xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯฉลุย ผวาอำนาจ จนท.ยึด-ค้น-ล้วงข้อมูล มติ133ต่อ0ไร้คนค้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บมั่นคงไซเบอร์ฯ เอกฉันท์ 133 ต่อ 0 เสียง ไร้เสียงค้าน เผยเปิดช่องเจ้าหน้าที่รัฐ ยึด-ค้น-เจาะ-ล้วง-ส่องเต็มที่ แค่สงสัยว่าจะเป็นภัยคุกคาม ใช้อำนาจได้ก่อนแล้วค่อยแจ้งศาล ประธาน กมธ.แจงเน้นควบคุมภัยคุกคามประเทศ มุ่งคุมเฉพาะกลุ่มคนไม่หวังดี ยันปรับแก้ กม.ตามข้อห่วงใยแล้ว

วานนี้ (28 ก.พ.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... (พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ) ตามที่ กมธ.วิสามัญฯ ที่มี นางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธาน เสนอ ทั้งนี้ในที่ประชุม ไม่มี กมธ.หรือสมาชิกสนช. ติดใจสงวนคำแปรญัตติ ขณะที่การอภิปรายของสมาชิก เป็นเพียงการตั้งคำถามเพื่อให้อธิบายในรายละเอียด โดยไม่มีข้อเสนอให้แก้ไข หรือปรับปรุงตามบทบัญญัติที่ กมธ.เสนอแต่อย่างใด โดยการอภิปรายและลงมติเป็นรายมาตรา ทั้งร่าง จำนวน 81 มาตรา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที เท่านั้น ก่อนที่ประชุมมีมติเห็นชอบวาระ 3 ด้วยคะแนน 133 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วยแม้แต่รายเดียว เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

** แค่สงสัยทำได้หมด-ขอศาลทีหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และยังให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ที่มี รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ สามารถออกคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ดำเนินการได้หลายประการตาม มาตรา 60 กำหนด เช่น รวบรวมข้อมูล หรือพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผลกระทบจากภัยคุมคามทางไซเบอร์ เป็นต้น ในกรณีที่ปรากฏแก่ กกม.ว่าเกิด หรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงด้วย

อีกทั้ง มาตรา 61 ยังให้อำนาจ เลขาธิการ กมช.สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง หรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้นด้วย สำหรับในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ มาตรา 67 ให้ กมม.มอบหมายให้เลขาธิการมีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล่วงหน้าได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล และในกรณีร้ายแรงหรือวิกฤติ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยง ให้เลขาธิการโดยความเห็นชอบของให้ กมม.มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกแก่ กมม.โดยเร็ว

**แจงไม่ได้ให้ จนท.ทำโดยพลการ

ด้านนางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธาน กมธ.วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ สนช. แถลงว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ของกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคม และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.แล้ว ทางคณะ กมธ. ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาแสดงความคิดเห็น และนำมาปรับแก้ไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว สำหรับ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯยืนยันว่า ไม่มีการรวบอำนาจรัฐ เพราะกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมภัยคุกคามไม่ให้มีผลกระทบต่อประเทศ อีกทั้งมีการกำหนดประเภทของภัยคุกคามไว้ชัดเจน ระบบการบริหารระงับยับยั้ง ต้องอาศัยการบริหารงานโดยคณะกรรมการนโยบายที่ดูแลสถานการณ์ เพื่อให้เกิดระบบงานที่เป็นมาตรฐาน

ส่วนข้อกล่าวหาว่า เป็นการใช้อำนาจรัฐเกินไปหรือไม่ ขอชี้แจงว่า ไม่มีส่วนใดของกฎหมมายจะไปใช้อำนาจรัฐในการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเน้นการป้องกันกลุ่มคนที่มีเจตนาไม่ดีเท่านั้น นอกจากนี้ การดำเนินการต้องมีการกำหนดตัวเจ้าหน้าที่ ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อแก้ไขปัญหาระดับต่างๆ โดยการตรวจค้น จะต้องมีคำสั่งศาลเข้าไปก่อน

พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวเสริมว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯไม่ได้มอบหมายให้ภาครัฐไปดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากขอให้ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนประเด็นที่เป็นห่วงว่า เจ้าหน้าที่จะเข้าไปยึดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ขอยืนยันว่า จะกระทำโดยพลการไม่ได้ โดยต้องอำนาจจากศาลก่อน เพราะที่มีการกล่าวหากันก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลเก่า แต่ สนช.ได้ปรับแก้ไขกฎหมาย แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น