xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

งบประมาณ14,324,000ล้าน กับผลงาน 5 ปี รัฐบาลคสช.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เปิดให้ประชาชนทั่วไป ที่สนใจ และรักในรัฐบาลคสช. ดาวน์โหลดมาอ่านผ่านเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว สำหรับรายงานตัวเต็ม“ผลการดำเนินงานของรัฐบาล ปีที่ 4”ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่าง วันที่ 12 ก.ย.60 - 12 ก.ย.61 ที่จัดทำเป็นรูปเล่ม จำนวน 421 หน้า ก่อนเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามกฎหมาย จากนั้นจะจัดทำเป็นฉบับย่อ แจกจ่ายให้ประชาชนรับรู้

ข่าวบอกว่า เนื้อหาแบ่งเป็นผลการดำเนินงาน 6 ด้าน ทั้งเรื่อง การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ความมั่นคง สังคม เศรษฐกิจ การต่างประเทศ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น การส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าว และชาวนา การระบายข้าวในสต็อกของรัฐ รวม 4 ปี ตั้งแต่ พ.ค.57 - ก.ย.61 ได้ระบายข้าวในสต็อกรัฐไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 16 ล้านตัน กว่า 1 แสน 4 หมื่น 6 พันล้านบาท รวมไปถึงการวางรากฐานในประเทศในระยะยาว

หน้าปกของรายงานฉบับดังกล่าว เป็นรูปนายกรัฐมนตรีกับชาวบ้านทุกวัย รวมทั้งรูปผลงานทั้งภาคการเกษตร เทคโนโลยี การศึกษา และการคมนาคม
 
ย้ำ!! คนรักคสช. ดาวน์โหลดมาอ่าน ผ่านเว็บไซต์นี้ได้แล้ว http://bit.ly/2FWd8D8

ว่าด้วยผลงานของรัฐบาล สัปดาห์เดียวกันนี้รัฐบาลได้สั่งการให้ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ สรุป “ผลการใช้งบประมาณ”ที่มีการจัดสรรเป็นผลสำคัญของรัฐบาลในช่วง 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 - 2562)

โดยให้เร่งจัดทำสรุปข้อมูลวงเงินงบประมาณ ที่ได้รับการจัดสรรสำหรับการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการสำคัญต่างๆ ในความรับผิดขอบของหน่วยงาน ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินการและผลสัมฤทธิ์ ของการดำเนินงานตามแผนงาน /โครงการต่างๆ ดังกล่าว ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้นำข้อมูลดังกล่าว ไปใช้ในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้ถูกต้อง ชัดเจนและทั่วถึง ผ่านทางช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้เหมาะสม
 
ข้อมูลเบื้องต้น ที่สำนักงบประมาณเปิดเผย ระบุว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณพ.ศ. 2558-2562 งบประมาณรายจ่ายรวมของประเทศมีจำนวน ทั้งสิ้น 14,324,000 ล้านบาท จำแนกตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ดังนี้ 

1. ด้านความมั่นคง 1,507,085.6 ล้านบาท 2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 2,115,569.7 ล้านบาท 3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 2,662,491.6 ล้านนาท 4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม1,990,403.7 ล้านบาท 5. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 559,973.8 ล้านบาท และ 6. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 3,698,009.5 ล้านบาท

และยังมี รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 1,790,466.1 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย รายจ่าย เพี่อบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รายจ่ายเพี่อ รองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเปีน และ รายจ่ายเพี่อชดใช้เงินคงคลัง

โดยสรุป งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วงเงิน 2,575,000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 วงเงิน 2,720,000 ล้านบาท และ งบประมาณเพิ่มเติมฯ 56,000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 วงเงิน 2,733,000 ล้านบาท และงบประมาณเพิ่มเติมฯ 190,000 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 วงเงิน 2,900,000 ล้านบาท และ งบประมาณเพิ่มเติมฯ 150,000 ล้านบาท รวมถึงล่าสุด งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 วงเงิน 3,000,000 ล้านบาท

นอกจากงบประมาณ และตัวรายงานผลงานแล้ว สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังได้เปิดเผยความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลครบ 4 ปี หลังจากได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 6,250 คน (26 ต.ค.60-10 พ.ย. 61) เพื่อสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการ ติดตาม ประเมินผล และกำหนดนโยบาย ที่น่าสนใจดังนี้

ประชาชน สูงกว่าร้อยละ 90 ระบุว่า ทราบการดำเนินงานของรัฐบาล นโยบาย/การปฏิรูปที่ผ่านมา ของรัฐบาล 4 อันดับแรก ได้แก่ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ร้อยละ 97.7) การป้องกันและแก้โขปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 96.4) การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน (ร้อยละ 93.1) การแก้ไขปัญหาสินค้าอุปโภค บริโภคราคาแพง (ร้อยละ 91.8) และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบ จัดระเบียบสังคม และ ปราบปรามผู้มอิทธิพล (ร้อยละ 90.2) ส่วน ความพึงพอใจในภาพรวมต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาล ประชาชนเพียง ร้อยละ 49.7 ระบุว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับ มาก - มากที่สุด

ขณะที่คนอีสานและภาคกลาง ประมาณร้อยละ 62 ระบุว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด โดยผู้ที่มีอายุมากขึ้น (50 ปีขึ้นไป จะมีความพึงพอใจในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อย เช่นเดียวกับครัวเรือนที่มี รายได้ฯ 40,001-100,000 บาท จะมีความพึงพอใจมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
 
ส่วนประชาชน สูงกว่า ร้อยละ 40 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ร้อยละ 63.4) มาตรการเพิ่มสวัสดิการ เพื่อพี่น้องประชาชน (ร้อยละ 46.4) นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)(ร้อยละ 41.8) การดูแลผู้ป่วยติดเตียงโดยนักบริบาลชุมซน (ร้อยละ 46.4) และโครงการไทยนิยม ยั่งยืน (ร้อยละ 43.3)

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจด้านความเดือดร้อนที่ชุมชน/หมู่บ้านได้รับ ในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา ใน 4 อันดับแรก ได้แก่ สินค้าอุปโภค-บริโภคราคาแพง (ร้อยละ 41.7) การทำเกษตรกรรม เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ราคาปุ๋ย/ ยาปราบศัตรูพืชราคาแพง เป็นต้น (ร้อยละ 34.9) ไม่มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ/ว่างงานไม่มีงานทำ (ร้อยละ 26.4) หนี้สิน/เงินนอกระบบ (ร้อยละ 21.2) และน้ำมันราคาแพง (ร้อยละ 19.6) ประเด็นนี้ ประชาชนใน กทม. และภาคกลาง ระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องสินค้าอุปโภค-บริโภค ราคาแพง มากที่สุด ขณะที่ประชาชนในภาคเหนือ ภาคอีสาน และ ภาคใต้ ระบุว่าได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการทำเกษตรกรรม

ท้ายสุด "ระดับความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล" ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ
 
"ร้อยละ 44.9 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นในระดับมาก - มากที่สุด ร้อยละ 37.2 ระบุ มีความเชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 6.0 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นในระดับน้อย - น้อยที่สุด และ ร้อยละ 0.9 ระบุว่าไม่เชื่อมั่น"

ย้ำ!! ผลสำรวจข้างต้น กับรายงานตัวเต็ม “ผลการดำเนินงานของรัฐบาล ปีที่ 4”เหมาะสมกับคนทั่วไปที่ชอบ ชื่นชม และรักรัฐบาล เอาไปอ่านประกอบได้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น