xs
xsm
sm
md
lg

บัตรเลือกตั้งใบเดียว อาจได้ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งได้เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคด้วยอย่างน้อยจำนวน 3 ชื่อ แต่มีเงื่อนไขว่า พรรคที่จะส่งนายกฯ ในรายชื่อของพรรคเข้าโหวตนั้นจะต้องมีเสียงส.ส.อย่างน้อย 25 คนขึ้นไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าดูจากสถิติเก่าๆ พรรคที่จะได้เสียงถึง 25 เสียงน่าจะมีไม่กี่พรรค

เพราะเมื่อดูการเลือกตั้งในปี 2554 มีเพียง 3 พรรค ที่ ส.ส.เกิน 25 คน คือ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ส่วนการเลือกตั้งในปี 2550 มีเพียง 3 พรรคเช่นเดียวกันคือ พรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทย ดังนั้น แม้ทุกพรรคอาจจะเสนอชื่อคนที่ตัวเองสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีในการโหวตของ ส.ส.หลังเปิดสภาโดยอัตโนมัติ

อย่างพรรคอนาคตใหม่ที่น่าจะเสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ แน่ๆ และมีมาตรการและนโยบายหลายอย่างที่ประกาศแล้วว่าจะเข้ามารื้อโครงสร้างเก่าของสังคมไทย จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้จะต้องมีเสียง ส.ส.ให้ได้ถึง 25 คนเสียงก่อน ซึ่งไม่ว่าจะได้ ส.ส.เขตหรือไม่ การได้ส.ส.25 คนคาดการณ์กันว่า จะต้องมีคะแนนจากการเลือกตั้งทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 2 ล้านเสียง หรือพรรคของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช ที่เสนอตัวเองเป็นนายกฯ จะมีเสียงที่เพียงพอไหม

ผมเคยเอาสถิติการเลือกตั้งปี 2554 มาให้ดูหลายครั้งแล้วว่า ครั้งนั้นมีเพียง 3 พรรคเท่านั้นที่ได้คะแนนเกินล้าน คือ เพื่อไทยได้ 15.7 ล้าน ปชป.ได้ 11.4 ล้าน และภูมิใจไทย พรรคอันดับ 3 ได้เพียง 1.3 ล้านเสียง

แต่สิ่งที่อาจคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นได้นอกเหนือจากสถิติเก่าคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ต่างกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีบัตรเลือกตั้ง2ใบ ใบหนึ่งเลือกคนในเขตที่ชอบ อีกใบเลือกพรรคที่ชอบ แต่ครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะเลือกใคร

และผมคิดว่า ทุกพรรคจะต้องชูประเด็นหาเสียงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คือ การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีด้วย ดังนั้นอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเลือกพรรคที่ส่งรายชื่อคนนั้น ไม่ว่าผู้สมัครในเขตจะเป็นใคร ดังนั้นไม่แน่เหมือนกันว่า ถ้ากระแสของ “ธนาธร” มีก็อาจจะได้รับการเลือกตั้งในระดับที่คาดไม่ถึง เพราะถูกใจคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง

หรือคนที่อยากจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องเลือกพรรคที่เสนอชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐตรงนี้ก็จะส่งผลต่อพรรคที่ลงเลือกตั้ง แต่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนกันคือ พรรครวมพลังประชาชาติไทยของกำนันสุเทพ และพรรคประชาชนปฏิรูปของไพบูลย์ นิติตะวัน ถ้าไม่มีตัวในระดับเขตที่ดีพอ ถ้าเขาอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯเขาก็น่าจะเลือกพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรงหรือเปล่า

และถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นการเลือกตั้ง 2 ขั้วอย่างที่พูดกันคือ “ขั้วอำนาจปัจจุบัน” กับ “ขั้วของระบอบทักษิณ” และประชาชนเข้าใจตรงกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คือการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ถามว่า พรรคอื่นๆ ของทั้งสองขั้วยกเว้นพรรคพลังประชารัฐของขั้วอำนาจปัจจุบันและพรรคเพื่อไทยพรรคหลักของระบอบทักษิณ ถ้าต้องเลือกในเชิงยุทธศาสตร์แบบนี้คงจะไปเลือกพรรครองหรือพรรคที่ไม่มีโอกาสไหม

และคำถามที่บอกว่าต้องแตกพรรคเพื่อไปเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่างที่พยายามจะตีโจทย์การเลือกตั้งครั้งนี้จะเดินถูกทางไหม หรือสุดท้ายแต่ละพรรคจะต้องมุ่งไปที่พรรคหลักพรรคเดียว ซึ่งอาจเกิดผลกระทบที่ตามมากับพรรครอง

ในกรณีแบบนี้ฝั่งของระบอบทักษิณอาจจะไม่มีปัญหาในกรณีที่มวลชนของพรรคมุ่งเลือกพรรคเพื่อไทยแล้วทิ้งพรรคอื่น พรรคเขาถือเป็นพรรคเดียวกันอยู่แล้ว แต่กรณีของอีกฝั่งน่าจะมีปัญหากว่า สมมติว่า คนที่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์เทมาที่พรรคพลังประชารัฐที่เป็นผู้เสนอรายชื่อ พรรคอื่นก็อาจจะจมหายไปเลย

พรรคประชาธิปัตย์ที่แม้จะเสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นทางเลือกแน่ ก็น่าจะมีผลกระทบมาก แม้จะมีเสียงที่แน่นอนจากคนที่สนับสนุนพรรค แต่อย่าลืมว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ในฐานเสียงฝั่งนี้มักจะไม่มีตัวแบ่ง แต่แข่งกับพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่ขณะนี้ในฐานเสียงเดียวกันแบ่งออกเป็นหลายพรรค ถ้าคนที่ไม่ใช่คอของพรรคจริง เขาก็อาจจะเทไปเลือก พล.อ.ประยุทธ์เพราะกลัวแพ้อีกฝ่าย ก็อาจจะส่งผลถึงคะแนนเสียงของพรรคอย่างมีนัยสำคัญ

พรรคประชาธิปัตย์จากที่เคยได้ 11 ล้านกว่าเสียง อาจจะถูกทอนไปจำนวนมาก เพราะถ้าถามว่า พรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนจากไหน โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าก็น่าจะได้จากฐานเสียงที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าจะไปทอนจากฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย แม้ว่า อดีตส.ส.เพื่อไทยจะมาอยู่พรรคพลังประชารัฐหลายคนก็ตาม เพราะผมเชื่อว่า มวลชนของพรรคเพื่อไทยที่ลงคะแนนให้พรรคนั้นไม่น่าจะเปลี่ยนไปมากและน่าจะยึดติดกับระบอบทักษิณมากกว่าตัวบุคคล

ดังนั้น ถ้ากระแสการเลือกครั้งนี้ คือ “การเลือกนายกรัฐมนตรี” ผมคิดว่าจะเกิดผลเปลี่ยนแปลงต่อคะแนนเสียงที่สำคัญ แม้ว่าครั้งนี้แต่ละเขตแต่ละพรรคจะไม่ได้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศก็ตาม แต่ถ้าคนจำว่าเลือกพรรคไหนได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนก็จะไปเลือกพรรคนั้นเพียงแต่จำเบอร์ของพรรคไหนเขตของตัวเองให้ได้เท่านั้น

การเลือกตั้งแบบใบเดียวที่ต้องใช้ความเด็ดขาดในคูหาเลือกตั้งของคนลงคะแนนจะสะท้อนออกมาอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา

แต่จะขอยกตัวอย่างการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเรารู้ว่านี่เป็นเนวินบุรี ของนายเนวิน ชิดชอบ ที่วันนี้สลัดภาพเก่าในอดีตที่เป็นนักการเมืองยี้ ที่คนเคยเรียกว่า ยี่ห้อยร้อยยี่สิบ มาเป็นนักการเมืองที่มีวัสัยทัศน์ในการมุ่งพัฒนาจังหวัดในทุกด้าน จนเป็นไอดอลของคนจำนวนมาก

การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคภูมิใจไทยกวาดที่นั่ง ส.ส. 8 ที่นั่ง เหลือให้พรรคเพื่อไทยที่นั่งเดียวจากจำนวน9 ที่นั่ง แต่ทราบไหมครับว่า การเลือกตั้งครั้งนั้นของบุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนบัญชีรายชื่อทั้งจังหวัด 329,568 คะแนน พรรคภูมิใจไทยได้ 226,741 คะแนน ต่างกันเป็นแสนคะแนน

แต่การเลือกตั้งครั้งก่อน มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกคนกับพรรค รักเนวินลงคะแนนให้ ส.ส.เขต แต่รักทักษิณด้วยลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยชนะภูมิใจไทยในระบบบัญชีรายชื่อกว่าแสนคะแนน แต่ครั้งนี้มีบัตรใบเดียวรักทางไหนต้องลงให้ทางนั้นทางเดียว แบ่งปันความรักไม่ได้ น่าคิดว่าคนบุรีรัมย์จะตัดสินใจอย่างไร

ผมลองนึกภาพสะท้อนจากบุรีรัมย์ไปยังทั่วประเทศการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้นะครับ ถ้าเกิดปรากฎการณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแย่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับคนของพรรคเพื่อไทย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คนใดคนหนึ่ง การมี “บัตรใบเดียว” ที่ผู้ลงคะแนนต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ผลการเลือกตั้งออกมาอาจทำให้หลายพรรคจมหายไปเลยก็ได้

อภิสิทธิ์อาจได้คะแนนจากคนที่เป็นแฟนคลับของตัวเองจริงส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับธนาธรก็จะได้จากแฟนคลับของตัวเอง แต่คนส่วนใหญ่จะเทไปที่คนที่คิดว่าเขาต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างกองเชียร์2ขั้วการเมือง และที่คาดกันว่า จะมีพรรคขนาดกลางเกิดขึ้นมากจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะไม่เป็นความจริง แต่อาจจะมีพรรคจำนวนมากที่ได้ ส.ส.ต่ำสิบ

ดังนั้นคิดว่า พรรคที่จะต้องเตรียมใจให้มากคือ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะแม้จะมีแฟนที่เหนียวแน่นของพรรค ชนิดที่อภิสิทธิ์กล้าประกาศว่าถ้าไม่ได้ถึง 100 คนจะลาออก เพราะคงคิดง่ายๆ ว่าพรรคเคยได้เสียงถึง 1 1ล้านกว่าเสียง การคำนวนว่าจะได้ส.ส.100คนอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านเสียง ทำไมจะไม่ถึง แต่อย่าลืมว่า ครั้งที่ได้ 11 ล้านไม่มีพรรคพลังประชารัฐและไม่มี พล.อ.ประยุทธ์

ผมจึงเชื่อว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยอมอยู่ในรายชื่อ นายกรัฐมนตรีของพรรคจะมีผลในระดับสำคัญต่อการเลือกตั้งในกทม.

ธรรมชาติการเลือกตั้งของคนกทม.นั้น เวลาไม่รู้ว่าจะเลือกพรรคไหนดี เราจะพบว่า ผลประโยชน์จะตกกับพรรคประชาธิปัตย์คือ ไม่รู้จะเลือกใครก็เลือกพรรคประชาธิปัตย์ไปก่อน

แต่ถ้ามีกระแสของใครขึ้นมาสักคน หากไปดูประวัติศาสตร์คน กทม. จะเปลี่ยนใจไปเทให้พรรคนั้น จนพรรคประชาธิปัตย์เกือบจะตกเวที ถอยไปตั้งแต่ยุค สมัคร สุนทรเวช ฟีเวอร์ แยกมาตั้งพรรคประชากรไทย ก็กวาดที่นั่งเกือบหมด เหลือที่นั่งให้ปชป. ที่เดียวและกิจสังคม 2 ที่นั่ง

เมื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ฟีเวอร์ ก็เลือกพรรคพลังธรรม ชนิดที่อภิสิทธิ์รอดเข้าสภามาคนเดียว พอยุค ทักษิณ ชินวัตร สมัยแรก พรรคไทยรักไทย ก็กวาดเกือบหมด แต่โดยรวมในสถานการณ์ปกติ พรรคหลักของคน กทม. ก็ยังเป็นพรรค ปชป. ดังนั้น “พรรคพลังประชารัฐ” มั่นใจว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ยอมลงจะไม่ต่างกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะเกิดกระแส ฟีเวอร์ “ลุงตู่” และเชื่อว่าคน กทม.จะเทคะแนนให้พรรคชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย

อย่าลืมนะคีย์เวิร์ดสำคัญครั้งนี้คือ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” และ “เลือกนายกรัฐมนตรี” สุดท้าย 2 ขั้วการเมืองในบ้านเราจะต้องเลือกในเชิงยุทธศาสตร์คือลงคะแนนให้ 2 คนที่เป็นคู่แข่งขัน ระหว่างขั้วอำนาจปัจจุบันกับขั้วของระบอบทักษิณ

สถิติเก่าที่จากการเลือกครั้งที่ผ่านมาอาจไม่มีความหมายเลยก็ได้ และอาจมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมาก เพราะประชาชนไม่เคยเลือกตั้งแบบครั้งนี้มาก่อน

ดังนั้น แม้เชื่อกันว่า รัฐธรรมนูญครั้งนี้ตั้งใจจะออกแบบมาเพื่อให้บางฝ่ายได้ประโยชน์ แต่ถึงเวลาจริงๆ ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ไม่มีใครคาดถึงเลยก็ได้คอยดูกันว่าจริงไหม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น