xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สนช.ผ่าน ร่าง กม.ปฐมวัย ทารุณกรรม ฟันน้ำนม ติวเข้มสอบอนุบาล-ป.1กันต่อไป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยืนหยัดในความล้าหลังด้านการพัฒนาปฐมวัยและการศึกษาของประเทศอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ด้วยว่าในที่สุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ยกมือผ่านร่างพ.ร.บ.การพัฒนาปฐมวัย ในวาระ 3 โดยตัดทิ้งการ “ห้ามสอบเข้าอนุบาล และ ป.1” นั่นหมายถึงการทารุณกรรมวัยฟันน้ำนม หิ้วลูกรักติวเข้มสอบเข้าโรงเรียนดังยังจะคงอยู่คู่เมืองไทยไปอีกนานแสนนาน

การพยายามผลักดันให้มีการยกเลิกการสอบเข้าอนุบาลและป.1 ที่มีมาตั้งแต่ยกร่างกฎหมายจนผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.)ก่อนส่งให้กฤษฎีกา จึงมีค่าเป็นศูนย์ คงต้องรอดูว่าคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะเป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ในการรับเด็กเข้าเรียนในชั้นอนุบาลและป.1 จะว่าอย่างไรต่อ

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ในฐานะรองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก เปิดเผยว่า สนช. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ในวาระ 2 และ 3 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 160 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง จากนี้ก็รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับใช้

สำหรับสาระสำคัญของร่างที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. นั้น รศ.ดร.ดารณี สรุปรวมความว่า มีการปรับแก้ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1)นิยามของเด็กปฐมวัย เดิมกำหนดให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยครอบคลุมตั้งแต่ช่วงก่อนคลอด หรือทารกในครรภ์มารดา จนถึงช่วงอายุ 6-8 ขวบ หรือช่วงวัยรอยต่อระหว่างวัยอนุบาลกับวัยประถมศึกษาปีที่ 1-2 แก้ไขเป็นให้มีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครอบคลุมตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุต่ำกว่า 6 ปี โดยให้หมายความถึงเด็กที่ต้องได้รับการพัฒนาก่อนประถมศึกษา เช่น เด็กที่อายุเกิน 6 ขวบขึ้นไป แต่ไม่ได้เข้าเรียนระดับอนุบาล หากมีความประสงค์เข้าเรียนก็ต้องได้รับการดูแล

ขณะเดียวกัน ยังตัดเรื่องระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่ช่วงทารกในครรภ์มารดาออก เพราะเด็กที่อยู่ในครรภ์ยังไม่มีสถานะเป็นบุคคล จึงยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ได้ไปกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ให้ดูแลทางด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์แทน

2)ปรับแก้ในส่วนที่กำหนดไม่ให้มีการสอบเข้าเรียนอนุบาลและชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท เรื่องนี้ไม่ผ่านตั้งแต่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาบทลงโทษที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาว่า ไม่สามารถปรับได้ เพราะการจัดสอบคัดเลือกเข้า ป.1ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงที่จะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตบุคคลอื่น พร้อมทั้งให้ความเห็นด้วยว่า ไม่ควรมีโทษปรับ

นอกจากนี้ ยังไม่สามารถนิยามคำว่าการสอบได้ชัดเจน เช่น การให้เด็กผูกเชือกรองเท้า หมายถึงการสอบเข้าอนุบาลหรือป.1 หรือไม่ จึงอาจส่งผลเรื่องการตีความในอนาคต ดังนั้น สนช. จึงเห็นชอบให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการรับเด็กเข้าเรียนในชั้นอนุบาลและป.1 ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

3) สนช. ยังปรับแก้การกำหนดสถานะสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเดิมกำหนดให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการ แต่การกำหนดดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นการขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ไม่ให้มีการตั้งหน่วยงานใหม่

สนช. จึงเห็นชอบให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ สกศ. ก็จะต้องไปจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อขับเคลื่อนงานต่อไป ทั้งนี้ สกศ. เองก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รอเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ต้องรอดูว่า สุดท้ายแล้ว สกศ. จะยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือปรับไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

สรุปก็คือ หัวใจสำคัญที่มีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกการสอบเข้าอนุบาลและป.1 สุดท้ายไปไม่ถึงฝั่งฝัน

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ได้แสดงความเสียใจมาก่อนหน้าตั้งแต่คณะกรรมการกฤษฎีกา แก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างพ.ร.บ.เด็กปฐมวัย ฉบับที่ผ่าน ครม.แล้วให้อ่อนแอลงในจุดที่อ่อนไหว 2-3 เรื่อง และรอความหวังจากสนช.ว่าจะพลิกฟื้นคืนชีพให้ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมายังจุดเดิม แต่ก็พบกับความผิดหวังในที่สุด โดยจุดที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขและผ่านการพิจารณาของ สนช. ก็คือ

1.นิยามของเด็กปฐมวัย ในร่างเดิมที่ตรงกับมาตรฐานสากล แม้แต่ UNESCO (จากตั้งครรภ์ถึง 8 ขวบ แบ่งเป็น 4 ช่วง ช่วง ครรภ์มารดา, ช่วง0-3ขวบ ,ช่วง 3-6 ขวบ และช่วง 6-8ขวบ) ถูกแปลงกลับมาเหมือนเดิม คือ 0-6 ขวบ เพียงเพราะ กังวลว่านิยามจะไม่เหมือนกัน ผลเสียของข้อนี้คือ การบูรณาการข้ามช่วงวัย รวมทั้งรอยต่อช่วง 6-8 ขวบ ที่มุ่งเน้นสมรรถนะ ก็จะอ่อนแอลง

2. เด็กปฐมวัย มีความพิเศษกว่าวัยอื่น ที่กระบวนการพัฒนาเด็กไม่ใช่เป็นแค่การศึกษาเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ที่จำเป็นต้องบูรณาการทั้ง care education development and child protection นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ร่างเดิมที่ผ่านครม. มาให้ความสำคัญกับการตั้ง สน.ปฐมวัยแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระ สามารถบูรณาการเชื่อมโยงทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง กรม กอง ตั้งแต่ท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ รวมทั้งการพัฒนางานทั้งวิชาการ ขับเคลื่อน และกลไกติดตาม แต่กลับถูกแก้ให้สำนักงานขึ้นกับสภาการศึกษาเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคในการบูรณาการอยู่ก่อน ถึงต้องปฏิรูปการศึกษาในเด็กเล็กแต่กลับไปแก้ให้เหมือนเดิม

และ3.การยกเลิกการสอบคัดเลือกในเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะสอบเข้าป.1 ที่ทั่วโลกก็เข้าใจตรงกัน ว่า high stake test ระบบแพ้คัดออกในเด็กปฐมวัยเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและเลือกปฏิบัติ อีกทั้งด้วยจิตวิทยาพัฒนาการเด็กเล็กๆ กำลังพัฒนาย่อมทนแรงตึงเครียดมากบนความคาดหวังกดดันไม่ได้ ผิดหลักพัฒนาการ จนผู้เชี่ยวชาญนักพัฒนาการนานาชาติบางท่านเรียกเป็น ระบบทารุณกรรมเด็กเล็กก็ถูกแก้ตัดออกทั้งมาตราและแก้ใหม่ให้อ่อนแอลง .... กล่าวง่ายๆ การสอบแข่งขัน คาดได้ว่าคงจะมีต่อไป

ดูไปจึงคล้ายป่วยการที่กุมารแพทย์ พยายามส่งเสียงย้ำเตือนไปยังผู้มีอำนาจว่า การสอบเข้าอนุบาลและป.1 ซึ่งเน้นย้ำถึงระบบแพ้คัดออกคือการทารุณกรรมเด็ก จะมีคนชนะทุกคนไม่ได้ และการจะทำให้แพ้ได้ ข้อสอบจึงต้องซับซ้อนยิ่งขึ้น คนที่ชนะได้เข้าโรงเรียนที่ต้องการ ส่วนคนที่แพ้ ก็แพ้ซ้ำซากก็กลายเป็นภาวะซึมเศร้า และอนาคตเสี่ยงเกิดการฆ่าตัวตาย

“ครูหวาน” - ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย อนุกรรมการเด็กเล็กในกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทยฯ ผู้ที่ผลักดันให้ยกเลิกการสอบเข้า ป.1 มากว่า 30 ปี ระบุว่าข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าปฐมวัยเป็นวัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ เพราะเป็นวัยที่พัฒนาการด้านสมองสูงที่สุด ทั้งเรื่องการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าหรือที่เรียกว่า Executive Functions (EF) และการพัฒนาทุกด้านโดยรวม ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญเพราะเป็นรากฐานของชีวิตมนุษย์ แต่ประเทศไทยกลับตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน

ประเทศไทย เผชิญสถานการณ์ที่พัฒนาการของเด็กปฐมวัยล่าช้า ไม่สมวัย ถึง 30% เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันมานานกว่า 15 ปีแล้ว ส่วนทักษะของสมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่คิด ตัดสินใจ เด็กไทยก็พัฒนาล่าช้าไปถึง 29% ยังไม่ได้รวมด้านอื่นอีก เช่น โภชนาการของเด็ก เช่น เรื่องความสูง ความอ้วน ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ การพัฒนาทางด้านภาษาของเราก็ล่าช้า ถ้ามองทั้งหมดแล้วมันถึงจุดที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

แต่ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาปฐมวัย ที่ผ่าน สนช. รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับใช้ ถือเป็นความโชคร้ายของฟันน้ำนมที่ต้องถูกทารุณกรรมต่อไป ด้วยความเห็นดีเห็นงาม และในนามของความรักของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกได้เข้าเรียนในโรงเรียนดีเด่นดัง ธุรกิจติวเข้มเติบโตเบ่งบาน งานนี้แป๊ะเจี๊ยะ ผู้บริหารสถานศึกษากระเป๋าตุง รวยๆ กันถ้วนหน้าเหมือนเดิม

ตกยุค ล้าหลังไดโนเสาร์เต่าล้านปีกันต่อไป ทั้งพัฒนาการของเด็กเล็ก และการถดถอยต่ำเตี้ยเรี่ยดินของระบบการศึกษาไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น