xs
xsm
sm
md
lg

หาสาเหตุให้พบและขจัดให้หมด : ทางแก้ความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้เขียนตื่นแต่เช้าดูข่าวทางทีวีช่อง 33 ได้ฟังหัวหน้าพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองหลายพรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น

หลายพรรคที่มาในวันนั้นได้พูดถึงแนวทางดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ถ้ามีโอกาสได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ โดยพูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นในอดีต และยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันว่าจะต้องข้ามไปให้ได้ ประเทศไทยจึงจะก้าวไปข้างหน้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านปกครองในระบอบประชาธิปไตย

แต่เท่าที่ได้ฟังบางส่วนของการพูดของแต่ละคน ดูเหมือนว่า ทุกคนจะพูดถึงความขัดแย้งซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้น โดยไม่ลงลึกถึงสาเหตุแห่งความขัดแย้ง และผู้ที่เป็นตัวการให้เกิดเหตุอันนั้น จึงทำให้มองไม่เห็นว่า ถ้าพรรคการเมืองเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล จะแก้ปัญหาความขัดแย้งให้หมดไปได้หรือไม่ และด้วยวิธีใด

ในความเป็นจริง ความขัดแย้งทางการเมืองจนกลายเป็นการเลือกข้าง และแบ่งขั้วทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน เพิ่งจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 10 กว่าปีมานี้เอง ก่อนหน้านี้ เช่นในปี พ.ศ. 2516 และในปี พ.ศ. 2535 จะมีเพียงประชาชนขัดแย้งกับรัฐบาล ไม่มีการแบ่งขั้วในหมู่ประชาชนด้วยกัน

ความขัดแย้งจนกลายเป็นความแตกแยกในหมู่ประชาชนเกิดขึ้นจากอะไร และถ้าจะแก้ปัญหานี้จะดำเนินการอย่างไร?

ถ้าย้อนไปดูความเป็นมาของความขัดแย้งทางการเมืองจนถึงขั้นทำให้คนในสังคมแตกแยกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจนในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันก็จะพบว่าได้เกิดขึ้น 2 ครั้ง และแต่ละครั้งมีสาเหตุอันเป็นแรงจูงใจดังต่อไปนี้

ครั้งที่ 1 ได้เกิดขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2548-2549 ในยุคของรัฐบาลภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อรัฐบาลในยุคนั้นตกเป็นจำเลยสังคมในข้อหาใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง และพวกพ้อง มีพฤติกรรมจาบจ้วงเบื้องสูง รวมไปถึงการแทรกแซงการทำงานของระบอบราชการ จนทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งในนาม พธม.ลุกขึ้นต่อต้าน และในขณะเดียวกันได้มีประชาชนอีกกลุ่มซึ่งเป็นมวลชนจัดตั้งในนาม นปช.ได้ออกมาต่อต้านกลุ่มแรกเพื่อปกป้องรัฐบาล จึงกลายเป็นความขัดแย้งและมีการแบ่งขั้วทางการเมืองเกิดขึ้นถึงขั้นจะมีการเผชิญหน้ากัน ในที่สุดกองทัพได้ยุติปัญหา โดยการโค่นล้มรัฐบาลและดำเนินคดีกับอดีตนายกฯ ถึงขั้นพิพากษาจำคุก แต่ก็ได้หลบหนีออกนอกประเทศไป

ครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 ในสมัยของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อรัฐบาลได้พยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมารวม ไม่มีการแยกประเภทของการกระทำผิดทางอาญาออกจากการกระทำผิดทางการเมือง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านคัดค้าน แต่แพ้โหวตในสภาฯ ในรูปแบบของพวกมากลากไป ค้านความรู้สึกของประชาชนทั่วๆ ไป เป็นเหตุให้สมาชิกของ นปช.ส่วนหนึ่งออกมาคัดค้านนอกสภาฯ และมีประชาชนในนาม กปปส.เข้าร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกันกับครั้งแรกได้มีกลุ่มปกป้องรัฐบาลได้ออกมาต่อต้าน กปปส.จึงกลายเป็นความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่ในที่สุดกองทัพก็ได้เข้ามายุติความขัดแย้ง โดยการทำรัฐประหาร และอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเว้น ทำให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และถูกศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี แต่ก็ได้หลบหนีออกนอกประเทศ

จากการเกิดความขัดแย้งทั้งสองครั้ง จะเห็นได้ว่ามีสาเหตุมาจากการทุจริต คอร์รัปชัน และพฤติกรรมไม่เหมาะสมของรัฐบาล

ดังนั้น การจะแก้ไขก็จะต้องแก้ที่เหตุ โดยใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการกับผู้กระทำผิด และพร้อมกันนี้จะต้องมีการลงโทษทางการเมือง โดยการไม่เลือกผู้ที่มีพฤติกรรมส่งเสริมให้เกิดการทุจริตเข้ามาเป็นรัฐบาลในทุกๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้ง

สุดท้ายขอจบด้วยกลอนสองบทนี้

ความขัดแย้ง แข่งดี ที่ได้เห็น
ชิงความเด่น ความดัง ไม่กังขา
เรามาเอง หรือใครเขา หลอกเรามา
รับจ้างด่า รับจ้างทำ กิจอำพราง
ครั้นต่อมา กิจการ งานเสร็จสิ้น
กลับคืนถิ่น เห็นไร่นา ตาสว่าง
มองดูตัว เห็นตน เห็นหนทาง
จิตกระจ่าง จึงรู้ว่า ข้าโง่เอง

กำลังโหลดความคิดเห็น