xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"บอกปัด "พลังประชารัฐ" จบเห่ !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

**อาจดูหวือหวาหน่อย สำหรับหัวข้อ แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์รอบข้างและองค์ประกอบตามความเป็นจริงทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มต่อเนื่องไปจนถึงอนาคตอันใกล้ ก็ต้องสรุปในแนวทางแบบนั้นจริงๆ
เวลานี้หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง และถัดมาทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนดวันเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พร้อมกับกำหนดวันรับสมัครออกมาแล้ว คือ วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ ทำให้การสตาร์ทการเลือกตั้งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ รอเพียงแค่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนจะได้หมายเลขเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ถือว่าเวลานี้เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเต็มตัวแล้ว เพราะทุกพรรคกำลังเดินหน้าลงพื้นที่เปิดตัวผู้สมัคร เปิดเวทีปราศรัยหาเสียงกันแล้ว สร้างความคึกคักในทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากกลุ่มขั้วที่พอมองเห็นในเวลานี้ยังแบ่งออกเป็น "สองขั้ว" หลักอยู่เช่นเดิม นั่นคือ กลุ่มที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับอีกกลุ่มที่ไม่สนับสนุน โดยกลุ่มแรกแน่นอนว่า ต้องมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนหลัก พรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นต้น ขณะที่อีกกลุ่ม มีพรรคเพื่อไทยและพรรคแนวร่วมที่แตกตัวออกมาเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกกลุ่มที่ "ทับซ้อน" ไปทั้งสองกลุ่มแรก แม้ว่าที่ผ่านมาประกาศท่าที ที่ดูเหมือน "จะไม่เอาบิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หลายคนก็เชื่อว่าเป็นเพียงแค่เป็นยุทธวิธีในการหาเสียงเท่านั้น เพราะเป็นท่าทีในเชิงหลักการประชาธิปไตย และเงื่อนไขทางนโยบายของพรรคเท่านั้น ซึ่งมองอีกมุมหนึ่ง มันก็เหมือนกับการ "เปิดอ้า" เอาไว้ในวันหน้า
กลุ่มนี้ก็มี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนหลัก ที่ล่าสุดก็มีเสียงยืนยันออกมาแล้วว่า "ไม่มีทางร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ก็ตาม" แม้ว่าจะไม่เป็นทางการ แต่เมื่อพิจารณาจากธรรมชาติ และความจริงแล้วมันก็เป็นไปได้น้อยมากเลยที่สองพรรคนี้จะจับมือกันร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะตราบใดที่ ทักษิณ ชินวัตร ยังครอบงำ หรือยังมีอิทธิพลชี้นำพรรคเพื่อไทย และพรรคเครือข่ายอยู่แบบนี้
อีกพรรคหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ คือ พรรคภูมิใจไทย รวมไปถึง พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา กลุ่มหลังนี้ สามารถสวิงไปทางไหนก็ได้ที่เป็นรัฐบาล ซึ่งอาจรวมไปถึงพรรคภูมิใจไทยด้วย
**ลักษณะกลุ่มการเมืองจึงน่าจะออกมาแบบนี้ แต่ที่ยืนประจันหน้ากันก็คือ กลุ่มที่ "เอาบิ๊กตู่" กับ "ไม่เอาบิ๊กตู่" กับกลุ่ม "แทงกั๊ก" มีรายละเอียดและเงื่อนไขซ่อนอยู่จนกลายเป็น "ลีลาสำหรับใช้หาเสียง" เอาไว้ล่วงหน้า
แม้ว่าสำหรับพรรคหลัก อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนออกมาว่าจะเสนอชื่อใครอยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทย จากเดิมที่เคยคาดว่าน่าจะเป็น "เจ๊หน่อย" คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง จะเป็นเบอร์ 1 แต่ล่าสุด กลายเป็นว่าไม่แน่เสียแล้ว
เพราะข่าวล่ามาเร็วบอกว่า คนที่ชื่อ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" กำลังมาแรง กำลังรอให้ "นายใหญ่" เคาะชื่ออยู่ ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า จะเสนอชื่อเรียงไปก่อน แล้วค่อยมารอเช็กกระแสในภายหลัง นั่นคือ สุดารัตน์-ชัชชาติ และตามด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค ที่ไม่มีความหมาย ไม่ต่างจาก "เสมียน" งานธุรการ อยู่ในบัญชีอันดับสุดท้าย คือ อันดับสาม
ทีนี้หันมาทางพรรคพลังประชารัฐกันบ้าง ที่แม้ว่านาทีนี้ยังมั่นใจว่า "บิ๊กตู่" จะยอมให้เสนอชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรีในนามพรรค ค่อนข้างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ มันก็ย่อมไม่ชัวร์เต็มร้อย จะด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ยังไม่เปิดตัว แต่สำหรับพรรคพลังประชารัฐ เริ่มมีผลกระทบแล้ว เหมือนกับที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน เพิ่งออกมายอมรับว่า หาก"บิ๊กตู่"ปฏิเสธย่อมมีปัญหาแน่นั่นคือ "หาเสียงยาก"
** ซึ่งคำว่าหาเสียงยากในที่นี้ มีความหมายในทางกว้างว่า เมื่อไม่มี "บิ๊กตู่" เป็นจุดขายเป็นนายกฯ ในแบบที่ว่า "อยากให้บิ๊กตู่เป็นนายกฯ ต้องเลือกพรรคพลังประชารัฐ" เพราะลำพังบรรดาแกนนำพรรค ตั้งแต่ระดับหัวหน้าพรรค คือ นายอุตตม สาวนายน หรือแม้ล่าสุดจะมีการเสนอชื่อ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" เข้ามาเป็นแคนดิเดตทางเลือก แม้ว่าเอ่ยชื่อมาในเรื่องความสามารถ ไอเดีย ไม่ได้รองใคร แต่คำถามก็คือ ในสถานการณ์ขับเคี่ยวแบบ "ชิงเมือง" แบบนี้ มันต้องมี "พลังขับเคลื่อน" ที่ทรงพลังสำหรับชนกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งต้องเป็น"บิ๊กตู่"เท่านั้น
ขณะเดียวกัน หากจะว่าไปแล้ว สำหรับ "บิ๊กตู่" เส้นทางที่ทรงพลังมากที่สุดในแบบที่ประเมินกันรอบด้านแล้วก็ยังต้องเลือกมาตามเส้นทางของพรรคการเมือง นี่แหละที่จะสนับสนุนจากบัญชีนายกฯ มากกว่าจะมาตามเส้นทาง "นายกฯคนนอก" เพราะอย่างหลังโอกาสที่จะถูกฝ่ายตรงข้ามสร้างเงื่อนไขป่วนได้โดยง่าย ไม่สง่างามเท่ากับเส้นทางแรก ที่แม้ว่าจะต้องโดนรุมกินโต๊ะจากบรรดาพรรคการเมือง แต่ตราบใดที่ยัง "รักษาทรง" ได้ดีเชื่อว่าเสียงที่ว่านั้นก็น่าจะค่อยๆ ซาลงไปจนไม่มีความหมายในที่สุด เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระแสความต้องการของชาวบ้านว่าจะเอาด้วยหรือเปล่า
แต่ในทางกลับกัน หากพ้นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่เป็นวันสุดท้ายสำหรับการเสนอชื่อบัญชีนายกฯ ในนามพรรคยังไม่มีชื่อ "บิ๊กตู่" อยู่ในรายชื่ออันดับแรก ก็ต้องถือว่าสำหรับพรรคพลังประชารัฐแล้ว เสี่ยงที่จะจบเห่ ถดถอย อย่างไรก็ดี พิจารณาจากความเคลื่อนไหวต่างๆ มาประกอบกันแล้ว ยังมั่นใจว่าเขา (บิ๊กตู่) โอเค แน่นอน เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาออกตัว รอจังหวะอีกนิดเดียวเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น