xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองของการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

การเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยตัวของมันเองการเลือกตั้งก็เป็นการเมืองอยู่แล้ว ทว่า ในปัจจุบันมีสถานการณ์ที่ทำให้การเมืองของการเลือกตั้งทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นภาพแสดงของปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างการเมืองไทย การเลือกตั้งจึงอยู่ในสภาพของการเป็นเครื่องมือ เพื่อกำหนดความปราถนาทางการเมืองในอนาคต

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งมีจุดเริ่มตั้งแต่คำถามพื้นฐานว่า “จะมีการเลือกตั้งตามที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่” และ หากมีการเลือกตั้ง คำถามถัดมาคือ “ควรกำหนดวันลงคะแนนเสียงหรือวันเลือกตั้งเมื่อไร และควรประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อไร”

คำถามว่าจะมีการเลือกตั้งตามที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือไม่ คำถามนี้หากมองการเมืองตามตรรกะธรรมดาก็ไม่น่าจะเป็นคำถาม เพราะว่าเมื่อสิ่งใดที่ได้รับการกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว องคาพายพต่างๆของรัฐก็จะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดเหล่านั้น ทว่า ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ๒๕๖๑ ก็คือ คำถามที่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือหรือไม่ เป็นคำถามหนึ่งที่แพร่กระจายทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวของสามัญชนในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง

คำถามนี้มีนัยถึงความไม่มั่นใจของตัวผู้ถามต่อรัฐธรรมนูญและต่อรัฐบาล ซึ่งหมายถึงว่าสถานะความเป็นสถาบันของรัฐธรรมนูญไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เหตุผลหลักคือในอดีตรัฐธรรมนูญจำนวนหลายฉบับของประเทศไทยถูกยกเลิกอย่างง่ายดาย อันเป็นภาวะที่บ่งบอกถึงความไร้เสถียรภาพ สิ่งใดที่ไร้เสถียรภาพ สิ่งนั้นย่อมมีความยากลำบากในการได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นสถาบัน

สำหรับความไม่มั่นใจต่อรัฐบาลซึ่งเป็นองค์การหลักที่นำข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญไปดำเนินการ เกิดจากเงื่อนไขการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลนี้มาจากการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ซึ่งทำให้ผู้คนประเมินว่า หากในอดีตคนที่เคยฉีกรัฐธรรมนูญมาแล้ว ก็ไม่มีหลักประกันอะไรที่คนผู้นั้นจะไม่กระทำซ้ำอีกในอนาคต รวมทั้งการแสดงจุดยืนและท่าทีของรัฐบาลและกลุ่มที่เป็นฐานอำนาจในตลอดระยะเวลาสี่ปีกว่าที่ผ่านมาก็แสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการสืบทอดอำนาจต่อไปอีก ความปรารถนานี้ปรากฎออกมาในรูปของการกำหนดรูปแบบของโครงสร้างอำนาจและยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กลุ่มพวกของตนเองได้ดำรงอยู่ในอำนาจต่อไปนั่นเอง

ภายใต้คำถามและแรงกดดันจากสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศ รัฐบาลก็มีความพยายามยืนยันต่อประชาคมนานาชาติและต่อประชาชนไทยหลายครั้งว่า การเลือกตั้งจะมีอย่างแน่นอนในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ และเพื่อตอกย้ำความมั่นใจดังกล่าว ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีจึงแถลงว่า กระบวนการการเลือกตั้งจะเริ่มต้นนับหนึ่งในวันที่ ๑๑ ธ.ค. ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีผลบังคับใช้ จากนั้นจะมีการตราและประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในเดือนเดียวกัน เพื่อจัดการเลือกตั้งตามข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๕๖๒

ต่อมาในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นประธานที่ประชุมร่วมกับตัวแทนจาก 75 พรรคการเมือง ที่สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ โดยทั้งหมดต่างเห็นชอบให้ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เป็นวันเลือกตั้ง และ วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ จะประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. รวมทั้งมีการกำหนดโรดแมปกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจน

หลังจากนั้นบรรยากาศทางการเมืองของการเลือกตั้งก็ทวีความคึกคักยิ่งขึ้น บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างหลากหลายเพื่อสร้างความรู้จักและแสวงหาคะแนนนิยม มีทั้งเดินทางไปแนะนำพรรคในภูมิภาคต่างๆ พบปะพูดคุยกับประชาชน เตรียมการหาผู้สมัครในนามพรรคทั้งในระดับเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ และมีการนำเสนอนโยบายพรรคต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง หากพิจารณากิจกรรมการเคลื่อนของนักการเมืองและพรรคการเมืองในช่วงดังกล่าว ดูเหมือนพวกเขาจะประเมินว่าการเลือกตั้งคงเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในต้นปี ๒๕๖๒

ครั้นถึงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลแถลงว่า จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง ส.ส. ทุกฝายที่เกี่ยวข้องก็เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ ทว่าเมื่อเที่ยงคืนวันที่ ๒ มกราคม ผ่านไป คำสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้กลับไม่เกิดขึ้น ทุกอย่างยังคงเงียบงัน ความไม่แน่นอนและความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งและวันเลือกตั้งจึงหวนคืนอีกครั้ง สังคมตั้งคำถามไปที่รัฐบาล และ กกต. ว่าอะไรเกิดขึ้น และยังมีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์หรือไม่

ภายใต้คำถามที่ถาโถมเข้ามา ในวันที่ ๓ ม.ค.๒๕๖๒ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีจึงได้เดินทางมาหารือกับกกต.ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๔ ถึง ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ อย่างไรก็ตามภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ รัฐบาลและ กกต. ก็ไม่กล้าประกาศวันเลือกตั้งใหม่ที่แน่นอนออกมา ต่างฝ่ายก็พยายามให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ประกาศ ดูเหมือนว่าทั้งรัฐบาลและกกต. ต่างตระหนักดีกว่าหากใครประกาศเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็จะตกเป็นเป้าหมายของการถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมอย่างรุนแรง

แต่หากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง อาจมีความเป็นไปได้ว่าแท้จริงแล้ว ทั้งรัฐบาลและ กกต. เองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไรดี ดูเหมือนว่าทั้งสององค์การที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการตามรัฐธรรมนูญตกอยู่ในสภาวะอำนาจสั่นคลอนเสียแล้ว ซึ่งบ่งบอกว่าผู้เล่นในสมการอำนาจของการเมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

กระนั้นก็ตาม มีข่าวออกมาสู่สาธารณะว่า ฝ่ายรัฐบาลประสงค์ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๑๗ หรือ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ขณะที่ กกต.ต้องการให้มีขึ้นในวันที่ ๑๐ มีนาคม การมีข่าวในลักษณะนี้ออกมาสู่สาธารณะย่อมเป็นการยืนยันระดับหนึ่งว่า การเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ อันเป็นวันตามกำหนดเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว และอาจรวมไปถึงแม้กระทั่งว่า การเลือกตั้งในเดือนมีนาคมก็ตกอยู่ในสภาพความไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน เมื่อเกิดความคลุมเครือเกี่ยวกับการเลือกตั้งและวันเลือกตั้ง ความคิดของผู้คนก็ฟุ้งซ่าน จินตนาการที่หลากหลายก็เกิดขึ้นตามมา

การที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งในวันที่ ๒ มกราคม ตามที่รัฐบาลได้เคยแถลงไว้ต่อสาธารณะนั้นมีความหมายทางการเมืองหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ กระทบกับภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอย่างรุนแรง เพราะว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงการไร้ความสามารถในการรักษาสัญญาประชาคมกับประชาชน และเป็นสัญญาณว่า เส้นทางการดำรงอยู่ในอำนาจต่อไปของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอาจจะไม่ราบรื่นเสียแล้ว

ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาลจะตีความสัญญาณนี้อย่างไร และจะกำหนดแนวทางอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่น่าสนใจ การตีความปรากฎการณ์อาจมีหลายแง่มุม แง่มุมหนึ่ง คือการมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะอำนาจในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายไม่ใช่รัฐบาล ดังนั้นพลเอกประยุทธ์ หลุดคำพูดออกมาว่า “ประกาศเมื่อไรก็เมื่อนั้น” ในการให้สัมภาษณ์นักข่าวเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ หากพลเอกประยุทธ์ตีความแบบนี้ รัฐบาลก็บริหารประเทศต่อไปเรื่อยๆ ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีก็หาเวลาไปช่วยชาวบ้านทำหลังคาบ้านที่ได้รับความเสียหายจากพายุ หรือก็ไปร่วมรำวงกับชาวบ้านอย่างสนุกสนานเบิกบานใจต่อไป

การใช้ท่าทีแบบทองไม่รู้ร้อน เป็นความพยายามคิดแบบเข้าข้างตนเอง แต่สิ่งที่เกิดตามมาจากการตัดสินใจแบบนี้อาจทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ และอาจมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นกับรัฐบาลได้

แต่หากจับสัญญาณและตีความอีกแบบหนึ่ง พลเอกประยุทธ์ ก็อาจแสดงความรับผิดชอบ เพราะไม่สามารถรักษาสัญญาประชาคมที่เคยให้ไว้ต่อสาธารณะได้ ความไว้วางใจและความเชื่อถือที่เคยมีอยู่บ้างก็จางหายไป ดังนั้นการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จึงเป็นทางเลือกที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง และหากพลเอกประยุทธ์ลาออกจริง ก็จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและเหมาะสมต่อการเข้าไปดูแลการเลือกตั้งต่อไปในอนาคต ส่วนพลเอกประยุทธ์ เมื่อลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ของรัฐแล้ว ก็จะได้ลงแข่งขันในสนามการเมืองและการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกับนักการเมืองคนอื่นๆ และจะลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ลงไปได้ระดับหนึ่ง

หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ภายใต้ฐานคิดว่า รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ และการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญคือต้องดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕๐ วัน หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมดมีผลบังคับใช้ ปัญหาของฐานคิดนี้อันเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันในสังคมคือ การตีความเรื่อง “การดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ” หมายถึงอะไรบ้าง ฝ่ายหนึ่งตีความว่า ต้องรวมวันประกาศผลการเลือกตั้งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ ๑๕๐ วันในการดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งระบุว่า สามารถแยกเรื่องวันประกาศผลการเลือกตั้งออกจาก ๑๕๐ วันที่ดำเนินการเลือกตั้ง หรือ การดำเนินเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วันนั้นหมายถึง การลงคะแนนเสียง

หากตีความตามฝ่ายแรก หมายความว่า การเลือกตั้งและการประกาศผลการเลือกตั้งต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกำหนดวันเลือกตั้งไม่ควรเกินเดือนมีนาคม สิ่งที่ผู้มีอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งควรคำนึงคือ การกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งควรกำหนดเสียแต่เนิ่นๆ ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี จะยังคงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์แบบเดิมก็ได้ ตามกำหนดนี้ การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดคือวันที่ ๒๓ เมษายน และสามารถประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ภายในวันที่ ๓๐ เมษายน

หรือหากจะเลื่อนไปวันที่ ๑๐ มีนาคม ก็ยังพอมีความเหมาะสมอยู่บ้างทั้งในแง่การทำงานของ กกต. และในแง่ของรัฐบาล โดยประกาศผลการเลือกตั้งภายในวันที่ ๙ พฤษภาคม แต่หากกำหนดในวันที่ ๑๗ หรือ ๒๔ มีนาคม ดูจะเป็นการกดดันการทำงานของ กกต.มากจนเกินไปในการประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งอาจกระทบต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้

หากตีความตามฝ่ายที่สอง คือ แยกการประกาศผลการเลือกตั้ง ออกจาก ๑๕๐ วันที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากตีความตามนี้ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสามารถขยายไปจนถึงวันที่ ๙ พฤษภาคมได้ ส่วนการประกาศผลก็ประมาณต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ แต่การกำหนดวันเลือกตั้งก็ต้องพิจารณาให้ดี เพราะหากไปจัดในเดือนเมษายน ก็อาจไม่เหมาะสมเพราะใกล้ช่วงเวลาประกอบพระราชพิธีสำคัญ

แต่หากตีความตามนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ หลังวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป อาจต้องมีการลงคะแนนเสียงหรือมีการเลือกตั้งใหม่ในบางเขต การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหากเกิดความพลาดพลั้งและทำให้วันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่เกินวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง

ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทยมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มอำนาจมีความหลากหลาย จนไม่รู้ว่ากลุ่มใดเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ยิ่งกว่านั้นแต่ละกลุ่มก็มีความปรารถนาและใช้ยุทธวิธีของอำนาจทั้งที่เผยเปิดและซ่อนเร้นปะทะกันอยู่ตลอดเวลา ในคราวนี้ การเลือกตั้งและวันเลือกตั้งกลายเป็นเกมการละเล่นของกลุ่มอำนาจเหล่านั้น ขณะที่ประชาชนอย่างเราท่านก็ได้แต่เฝ้ามอง สังเกต และคอยดูบทสรุปที่พวกเขากำหนดลงมา


กำลังโหลดความคิดเห็น