xs
xsm
sm
md
lg

“ตั๋วแมงมุม”รฟม.สะดุด ห่วงผลประโยชน์ทับซ้อน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าระบบตั๋วร่วมว่า ขณะนี้ธนาคารกรุงไทย อยู่ระหว่างพูดคุยกับสถาบันการเงิน ธนาคารต่างๆในด้านการเงิน เพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยจะมีการพัฒนาระบบจาก แมงมุม เวอร์ชั่น 2.5 ซึ่งเป็นระบบปิด (Closed Loop) เป็น แมงมุม 4.0 ซึ่งเป็นระบบเปิด (Open Loop) เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card ) ซึ่งกระทรวงคมนาคม กำหนดเป้าหมาย ให้เปิดใช้ในเดือน ธ.ค.62
โดยในส่วนของผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้อง ปรับปรุงระบบจาก เวอร์ชั่น 2.5 ให้รองรับระบบ 4.0 ซึ่งรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ฉลองรัชธรรม (ช่วงเตาปูน – บางใหญ่) รฟม.จะดำเนินการเอง ดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนปรับปรุงหัวอ่านทั้ง 17 สถานี ประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เฉลิมมหานคร (ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ-ท่าพระ -หลักสอง ) ซึ่งเป็นสัญญาร่วมทุน PPP Net Cost บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จะเป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงทั้งหมด 38 สถานี คาดว่าจะลงทุนกว่า 100 ล้านบาท
สำหรับ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์นั้น ได้ดำเนินการปรับแผนติดตั้งหัวอ่าน พัฒนาซอฟต์แวร์ระบบตั๋วร่วม จากเวอร์ชัน 2.5 เป็น 4.0 ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส นั้น จากการเจรจาที่ผ่านมา บีทีเอส ยังปฏิเสธที่จะเข้าร่วม แต่ระบบที่รับบัตร EMV เป็นระบบเปิด ซึ่งบีทีเอส สามารถพัฒนาและเข้าร่วมได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การพัฒนาระบบตั๋วร่วมของรัฐ เป็นภาคสมัครใจ ไม่ได้บังคับ ซึ่งบีทีเอส อยู่ภายใต้การกำกับสัญญาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ได้ขึ้นตรงกับกระทรวงคมนาคม
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถพัฒนาระบบแมงมุม 4.0 ให้ใช้ได้ทันเดือนธ.ค. 62 โดยหลังจากที่ ครม. มอบหมายให้ รฟม. รับโอนหน้าที่ในการดำเนินการระบบตั๋วร่วมจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งต่อมา คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้มีมติให้ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบโดยจะมีการเซ็นสัญญาว่าจ้างเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ถูกตั้งคำถามว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และเป็นการดำเนินการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างรฟม. และ กรุงไทย หรือไม่
เนื่องจาก รฟม. ควรเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยสามารถว่าจ้างผู้พัฒนาระบบหลังบ้านโดยตรง และให้ธนาคารทุกแห่งเข้ามาร่วมบนฐานเดียวกัน ซึ่งการจ้างเองนอกจากใช้เงินน้อยกว่าแล้วยังใช้เวลาสั้นกว่าอีกด้วย เพราะสามารถอัปเกรด ระบบแมงมุม 2.5 ที่ รฟม.มีอยู่ในขณะนี้ไปเป็น 4.0 ได้เลย และมีเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ ของระบบที่สายสีม่วง แห่งเดียว
ขณะที่ให้กรุงไทย พัฒนาจะทำให้ มีเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ ทั้งที่สีม่วงของรฟม. และที่กรุงไทย โดยหากเซ็นสัญญาจ้างกรุงไทยแล้ว ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 18 เดือน เนื่องจากกรุงไทย จะต้องไปจ้างผู้พัฒนาระบบต่อเช่นกัน ใช้เวลาอย่างน้อย 5 เดือน จากนั้นเป็นการปรับปรุงระบบ 8 เดือน และ ทดสอบอีก 3-5 เดือน
นอกจากนี้ อัตรา ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรระบบตั๋วร่วม ต่อ 1 ธุรกรรม ซึ่งคิดจากยอดค่าโดยสารร่วม โดยคิดอัตราค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ที่ 0.8% รายได้นี้จะแบ่งให้ธนาคารเจ้าของบัตรที่ผู้โดยสารใช้ อัตรา 0.3% และอีกส่วน เป็นของ กรุงไทย ในฐานะผู้พัฒนาระบบหลังบ้าน ได้อัตรา 0.38% ส่วน รฟม.ได้ 0.12% ซึ่งหากผู้โดยสารใช้บัตรของกรุงไทย เท่ากับกรุงไทย จะได้ถึง 0.68%
กำลังโหลดความคิดเห็น