xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อ ทอท.ล้มแบบ “ดวงฤทธิ์” แต่ไม่สน “แผนแม่บท - สภาพัฒน์” งานนี้เดิมพัน “เทอร์มินอล2” สุดตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ภายใต้การนำของ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ตัดสินใจ “ยกเลิก” มติบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2561 ที่อนุมัติให้ ทอท. จ้าง กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก (บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด เป็นแกนนำ) เป็นผู้รับจ้างงานสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ชนะประมูลในวงเงิน 329.6 ล้านบาท

บอร์ด ทอท.มีมติเมื่อวันที่ 20 ก.พ.2562 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เดิม ซึ่งเคยประกวดแบบไว้ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของรูปแบบการใช้งาน จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนการออกแบบใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น สายการบิน

ก็เป็นอันว่า “เทอร์มินอลศาลเจ้า” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็มีอันต้องเก็บกระเป๋าก้าวลงจากบันไดเป็นที่เรียบร้อย และหมดสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใดๆ จาก ทอท.เนื่องจากตามเงื่อนไขทีโออาร์ได้มีการสงวนสิทธิกรณีที่มีการยกเลิกประกวดราคาได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของทอท. เอาไว้

อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกันนั้นเอง บอร์ด ทอท.ที่มี “ประสงค์ พูนธเนศ” เป็นประธาน ก็มีมติเดินหน้า “เทอร์มินอล 2” วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาทบนตำแหน่งใหม่เหมือนเดิม โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านที่ดังมาจากทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นจากองค์กรวิชาชีพ 12 องค์กร ซึ่งมีส่วนร่วมในการทำแผนแม่บทเดิม อาทิ สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกสยามฯ, สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ฯลฯ

รวมถึง“มติของคณะกรรมการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)” .ที่ลงนามโดย นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ให้สร้างเทอร์มินอล 2 ตามแผนแม่บท ซึ่งจะอยู่ทางทิศใต้ของเทอร์มินอล 1 บนฝั่งถนนบางนา-ตราด ไม่ใช่บนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บท ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินอล1 บนฝั่งมอเตอร์เวย์

บอร์ด ทอท.เห็นชอบตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอให้เดินหน้า ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสศช.) ขออนุมัติต่อไป

“จากที่ได้หารือกับคณะกรรมการที่ปรึกษาสนามบิน (Airport Consultants Council : ACC) ได้สนับสนุนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความแออัด และรองรับการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้สอบถามความคิดเห็นสายการบินที่เป็นสมาชิกแล้ว เห็นว่าควรมีการก่อสร้างเช่นกัน รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (AOC) เนื่องจาก AOC ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าสายการบินในเรื่องความแออัด หากไม่มีการดำเนินการอาจทำให้บริษัทสายการบินต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการบิน และยังเห็นว่าการขยายส่วนต่อข้างอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความแออัดได้

“ขณะที่การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับ และสายการบินต้องเสียต้นทุนอย่างมหาศาล สายการบินจึงต้องการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศได้ภายในอาคารเดียวกัน และเห็นด้วยกับการนำหลุมจอดของ Concourse A และ B และ C มาควบรวมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2”

นั่นคือเหตุผลที่บอร์ด ทอท.เห็นชอบ

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ก่อนที่ บอร์ด ทอท.จะมีมติเห็นชอบที่จะ “ลุยถั่ว” สร้างเทอร์มินอล 2 ตามตำแหน่งใหม่นั้น สังคมมองว่า ทอท.น่าจะถอดใจในการผลักดันแนวคิดของตัวเองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลัง สศช.ให้ความเห็น รวมถึงก่อนหน้านี้ทั้ง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีและ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้ความเห็นตรงกัน

เริ่มจาก “เฮียกวง” ที่กล่าวหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายที่กระทรวงนี้ว่า อยากให้ ทอท กลับไปยึดตามแผนเดิม ปี 2546 ตามความเห็นของสภาพัฒน์

ขณะที่ “อาคม” ก็มีความเห็นว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมรับฟังคำแนะนำ และจะมีการหารือในรายละเอียดกับ ทอท.เพื่อปรับแผนให้เหมาะสม เพราะหากทำเอง ทบทวนเอง รับรองเอง แล้วไม่เป็นไปตามแผนจะเกิดปัญหา

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า “บิ๊กบอส ทอท.” ที่ชื่อ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” จะมีมุมของตัวเองอยู่พอสมควร พร้อมชี้แจงว่า โดยยืนยันว่า ทอท.ดำเนินโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บท ส่วนเทอร์มินอล 2 เป็นการเพิ่มเติมจากแผนเพื่อเร่งขยายขีดความสามารถ ขณะที่เทอร์มินอลด้านทิศใต้ยังคงมีเหมือนเดิม

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ ขณะที่ ทอท.อ้างแผนแม่บทฉบับปรับปรุงเอง เป็นเหตุผลในการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคน ในปี 2578 แต่ สศช.กลับแย้งว่า ในแผนแม่บทฉบับ ทอท.เอง ประเมินจำนวนผู้โดยสารในปี 2578 ไว้แค่ 120.6 ล้านคนเท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมายการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในแผนแม่บทของ ทอท.

อย่างไรก็ดี ก่อนที่บอร์ด ทอท.จะมีมติเมื่อวันที่ 20 ก.พ. “นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ก็ออกมาแสดงจุดยืนเห็นด้วยกับ “บิ๊กบอส-นิตินัย” พร้อมให้เหตุผลว่า ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีความหนาแน่นอย่างมาก โดยมีผู้โดยสารกว่า 64 ล้านคน/ปี ขณะที่ออกแบบรองรับไว้ 45 ล้านคน/ปี ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในตำแหน่งด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้วางแผนจะก่อสร้างเพื่อรองรับเฉพาะผู้โดยสารภายในประเทศ หรือ Domestic Terminal แต่ปัจจุบันปรับเป็นรองรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยขีดความสามารถรองรับประมาณ 25-30 ล้านคน/ปี ตามที่ ICAO แนะนำ หรือประมาณ 30% ของผู้โดยสารทั้งหมด ส่วนที่เหลือใช้อาคารผู้โดยสารหลังเดิมเป็นหลัก

“เวลานี้ผู้ให้บริการภายในสนามบินสายการบินต่างๆ ต้องการเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารทั้งระหว่างประเทศ และในประเทศโดยเร็ว ล่าสุดผู้โดยสารมีปริมาณสูงสุด 217,000 คน/วัน ช่วงแออัดที่สุดเคยมีผู้โดยสาร 4,500 คน/ชม. ตอนนี้เพิ่มเป็น 5,400 คน/ชม.แล้ว หากการเพิ่มพื้นที่ยิ่งช้าจะยิ่งสูญเสียโอกาสธุรกิจการบินและท่องเที่ยว สูญเสียรายได้ที่จะขับเคลื่อนประเทศ กรณีให้สร้างอาคารผู้โดยสารด้านใต้รัฐต้องลงทุนอีกมาก และใช้เวลาในการทำระบบขนส่งเชื่อมโยง ส่วนตัวในฐานะผู้บริหารสนามบินเห็นว่าจำเป็นต้องมีอาคารหลังที่ 2 ให้เร็วที่สุด”

ทั้งนี้ ผอ.ทสภ.ยืนยันว่าการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Expansion Building) มีประโยชน์ต่อสนามบินสุวรรณภูมิในเวลานี้มากกว่าการขยายด้านตะวันออก (East Expansion Building) เพราะตอนนี้มีผู้โดยสารระหว่างประเทศมากกว่า 80% หากขยายด้านตะวันออกเท่ากับเพิ่มพื้นที่ผู้โดยสารในประเทศ และรองรับเครื่องบินขนาดเล็กที่บินภายในประเทศ

ขณะที่พื้นที่อาคารเดิมที่เคยรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ หากจะใช้รับผู้โดยสารระหว่างประเทศจะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้าง และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

“หากขยายปีกด้านตะวันออก พื้นที่ผู้โดยสารภายในประเทศของอาคารเดิมจะมีปัญหาระบบสายพานกระเป๋าขาเข้าที่รับเครื่องบินใหญ่เพียง 1 ตัวจะมีปัญหากับพื้นที่คัดแยกสัมภาระ (Sorting Area) เพราะเดิมออกแบบเป็นอาคารปีกในประเทศและมองภาพรวมผู้โดยสารที่ 60 ล้านคน/ปี โดยมีผู้โดยสาร transfer รอเปลี่ยนเครื่องประมาณ 20% หรือ 15 ล้านคน ซึ่งตรงนี้อาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารแซตเทิลไลต์) จะมีประโยชน์ เพราะคิดว่าจะเป็นฮับ แต่ความเป็นจริงประเทศไทยไม่มีผู้โดยสาร transfer ทั้งลำ มีแต่น้อย เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่จะมาลงที่ไทยไม่ค่อยมีต่อเครื่อง ดังนั้นแผนแม่บทเดิมปี 2546 จะมีแต่สายพานขาออกเท่านั้นไม่มีสายพานขาเข้า ดังนั้น ผู้โดยสาร 80% ที่เข้ามาต้องใช้รถ Dolly ขนกระเป๋ามาจากเครื่อง ที่ผู้โดยสารบ่นรอกระเป๋านาน ตรงนี้จะยิ่งช้าไปอีก วันนั้นกับวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีสายพานใหม่ ซึ่งขอทำพร้อมกับการขยายอาคารด้านตะวันตก”

ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิยืนยันด้วยว่า การขยายอาคารด้านตะวันตกในขณะนี้จะแก้ปัญหาได้ดีกว่า มีโอกาสที่จะให้เครื่องใหญ่ เช่น A380 สามารถจอดเทียบได้พร้อมกัน 10 ลำ นอกจากนี้ การก่อสร้างด้านตะวันตกไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการ พร้อมตอบท้ายด้วยประโยคเด็ดว่า “สภาพัฒน์จะรู้เรื่องการบินดีกว่า ทอท.ที่เป็นผู้บริหารสนามบินหรือไม่”

ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อบอร์ด ทอท.มีมติเดินหน้า “เทอร์มินอลป่าแหว่ง” แล้ว นายอาคม ในฐานะรมว.กระทรวงคมนาคม นายสมคิดในฐานะรองนายกรัฐมนตรี สศช.ที่ตกอยู่ในสภาพเป็น “เสือกระดาษ” ที่ไม่มีใครฟัง รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะว่าอย่างไร เพราะงานนี้ ทอท.ประกาศตัวเป็น “รัฐอิสระ” เรียบร้อยแล้ว.

บอกแล้วไง...สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร


กำลังโหลดความคิดเห็น