xs
xsm
sm
md
lg

สนามเลือกตั้งภาคใต้เดือดแน่ ทุกพรรครุมแย่งเก้าอี้ปชป. !!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

**แม้ว่านาทีนี้จะยังไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันไหนกันแน่ รู้แต่เพียงว่า "เลื่อนเลือกตั้งแน่นอน" แต่ถึงอย่างไร หากให้คาดเดาเอาไว้บ้างก็น่าจะอยู่ในภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนจะเป็นวันใดนั้น ต้องรอให้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งลงมาเสียก่อน จากนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงจะกำหนดวันเลือกตั้งได้
อย่างไรก็ดี หากพูดกันถึงสนามเลือกตั้งที่จะต้องเกิดขึ้นในอีกไม่นานข้างหน้า อยากให้โฟกัสไปที่สนามในภาคใต้ ที่มีแนวโน้มอย่างสูงว่าต้องดุเดือดเข้มข้น เพราะหากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวเท่าที่เห็นในเวลานี้ และก่อนหน้านี้ไม่นาน จะเห็นว่าแทบทุกพรรค ทั้งพรรคใหม่และเก่า ต่างลงพื้นที่ทำคะแนน เพื่อหวังแย่งชิงเก้าอี้ส.ส.ในดินแดนด้ามขวาน กันทั้งสิ้น
แน่นอนว่าหากบอกว่าภาคเหนือและภาคอีสาน เป็นฐานเสียงหลักของพรรคเพื่อไทย ในลักษณะเดียวกันสำหรับภาคใต้ ย่อมต้องเป็นฐานนิยมหลักของพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง เรียกได้ว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวน ส.ส.ในภาคใต้ ล้วนเคยเป็น ส.ส.ของพรรคนี้
** สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ พื้นที่ภาคใต้กำลังมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อย่างน้อยเท่าที่เห็นในตอนนี้ มีหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่า อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ต่างหมายมั่นปั้นมือลงไปแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส.ในพื้นที่กับพรรคประชาธิปัตย์ กันทั้งนั้น
จะว่าไปแล้วในการเลือกตั้งคราวนี้ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้นำทัพอีกครั้ง แต่ก็เจอกับภาวะ "ถูกดูด" อย่างรุนแรง นั่นคือ มีอดีต ส.ส.ของพรรค ย้ายออกไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นจำนวนมาก
แต่ที่น่าจับตาก็คือ ในการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์เหมือนกับมี "เงา" บางอย่างทาบทับอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงาของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่เวลานี้แยกวงไปร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ย้ายพรรคตามไปด้วย เช่น กรณีของนายสุรเชษฐ์ แวอาแซ อดีตส.ส.นราธิวาส หลายสมัย ที่ยกทีมอดีต ส.ส.จากพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ที่น่าสนใจก็คือ อย่างที่รู้กันเมื่อมีการถือกำเนิดขึ้นของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนหลัก และหลายคนเป็นอดีตแกนนำ กปปส. ทำให้มองกันว่าจะต้องเกิดการ "ทับซ้อน" ในเรื่องฐานเสียงอย่างแน่นอน นั่นคือ ย่อมมีผลกระทบต่อจำนวน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มากก็น้อย
นอกเหนือจากนี้ ยังมีผลกระทบไปถึงความแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรากฏออกมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะพยายามเก็บอาการเหล่านั้นไม่ให้คนภายนอกได้รับรู้มากที่สุด แต่ในความเป็นจริงรอยปริที่ว่านี้ เริ่มสังเกตให้เห็นมาตั้งแต่การแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ "กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์" ที่สนับสนุน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แม้ว่าผลสรุปลงท้ายด้วยชัยชนะของนายอภิสิทธิ์ แต่เมื่อพิจารณาจากผลคะแนนที่ไม่ทิ้งห่างกันมากนัก หรือในทางการเมืองมองว่า "ฉิวเฉียด"
เมื่อมองลึกลงไปอีกนิด จะพบว่ากลุ่มที่หนุนหลัง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็ล้วนมาจากกลุ่มของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ อดีตกลุ่ม กปปส. ที่ยังฝังตัวอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมาก นี่ก็แสดงให้เห็นถึงรอยปริ ที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน สิ่งที่เชื่อมโยงต่อเนื่องมาถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็คือ มีหลายพื้นที่ที่ปรากฏว่ามีเครือญาติใกล้ชิด พี่หรือน้อง หรือ เมีย ของอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ไปมีชื่อเป็นว่าที่ผู้สมัครของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เห็นภาพชัดก็คือที่ เขต 1 จังหวัดชุมพร กรณีของนายชุมพล จุลใส หรือที่คนในพื้นที่รู้จักในนาม "ลูกหมี" แม้ว่าจะพยายามเคลียร์กันให้จบด้วยการไฟเขียวให้ นายชุมพล จุลใส ได้ลงสมัคร เขต 1 ในนามพรรคไปแล้ว แต่งานนี้ เชื่อว่ายังต้องมีอะไรข้างในกันอย่างแน่นอน
นอกเหนือจากนี้ ในพื้นที่สำคัญ เช่นที่ จังหวัดสงขลา ก็มีความขัดแย้งให้เห็นชัดเจน ระหว่างกลุ่มของนายถาวร เสนเนียม ที่รับรู้กันว่าใกล้ชิดกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับกลุ่มของ นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาในเรื่องการเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขต จนปรากฏว่า ผลจากการหยั่งเสียงทำให้ นายเจือ ราชสีห์ อดีต ส.ส. ต้องพ่ายแพ้ และถูกบีบให้ขึ้นบัญชีรายชื่อ
และที่ทำท่าจะสนุกเข้มข้นไม่เบาก็คือ ที่จังหวัดพัทลุง ในพื้นที่ของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ถูกมองว่า กำลังสร้างความ "หมั่นไส้" ให้กับหลายคนในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการวางตัวผู้สมัครของพรรคในภาคใต้ แต่กลายเป็นว่า เวลานี้ในพื้นที่กำลังจะถูกเจาะไข่แดง จากบางพรรค เช่น พรรคภูมิใจไทย ที่ส่ง"เสี่ยใหญ่" เจ้าของปั๊มน้ำมันในพื้นที่จากตระกูล "รัชกิจประการ" เข้ามาท้าชิง และว่ากันว่า "มีลุ้น" ไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาขยันทำการบ้านมาอย่างดี ถึงกับได้ยินเสียงเย้ยหยันลอยลมตามมาว่า "ไปยุ่งพื้นที่อื่นมากนัก ให้ระวังหลังให้ดีแล้วกัน"
เอาเป็นว่า สำหรับการเลือกตั้งคราวนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าต้องฝ่าวิกฤติหนักหน่วงอีกครั้งหนึ่ง เพราะนอกจากโดนกระแสดูด ย้ายพรรคออกไปไม่น้อยแล้ว ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ถือว่าเป็น "ฐานหลัก" เวลานี้ก็มีแนวโน้มถูกแบ่งแต้ม แย่งเก้าอี้ กันอีกจากหลายพรรค นอกเหนือจากพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวขบวนหลักแล้ว ยังมีอีกหลายพรรคที่ลงไปขอแบ่งเค้ก เพราะถือว่า "ฟ้าเปิด" แล้ว ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งฝ่ายประชาธิปัตย์ ก็ต้องรักษาที่มั่นเอาไว้อย่างเต็มที่
** ถึงได้บอกว่าสนามภาคใต้ต้องเดือดแน่ !!
------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น