xs
xsm
sm
md
lg

คุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


ที่ผ่านมามักจะมีเสียงโจมตีมาตลอดจากฝ่ายสนับสนุนทักษิณว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม และกล่าวหาว่าอีกฝ่ายทำอะไรก็ไม่ผิด

แต่ผลการตัดสินของศาลฎีกาก็ได้เป็นข้อยุติแล้วว่า แกนนำพันธมิตรฯ ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับทักษิณถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 8 เดือน แม้ส่วนตัวจะรู้สึกปวดร้าวในฐานะที่ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมต่อสู้ และยังมีคดีฉกรรจ์ติดตัวอยู่เพราะเห็นว่าระบอบทักษิณนั้นใช้อำนาจโดยมิชอบ และคนเหล่านี้ออกมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง แต่ก็คงต้องน้อมรับคำตัดสิน

และขอให้กำลังใจและขอบคุณในความเสียสละของแกนนำทุกคน

จากนี้จะได้หมดข้ออ้างจากอีกฝ่ายเสียทีว่า อีกฝั่งนั้นทำอะไรก็ไม่ผิด และหวังว่านับจากนี้การอ้างความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายเพื่อปลุกปั่นมวลชนจะถูกปิดปากให้เงียบสนิทลง

แต่ผมคิดว่ามีประเด็นทางกฎหมายอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

ภายหลังจากพรรคไทยรักษาชาติมีโอกาสสูงที่จะถูกยุบพรรคตามที่ กกต.มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จนอาจนำไปสู่การยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารตลอดชีวิต และอาจมีคดีอาญาตามมา

ดูเหมือนว่า สถานการณ์ของลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ที่ได้รับการเสนอชื่อในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐจะมีความหวังเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะเดิมก็มีโอกาสสูงมากอยู่แล้วที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีแน่ๆ เพราะต้องการเสียงสนับสนุนอีกเพียง 126 เสียง เพื่อรวมกับ ส.ว. 250 คนมาโหวตหนุนจนมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา

ในกรณีของพรรคไทยรักษาชาตินั้น ก็ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร แต่ผมคิดว่าน่าจะใช้เวลาไม่นานและน่าจะได้ข้อยุติก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม

แต่ประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจอีกกรณีคือ กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคไทยรักษาชาติ เอาคืนโดยไปยื่นต่อ กกต.บ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น

แน่นอนว่านายเรืองไกรนั้นมีจุดยืนชัดเจนที่จะยืนข้างและรับใช้ระบอบทักษิณในทางการเมืองและอยู่ในพรรคที่เรารู้กันอยู่ว่า ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อรองรับกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้พรรคใหญ่ได้บัญชีรายชื่อน้อย บุคลากรของพรรคนี้ส่วนใหญ่และคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อจึงมาจากพรรคเพื่อไทย เพื่อหวังผลให้ได้เก้าอี้บัญชีรายชื่อ ส่วนจะมีความผิดหรือไม่ตามกฎหมายว่าฮั้วกันหรือไม่ ก็ต้องไปหาช่องและหลักฐานมาจัดการ

แต่แม้เราจะต้องต่อสู้ทางการเมืองกับระบอบทักษิณ และอยู่ตรงข้ามกับนายเรืองไกร แต่ในแง่มุมทางกฎหมายคำร้องของนายเรืองไกรเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

ที่ผมสนใจคือ ประเด็นการเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งนายเรืองไกรชี้ว่ามีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) (12) และ (15) ซึ่งโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น

มาตรา 98 (12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํานอกจากข้าราชการการเมือง และ (15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ผมคิดว่า โดยตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของพล.อ.ประยุทธ์นั้น ไม่น่าจะขาดคุณสมบัติเพราะถือเป็น “ข้าราชการการเมือง” ซึ่งเป็นข้อยกเว้นมีคุณสมบัติไม่ขัดตามมาตรา 98 (12)

แต่คำถามว่าแล้วตำแหน่ง “หัวหน้า คสช.” เป็น “ข้าราชการการเมือง” หรือเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐก็จะเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 98 (15)

ดังนั้นที่ต้องหาข้อยุติทางกฎหมายคือ ตำแหน่งหัวหน้า คสช.มีสถานะเป็นอะไร

มีกฎหมายบัญญัติไว้นะครับว่า ข้าราชการการเมืองหมายถึงตำแหน่งอะไรบ้าง ลองไปดูพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ข้าราชการการเมืองได้แก่บุคคลซึ่งรับราชการในตำแหน่งข้าราชการการเมือง ดังต่อไปนี้

(๑) นายกรัฐมนตรี (๒) รองนายกรัฐมนตรี (๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (๔) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (๕) รัฐมนตรีว่าการทบวง (๖) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (๗) รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง (๘) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (๙) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (๑๐) ที่ปรึกษารัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (๑๑) เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (๑๒) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (๑๓) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (๑๔) รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (๑๕) เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (๑๖) ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (๑๗) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (๑๘) ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (๑๙) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง (๒๐) ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง

จากกฎหมายนี้ชัดเจนว่า โดยลำพังตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมาย เพราะถือเป็นข้าราชการการเมืองชัดเจน

แต่ประเด็นคือ ตำแหน่งหัวหน้า คสช.ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในกฎหมายข้าราชการการเมือง

ถ้าเราไปดู ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 22/2557 เรื่อง การจัดส่วนงาน การกําหนดอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะเห็นว่า คสช.มีหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับการทำงานของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยราชการต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง

แน่นอนว่า ตามสถานะประกาศ คสช.ก็คือ กฎหมาย

ผมจึงสนใจอย่างยิ่งว่า กกต.จะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ถ้าจะชี้ว่า คสช.เป็นข้าราชการการเมือง เพื่อวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.ไม่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติจะอ้างอิงกฎหมายไหน มาตราใด แล้วถ้าบอกว่า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อจะชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติก็น่าคิดว่าจะเข้าหลักกฎหมายข้อไหน แล้วหากเรื่องนี้ถูกส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 นิยามความหมายคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือในรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และบุคคลหรือคณะบุคคล บรรดาซึ่งมีกฎหมายกําหนดให้ใช้อํานาจหรือได้รับมอบให้ใช้อํานาจทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐด้วย แต่ไม่รวมถึงผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.

แล้วสถานะของ คสช.จะอยู่ตรงไหน

ผมไม่ใช่นักกฎหมายครับ แต่คิดว่า กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ถูกร้องนี้มีประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจอย่างยิ่ง รอดูว่า ผู้มีอำนาจทางกฎหมายจะชี้ออกมาอย่างไร รอฟังเรื่องนี้ด้วยใจระทึกเลยทีเดียว

แล้วมีคำถามต่อว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติจะไปเป็นนายกรัฐมนตรีในโควตาคนนอกได้ไหม

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น