xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กกต.” ดิ้นไม่ออกเลือกตั้ง 24 มี.ค. “คนอยากเลือกตั้ง”ก่อหวอดยั่ว“บิ๊กแดง”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังสรุปไม่ได้ว่า วันกาเบอร์-หย่อนบัตรเลือกตั้ง 2562 ของประเทศไทย จะอุบัติขึ้นเมื่อใด กระแสข่าวปีระเภทเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง จะออกวันนั้นวันนี้

แต่เมื่อเงื่อนไขสำคัญ ที่ขณะนี้ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ยังไม่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลให้ผู้รับผิดชอบหลักอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่สามารถประกาศวันเลือกตั้งได้

เนื่องจากมีสาระสำคัญในส่วนของห้วงเวลา ซึ่งล้อมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ.2561 ที่กำหนดไว้ว่า หลัง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ (เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561) แล้ว พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ต้องประกาศภายใน 90 วัน (หรือก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2562 นู่นแน่ะ)

จากนั้น กกต.จึงจะประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วันหลังจากที่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งและการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน หลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้มีการคาดหมายกันว่า จะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่เมื่อไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ออกมาก็ไม่สามารถกาปฏิทินใช้วันดังกล่าวหย่อนบัตรได้
แล้วยิ่งเมื่อเวลาล่วงผ่านไป โอกาสที่จะเลือกตั้ง ส.ส.กันในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้มากขึ้น

ตรงนี้ถือเป็น “ไพ่ที่เหนือกว่า” ของฝ่าย “รัฐบาล คสช.” ที่แสดงเจตจำนงผ่านการเคลื่อนไหวของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กระบี่มือหนึ่งด้านกฎหมายของ คสช. ในการบุกถึงสำนักงาน กกต. “มัดมือชก” ว่าการเลือกตั้งควรขยับออกไปเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562

ถือแม้ กกต. ที่มี “ทูตปุ๊” อิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน จะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย และยืนยันว่าสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามเดิม หรืออย่างน้อยก็ขยับออกไปเพียง 2 สัปดาห์ หรือวันที่ 10 มีนาคม 2562 เท่านั้น แต่อำนาจในการนำ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้นเป็นอำนาจของรัฐบาล เมื่อไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง กกต.ก็ไม่สามารถนับหนึ่งได้ ครั้นจะตีโพยตีพายไปก็เปล่าประโยชน์

แต่ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงก็ไม่ต้องการตกเป็น “จำเลยสังคม” ที่ผ่านมาจึงทำได้เพียงการอัพเดทงาน แสดงความพร้อมเต็มสูบ สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันนี้พรุ่งนี้ด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้ว่าระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีการทยอยประกาศไปจนเกือบครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า เหตุผลกลใด “รัฐบาล คสช.” จึงต้องการที่จะขยับวันเลือกตั้งจากเดิมไปอีก 1 เดือน เพราะมองในมุมความได้เปรียบ-เสียเปรียบในการแข่งขันในสนามเลือกตั้งนั้น เวลาเพียง 30 วัน ก็คงไม่สามารถทกให้ผลการเลือกตั้งพลิกคว่ำได้มากมายนัก

แต่ที่รับฟังได้คือไทม์ไลน์ที่คาบเกี่ยวกับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” หากแต่ด้วยกำหนดการต่างๆอยู่ในช่วงใกล้เคียงกัน ก็ดูจะไม่ตอบโจทย์ในส่วนที่ไม่ต้องการให้กระทบพระราชพิธีมหามงคลอยู่ดี

ถามว่าหากมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ผิดไหม ก็คงต้องตอบแทนว่า “ไม่ผิด” ด้วยกฎหมายเปิดช่องให้สามารถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จได้ภายใน 150 วันหลัง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับ นั่นหมายถึง กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ถึงอาทิตย์สุดท้ายปลายปฏิทินเลือกตั้ง 9 พฤษภาคม 2562 เลยทีเดียว

แต่หากมองในมุม กกต.ก็มีความน่ากังวลไม่น้อยด้วย “ตีความกฎหมาย” คนละแบบกับ “วิษณุ” กล่าวคือ รองนายกฯสมญา “เนติบริกร” นั้นตีความส่วนตัวไว้ว่า “แล้วเสร็จภายใน 150 วัน” นั้นหมายความถึงแค่ขั้นตอนการหย่อนบัตรแลัปิดหีบ แต่ กกต.ตีความแบบ “เซฟตี้เฟิร์ส” ว่า 150 วันหมายรวมไปถึงการประกาศผลและรับรองการเลือกตั้ง เพื่อให้เปิดสภาผู้แทนราษฎรได้

ความเห็นตรงนี้ที่เองที่ทำให้ “วิษณุ” และ “7 เสือ กกต.” คุยกันคนละภาษา หาจุดลงตัวไม่ได้
ทว่าอย่างที่บอก ฝ่ายรัฐบาล คสช. “ถือไพ่เหนือกว่า” จึงจะเห็นได้ว่า หลังจากที่ “วิษณุ” บุกไปพบ กกต.ในวันนั้นแล้วไม่มีข้อยุติใดๆร่วมกัน แต่ผ่านมาเดิน 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะนักพูดคุยทำความเข้าใจกับ กกต.อีกรอบแต่อย่างใด

เมื่อเวลางวดเข้าไปเรื่อยๆ จนวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นไปไม่ได้แล้วในทางปฏิบัติ หรือวันที่ 10 มีนาคม 2562 ที่ กกต.เตรียมไว้ในแผนสำรองก็ดูจะยาก จนเหลือตัวเลือกให้ กกต.ไม่มาก

ก็เป็น “วิษณุ” คนเดิม เพิ่มเติมคือ “เสียงดังขึ้น” ออกมาย้ำอีกครั้งว่าวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 “เหมาะสมที่สุด” ตัดโอกาสทางเลือกอื่นของ กกต.ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 3 มีนาคม 2562 และวันที่ 10 มีนาคม 2562 ที่ดูจะกระชั้นไปเมื่อเทียบกับวันที่จะประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง และจะเหลือระยะเวลาหาเสียงสั้นเกินไป รวมไปถึงวันที่ 17 มีนาคม 2562 ที่อาจมีปัญหากับเด็กที่สอบ TCAS จำนวนเป็นแสนคน และเป็นวัยที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งนั้น

ดังนั้นจึงเหลือวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่น่าจะเหมาะที่สุด และพระราชกฤษฎีกาก็น่าจะประกาศใช้ได้ในสัปดาห์หน้า

เป็นความชัดเจนที่เพิ่มขึ้นอีกระดับ แล้วยังใช้เงื่อนเวลาผูกมัด กกต.ที่ระยะหลังไม่ยอมลงให้กับ “รัฐบาล คสช.” ง่ายๆไปในตัว

นอกจากนี้ “จารย์วิษณุ” ยังแจกแจงเหตุผลความจำเป็นคล้ายเดิม คือความห่วงใยที่กำหนดการต่างๆจะไปทับซ้อนกับ “งานพระราชพิธี” และยอมรับว่า การประกาศวันเลือกตั้งวันใดมีความหมายมาก เพราะเป็นการนับหนึ่งที่จะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาภายใน 15 วันหลังจากประกาศผลการเลือกตั้ง

“ที่เกรงกันก็คือ เรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อนแล้วนับ 15 วันจะไปอยู่ในช่วงพระราชพิธีหรือไม่ จึงได้พูดคุยกันว่าให้ยึดวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เป็นหลัก และหากวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็จะห่างอยู่ประมาณ 45-47 วัน และ กกต.ทำได้ทัน และไม่ติดพระราชพิธีใดๆ ดังนั้นจะให้อยู่ในกรอบวันที่ 9 พฤษภาคม 2562” รองฯวิษณุ ระบุ

นอกจากนี้ยังกระชุ่นไปถึง กกต.เกี่ยวกับปม “แล้วเสร็จภายใน 150 วัน” ด้วยว่า ถ้าทำไม่เสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ก็เห็นว่ามีข้อขัดแย้งอะไร หรือหากสงสัยว่าจะเกินเวลาหรือไม่ ก็ค่อยสอบถาม “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้ตีความในห้วงเวลานั้นก็ได้

“ผมและนักกฎหมายทั้งหลาย หรือแม้แต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เอง ซึ่งเคยชี้แจงในสภาว่าการประกาศผลการเลือกตั้งช่วง 60 วัน เป็นคนละเรื่องกับ 150 วัน ผมเห็นว่าถ้ายังไม่เสร็จก็ยังสามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าจะมีคนเถียงหรือท้วง ว่าไม่ได้จะต้องให้แล้วเสร็จ ถ้าสงสัยในตอนนั้น แล้วกลัวว่าไม่เสร็จไม่ทัน ค่อยไปยื่นหารือศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหารือในวันนี้ อย่าตีตนไปก่อนไข้ ไม่ทันเห็นน้ำแล้วรีบตักกระบอก ไม่เห็นกระรอกก็จะโก่งหน้าไม้ เพราะเลือกก็ยังไม่เลือก แล้วไปคิดก่อนว่ามันจะไม่เสร็จมันจะไม่ทัน แล้วจะเกินเวลา แล้วจะโมฆะ คิดอย่างนั้นจินตนาการมากไปแล้วล่ะ"

เป็นคำพังเพยที่คล้าย “สอนมวย” กกต.ไปในตัวเลยก็ว่าได้

มาถึงขั้นนี้แล้วการเดินหน้าเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ก็คงเป็น “คำตอบสุดท้าย” ของ กกต.ไปแล้ว

แต่ก็เป็นการเดินหน้าที่ทดปม “แล้วเสร็จภายใน 150 วัน” ไว้ในใจ

อย่าลืมว่า “วิษณุ” เคยเปิดฟลอร์แถลงข่าวกลางสำนักงาน กกต.ไล่เรียงไทม์ไลน์ปฏิทินเลือกตั้งเป็นเรื่องเป็นราว แต่เผอิญหลุดกรอบ 150 วัน ส่งผลให้ไม่มี “ตัวแทน กกต.” สักรายเดียวร่วมแถลงข่าวด้วย ทั้งที่เป็นเจ้าถิ่น

ก็ด้วยปฏิทินของ “วิษณุ” ถ่างการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ในขณะที่ กกต.หัวเด็ดตีนขาดว่า ทุกอย่างต้องจบก่อน 9 พฤษภาคม 2562 ส่วนกระบวนการเปิดประชุมสภานั้นถือว่าพ้นจากความรับผิดชอบของ กกต.แล้ว

ทำให้จากเดิมที่ กกต.เคยคาดคะเนว่าจะใช้เวลาตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ต้องมีการพลิกตำราแก้เกมพัลวัน ด้วยความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง และสุ่มเสี่ยงที่จะลำบากกันตอนแก่ โดยเฉพาะความผิดฐานทำให้การเลือกตั้งเป็น “โมฆะ” ที่มีทั้งโทษจำคุก และอาจเป็นหนี้หัวโต ต้องชดใช้งบประมาณจัดการเลือกตั้งมากถึง 4 พันล้านบาท

หลังพิกตำราหลายตลบ ก็ได้ขอสรุปว่า ทุกกระบวนการหลังวันหย่อนบัตรจำต้อง “ร่นเวลา” ให้น้อยลง จากเดิมกำหนดรับรองผลการเลือกตั้งได้ไม่เกิน 60 วัน ก็ต้องเตรียมความพร้อมและแน่ใจว่าสามารถทำได้ภายใน 45 วัน

ส่งมาถึงการระดมเสริมทีมงานเพิ่มขึ้น จากที่เคยวางไว้ 25 อนุกรรมการ กกต. สำหับการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ก็เตรียมที่จะเพิ่มเป็น 35 อนุกรรมการ กกต. คำนวณง่ายๆ แต่ละคณะอนุฯรับผิดชอบทีมละ 10 เขตเลือกตั้ง ก็จะทำให้การประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างน้อย 95% เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาได้ จบภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เส้นตาย 150 วันที่กฎหมายกำหนด

เป็นไปตามที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ชี้แจงกรณีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. และประกาศ กกต. จำนวน 9 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการเลือกตั้ง โดยระบุว่า ในส่วนของ กกต. ได้คุยกันว่าจะจัดการเลือกตั้ง และประกาศผลภายใน 150 วัน นับแต่พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ใช้บังคับภายใน 9 พฤษภาคม 2562 ส่วนถ้ามีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ระยะเวลาการประกาศผลก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 หรือรวมแล้ว 45 วัน ก็เชื่อว่า กกต.สามารถทำได้

ที่ว่าไปเป็นเรื่องราวทางเทคนิคที่มีการ “หักเหลี่ยมเฉือนคม” กันพอสมควร ระหว่าง “รัฐบาล คสช.” กับ “7 เสือ กกต.” ที่แม้สุดท้ายฝ่ายหลังต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในยกแรก จำต้องจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็จริง

แต่การที่ กกต.ประกาศล่วงหน้าว่าจะรับรองผลได้ทันวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งไม่ตรงกับปฏิทินที่ “วิษณุ ณ คสช.” วางไว้ จะตรงกับความต้องการที่แท้จริงในการเปิด “ประตูหนีไฟ” เผื่อไว้ใน “ศึกชิงอำนาจ” หรือไม่

ที่ต้องจับตาคือในระหว่างที่วัน ว. เวลา น. ของการเลือกตั้งทำท่าจะลงตัวแล้ว แต่ก็เริ่มเห็นเค้าลางปัญหาที่ก่อหวอดแบบไม่ฟังอีร้าคร่าอีลม ของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ที่พยายามกดดันให้มีการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ให้ได้

ถึงขนาดประกาศยกระดับการชุมนุมเพื่อ “ขีดเส้นตาย” ให้กับ “รัฐบาล คสช.” โดยไม่พยายามทำความเข้าใจว่ากฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าให้จัดการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพียงวันเดียว แต่เปิดช่องให้สามารถจัดการเลือกตั้งตามกรอบเวลาที่กำหนด ที่จะใช้คำว่า “เลื่อนเลือกตั้ง” คงไม่ถูก แต่เป็นการ “ขยับ” ให้เหมาะสมมากกว่า

ความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ซึ่งก็เป็น “ตัวละครหน้าเดิมๆ” ที่ต่อต้าน “รัฐบาล คสช.” มาตลอดศก อีกทั้งยังโยงใยสายสัมพันธ์ไปถึง “เครือข่ายชินวัตร” ทั้งในส่วนพรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดง กลายเป็นการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ผลกระทบด้าน “ความมั่นคง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จนทำให้ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะผู้รับผิดชอบการดูแลรักษาความสงบในประเทศคนหนึ่ง ต้องออกปากปรามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ด้วยคำพูดที่ส่งนัย “คนหน้าเดิม-ชุดความคิดเก่าๆ”

การออกโรงของตัวจริงเสียงจริงอย่าง “ผบ.แดง” ทำให้ “ฝ่ายการเมือง” ที่วันนี้แต่งตัวรอเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งเต็มตัวชักจะหวั่นใจ จากที่เคย “เป็นใจ” ด้วยกับ “ม็อบอยากเลือกตั้ง” แทบจะผละตัวออกมาแทบไม่ทัน ด้วยเกรงว่าหากหนุนส่งการชุมนุม จนเลยเถิด “ล้ำเส้น” ไปมากกว่านี้

ด้วยรู้ดีว่า หากประเทศไม่สงบ การเลือกตั้งก็เกิดไม่ได้

ดีไม่ดีโดน “ล้มกระดาน” ทั้งที่ทุกอย่างเริ่มจะลงตัวแล้ว ก็อย่ามาร้องโอดโอยก็แล้วกัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น