xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คลี่ความคิด “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” “กัญชาไม่ควรผูกขาดผลประโยชน์ ผู้ป่วยต้องมีสิทธิในการรักษา”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การขับเคลื่อน “เครือข่ายเกษตรกร” ปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ที่มีโต้โผอย่าง “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นับเป็นเรื่องท้าทายด้วยกฎกติกาที่ซับซ้อน

และยิ่งน่าจับตาเมื่อ “สภาเกษตรกรแห่งชาติ” เดินหน้าผลักดันเครือข่ายเกษตรกร “ปลูกกัญชา” เพื่อการศึกษาวิจัย ฝึกอบรม และรักษาทางการแพทย์ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าการ “คลายล็อกกัญชา” ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562กัญชายังคงจัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น และไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถปลูกหรือครอบครองกัญชาได้ เพราะต้องดำเนินไปภายใต้กรอบกฎหมาย มีกฎเกณฑ์ข้อจำกัดยุ่งยาก จนเกิดกระแสต่อต้าน “ผูกขาดกัญชา” เนื่องจากการคลายล็อกกัญชาในครั้งนี้ “จำกัดสิทธิ” ผู้ปลูก นำเข้าและส่งออกกัญชาอยู่เพียง 7 กลุ่ม ประชาชนคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ เสมือนเป็นการ “เอื้อประโยชน์” ให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาถือครองสัมปทานกัญชาในอนาคต

สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ ชวนพูดคุยกับ “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” ในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ถึงเส้นทางกัญชาในเมืองไทย การขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรไทยปลูกกัญชา ปมผูกขาดกัญชาทันทีที่กฎหมายคลายล็อก ไปจนถึงความเป็นไปได้ของเรื่องกัญชาเสรีในเมืองไทย

-สภาเกษตรกรฯ มีการวางแผนให้ทางเครือข่ายเกษตรกรปลูกกัญชาอย่างไร
ความร่วมมือล่าสุด สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับ ม.รังสิต เราเสนอให้ทาง ม.รังสิต แต่งตั้งคณะทำงานด้วยกัน 2 หน่วยงาน ระหว่างนี้กำลังแต่งตั้งคณะทำงานอยู่ เพื่อจะได้รู้ว่าจะเดินหน้าเรื่องกัญชาต่อไปอย่างไรบ้าง อย่างเช่น เครือข่ายผู้ป่วยเท่าที่รวบรวมได้จากสภาเกษตรกรฯ จำนวนกี่ราย มีปริมาณการใช้กัญชาหรือสารประกอบกัญชาเท่าไหร่ เพื่อให้วิชาชีพได้วางแผนในการผลิตเท่าที่จำเป็นต้องใช้ โดย ม.รังสิต จะเป็นผู้วิจัยและพัฒนาและเป็นผู้ดูแลกัญชาแก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ สภาเกษตรกรฯ ได้เจรจากับสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมุ่งไปที่คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์เป็นหลัก และยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่สภาเกษตรกรฯ เดินทางไปเพื่อสร้างความร่วมมือในการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค

สภาเกษตรกรฯ มีหน้าที่ในการปลูก รักษาคุณภาพ เพื่อจัดส่งให้ตามที่ต้องการ เรามีเครือข่ายเกษตรกรอยู่แล้ว เริ่มแรกคงปลูกนิดหน่อยไม่เยอะหรอกครับ จะพยายามให้ครอบคลุมภาคละหนึ่งแห่ง แห่งละ 5-10 ไร่ ไม่เยอะครับ เป็นพันธุ์ท้องถิ่น พันธุ์หางกระรอก อย่างสัปดาห์ที่แล้ว ผมเดินทางไปจังหวัดสกลนคร ลงพื้นที่พูดคุยกับเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เครือข่ายแพทย์แผนไทย และไปดูสายพันธุ์ที่สกลนครว่ามีสายพันธุ์อะไรบ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้น เราจะรวบรวบผู้ป่วยและความต้องการที่ใช้จริงและกำลังในการรักษา เพื่อนำไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขด้วย

-กัญชาที่เครือข่ายเกษตรกรนำมาปลูกมีแหล่งที่มาจากไหน
ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้เรามีเครือข่ายปลูกกันอยู่ตามหลังบ้าน ซุกซ่อนตามไร่ปลายนา เป็นพืชสมุนไพร ปลูกเคล้าๆ กันไปกับพวกกระเพรา โหระพา พริก มะเขือ ปลูกกันเยอะบนดอยแต่ไม่ได้มีปริมาณมาก เวลานี้ที่ใช้กันอยู่ก็ไปเอาของพรรคพวกเพื่อนฝูงกันนั้น ใครมีเหลือก็แบ่งๆ กันมา

-ตอนนี้สถานการณ์กัญชาในตลาดมืดเป็นอย่างไร
ส่วนใหญ่ลักลอบนำมาจากประเทศเพื่อนบ้านตามตะเข็บชายแดน ผลิตส่งมาขายในเมืองไทยปีนึงหลายสิบตัน ขณะที่ราคาขึ้นอยู่กับความห่างไกลแหล่งผลิต ตลาดมืดเวลานี้กัญชาแห้งซื้อขายกัน 8,000 - 10,000 บาท ต่อ ก.ก. ยิ่งห่างไกลจากแหล่งผลิตก็ยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ

-ทำไมสภาเกษตรกรฯ ถึงพยายามผลักดันกัญชาสู่พืชเศรษฐกิจตัวใหม่
กัญชามีศักยภาพสูงมากทางด้านการตลาด กัญชาที่ปลูกในแถบประเทศของเราเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก เนื่องจากสรรพคุณและคุณภาพสูง ผมเชื่อมั่นว่าตัวกัญชามีศักยภาพทางการตลาดสูง สามารถทำให้เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชาติได้ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระดับโลกเรื่องกัญชาได้ เพียงแต่ว่าต้องมีการจัดระเบียบภายในเพื่อไม่ให้มีการผูกขาดจากกลุ่มผลประโยชน์ เศรษฐกิจข้างล่างจะดีขึ้นแข็งแรงขึ้น และพี่น้องประชาชนคนไทยก็สามารถรักษาตนเองได้ตามลำดับ ประเทศไทยสูญเสียเงินซื้อยารักษาโรคลดลงเป็นจำนวนมหาศาล กระทรวงสาธารณสุขไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องงบประมาณมากนัก นอกจากเก็บภาษีจากการส่งออกได้มากมาย แล้วยังสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศได้มหาศาลเช่นเดียวกัน กัญชาเป็นเครื่องมือแก้ความยากจน

-ดูเหมือนว่า แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ 2562 ที่มีการคลายล็อก ให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นกฎหมาย “ผูกขาดกัญชา” เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน กีดกันชาวบ้าน
ยังไม่มีการผูกขาดในวันนี้...เพียงแค่มีแนวโน้ม ผมเข้าใจว่า กระทรวงสาธารณสุขที่ออกกฎกระทรวงมา ไม่มีเจตนาที่เขียนขึ้นมาเพื่อการผูกขาดหรอก แต่เนื่องจากความไม่เข้าใจ ขั้นตอนที่ยุ่งยาก เรื่องกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนโดยระบบของงาน ทำให้เกษตรกรรายย่อยมีโอกาสถึงได้น้อยมาก ผู้ประกอบการที่เข้าถึงได้ล้วนแล้วแต่เป็นรายใหญ่ทั้งสิ้น ด้วยขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนที่ถูกออกแบบมา ทำให้หลายคนไม่สบายใจ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ทุกท่านตั้งข้อสังเกตได้ แต่ผมเชื่อว่าหลังเลือกตั้งจะมีการปรับกระบวนการใหม่ทั้งหมด

-แสดงว่า ทิศทางกัญชาในไทยอาจเป็นไปในรูปแบบสัมปทานที่ทุนใหญ่ไม่กี่เจ้าเข้ามากอบโกย เหมือนที่เคยเกิดกับในหลายธุรกิจ ใช่หรือไม่
มีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้นครับ ถ้าออกกฎกระทรวงในลักษณะแบบนี้ ต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ สภาเกษตรฯ จะคัดค้านหัวชนฝาครับ ไม่เห็นด้วย ซึ่งทรัพยากรพันธุกรรมเป็นของเราทุกคน ต้องได้รับประโยชน์โดยทั่วถึง ไม่ควรผูกขาดผลประโยชน์ ทำร้ายคนตัวเล็กตัวน้อย ทำร้ายเกษตรกรยากจน

-มีความคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็น “กัญชาเสรีในเมืองไทย”
สำหรับเรื่องเสรีกัญชาคงไม่ได้เสรีอย่างที่เข้าใจกัน ไม่ใช่ใครปลูกที่ไหนก็ได้ แต่เป็นการปลูกเสรีตามกรอบกติกาที่ตกลงกันไว้ เช่น สามารถปลูกได้ครัวเรือนละไม่เกินกี่ต้น ผู้ป่วยปลูกได้กี่ต้น ผู้ปลูกส่งส่วนกลางปลูกได้กี่ต้น เรื่องการเสียภาษี ปลูกในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น ฯลฯ ผมว่าจะต้องเป็นเสรีในลักษณะแบบนี้ แต่ทั้งหมดทั้งมวล สภาเกษตรกรฯ ไม่สามารถผลักดันให้ไปได้ไกลขนาดนั้น เราเน้นเรื่องของการรักษาเท่านั้น เรื่องของสันทนาการเรายังไม่พูดครับ ฉะนั้นสิ่งที่เราพยายามผลักดันคือ ผู้ป่วยทั้งหลายต้องมีสิทธิรักษาด้วยกัญชา ปลูกเองหรือใช้ผลผลิตจากเครือข่ายเพื่อรักษาด้วยเองได้

-ในสมัยโบราณกัญชาจัดเป็นยารักษาโรคชนิดหนึ่ง กระทั่ง ในเวลาต่อมาถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 อยากให้ช่วยเล่าถึงเส้นทางกัญชาในประวัติศาสตร์ไทยหน่อย
กัญชาเป็นพืชท้องถิ่นของเขตร้อนชื้นทางบ้านเรา ไล่ลงมา อียิปต์ เมโสโปเตเมีย อินเดีย พม่า ไทย ลาว เขมร เป็นพืชประจำถิ่นโบราณมานานมาก ในประวัติของเราเขียนไว้เป็นพืชประจำถิ่นใช้มายาวนานมาก แม้กระทั่งในเอกสารรบทัพจับศึกกองทัพก็ใช้กระท่อมเป็นตัวกระตุ้นกำลังรบ และใช้กัญชาเป็นตัวผ่อนคลายหลังรบ มีเขียนบันทึกไว้ในตำรับยาโบราณหลายตำรับ เป็นพืชที่คนในแถบตะวันออกรู้จักกันมานานมาก

สมัยก่อนเราเคยส่งออกกัญชาเป็นสินค้าออก ไทยมาลีฮวนน่า ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ในตอนหลังมีอนุสัญญาของสหประชาชาติ UN : United Nations) ว่าด้วยเรื่องยาเสพติด ได้กำหนดตีตราให้พืชทั้งหลายเป็นยาเสพติด ต่อมา ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ เราต้องอยู่ภายใต้อนุสัญญา UN ประกาศให้ กัญชา กัญชง กระท่อม ฝิ่น เป็นยาเสพติด

แต่ในหลายประเทศไม่ได้ประกาศกฎหมายภายในเข้มข้นขนาดประเทศไทย ยกตัวอย่าง กระท่อมใน พม่า มาเลเซีย ไม่ผิดกฎหมาย แต่ของไทยผิดกฎหมายหมดเลย หรือ กัญชาในประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว หากปลูกในครัวเรือนไม่ผิดกฎหมาย แต่ในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ เช่น ปลูกไว้ 3 ต้น 5 ต้น เป็นยา เป็นสมุนไพรเป็นสารปรุงรส ทางการอนุญาติให้เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม รัฐบาลไม่กวน แต่ในประเทศไทยกัญชาผิดกฎหมายเข้มข้นมาก เราเดินตามก้นฝรั่งแถมบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นกว่าฝรั่งเสียด้วยซ้ำ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยปิดกั้นกัญชา กันชง และกระท่อม ไม่สามารถนำมาปรับปรุงคุณภาพหรือศึกษาวิจัยใดๆ ได้เลย ในขณะที่ต่างประเทศไม่ผิดกฎหมาย จึงมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต่อเนื่อง ในพืชกัญชามีสารประกอบสำคัญมีสรรพคุณรักษาโรค ตรงนี้เราจึงเสียโอกาสอย่างยิ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ก็พัฒนาไม่ได้ นักวิจัยไทยอยากพัฒนาแต่ขั้นตอนการขออนุญาตไม่ง่าย เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากครับ

-สำหรับการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ในครั้งนี้ สภาเกษตรกรฯ มีบทบาทขับเคลื่อนอย่างไรบ้าง
สภาเกษตรกรฯ ศึกษาแนวทางการขึ้นทะเบียนกับรัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรของเราไปขึ้นทะเบียนตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกันนั้นก็เจรจากับสถาบันการศึกษาต่างๆ มุ่งไปที่คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์เป็นหลัก อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เราสร้างความร่วมมือในการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค เราอยากร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยกับประเทศไทยและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยทั้งประเทศ

ในส่วนกัญชาทางการแพทย์ ผมและเครือข่ายครอบครัวผมได้ทดลองด้วยตัวเองมาช้านานมากแล้ว กัญชาและกัญชง สาร THC และ CBD ในกัญชา ทั้ง 2 ตัว มีสรรพคุณรักษาคนละโรค ซึ่งทางการแพทย์มีศักยภาพสูงมาก โดยตัวเขาเองมีศักยภาพทางด้านการเกษตรทางเศรษฐกิจสูงเทียบเท่ากับทางการแพทย์ ส่วนตัวผมเชื่อมั่นว่าถ้ารัฐบาลเปิดกว้างมาคุยกับพวกเราก็จะได้แนวทางดีๆ แต่ตอนนี้ยังไม่มีเลย ความเคลื่อนไหวของภาครัฐน้อยมาก ในการแก้ปัญหาประเทศชาติโดยการใช้พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ชื่อว่า กัญชา สภาเกษตรกรพร้อมจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้ครับ

ที่สำคัญ การปลดล็อกกัญชาในครั้งนี้ เราต้องสามารถใช้กัญชาในการวิจัยและพัฒนาได้ทั้งทางการแพทย์ โอสถ เครื่องสำอาง สารบำรุงเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มชูกำลัง เพื่อนำไปสู่การตลาดต่อไปในอนาคตหากรัฐบาลตั้งใจและมีความพร้อม แต่เรื่องวิจัยพัฒนาไม่ควรหยุดนิ่ง ควรจะเป็นเสรีทางวิชาการ ผมคิดว่าประเทศไทยน่าจะเข้าไปสู่จุดนั้นจะได้


กำลังโหลดความคิดเห็น