความสามารถในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ร้อยละ 59.5 และ เมื่อถามประชาชนว่า พรรคการเมืองแบบไหนที่ประชาชนจะเลือก อันดับ 1. ร้อยละ 64 ให้ความสำคัญกับนโยบายพรรค 2. ร้อยละ 53.7 ให้ความสำคัญกับ แนวทางการดำเนินการทางการเมืองของพรรค และ 3. ร้อยละ 51.1 ให้ความสำคัญกับ อุดมการณ์และเจตนารมณ์ของพรรค
ส่วนปัจจัยที่มีความสำคัญ สำหรับผู้ที่จะเป็นนายกฯ อันดับ 1. ร้อยละ 82.2 ระบุว่า ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต อันดับ 2 ร้อยละ 77.6 ระบุ ต้องมีความโปร่งใสในการทำงาน และอันดับ 3. ร้อยละ 72.8 ต้องมีภาวะผู้นำ
ขณะที่การตัดสินใจเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า ร้อยละ 38.8 ให้ความสำคัญกับ ตัวผู้สมัครในเขต รองลงมาคือ นโยบายพรรค และ รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ทั้งนี้เมื่อสำรวจเป็นรายภาค จะพบว่า คนต่างจังหวัดตัดสินใจเลือกจากตัวผู้สมัคร ขณะที่คนกรุงเทพฯ นำรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือก
สำหรับประเด็นที่ 3 เรื่องความเชื่อมั่นในพลังเสียงของตัวเอง และความมุ่งมั่นในการไปใช้สิทธิ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 94 เห็นด้วยว่า 1 เสียงของตัวเอง สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศให้ดีขึ้นได้ และประชาชน ร้อยละ 95.9 ยืนยัน จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างแน่นอน
นายวุฒิสาร ยังกล่าวอีกว่า จากการสำรวจความคิดเห็นทั้ง 5 ครั้ง พบว่าทิศทาง และหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีความสุกงอมทางการเมืองมากขึ้น ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับนโยบาย วันนี้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับผู้สมัครในแต่ละเขต โดยเน้นในเรื่องคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และการแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ ส่วนเรื่องรูปร่างหน้าตา พูดจาฉะฉาน หรือประสบการณ์ ทางการเมือง ไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ คนหน้าใหม่จึงมีโอกาสที่จะได้รับเลือกมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงเรื่องการใช้วาทกรรม ในการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น "สืบทอดอำนาจ" "เผด็จการ" และ"ฝ่ายประชาธิปไตย" โดยในอดีต เราเคยมีวาทกรรม พรรคเทพ พรรคมาร มาแล้ว แต่เมื่อเข้าไปดูในนโยบาย ก็เหมือนกันทั้ง 2 ข้าง ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้หยุดการสร้างวาทกรรม เพราะจะทำให้คนคิดว่า ออกเสียงแบบนี้แล้วตัวเองจะกลายเป็นคนในกลุ่มนั้น หรือไม่ ซึ่งทำให้เกิดความเกลียดชัง มีการแบ่งขั้วเกิดขึ้นในการเมืองไทย และไม่ได้เป็นเจตนารมณ์ในการเลือกตั้ง ที่ต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ของประชาชน และปราศจากอคติ
กำลังโหลดความคิดเห็น