xs
xsm
sm
md
lg

ร้องปปช.สอบเตาขยะกทม. เอกชนญี่ปุ่นสนใจลงทุนแต่ถูกกีดกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมฯ ได้ยื่นคำร้องต่อ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เนื่องจากพบข้อพิรุธ ในการจัดทำร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) โครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและอ่อนนุช ด้วยวิธีประกวดราคาอิเลกทรอนิกส์ (e-bidding)วงเงินงบประมาณโครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 2 โครงการ มูลค่า 13,140 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินแผ่นดินที่สูงผิดปกติไปแล้วนั้น
ทั้งนี้ การกำหนดทีโออาร์โครงการดังกล่าว มีข้อพิรุธหลายประการที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย อาทิ การกำหนดราคากลางที่สูงกว่าโครงการกำจัดขยะของท้องถิ่นอื่นๆ กว่า 3 เท่าตัว คือ 919 บาทต่อตัน ทั้งๆ ที่ท้องถิ่นอื่นๆ ได้ดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันกับ กทม. แต่กลับมีราคากลาง ที่น้อยกว่ากทม.มาก อาทิ โรงงานแปรรูปขยะมูลฝอยชุมชน ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าขอนแก่น กำจัดขยะเพียงตันละ 250 บาท ในปีแรก และกำหนดเพิ่มขึ้น 10 % ในทุก 3 ปี หากคำนวณตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว อัตราค่าจ้างกำจัดขยะสูงสุดไม่เกิน 490 บาทต่อตัน เท่านั้น
ขณะที่โรงเตาเผาขยะเทศบาลนครภูเก็ต ในปัจจุบันก็กำหนดอัตราค่าจ้างกำจัดขยะเพียง 300 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ได้กำหนดไว้ในร่างทีโออาร์ โครงการเตาเผาขยะมูลฝอยในอีกหลายๆ จังหวัด อีกทั้งทุกโครงการมีการต่อยอดเป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับ กฟผ. หรือ กฟภ. ซึ่งถือเป็นรายได้หลักอีกทางของบริษัทเอกชน ที่เข้ามาลงทุนด้วย
แต่โครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผา ของกทม. กลับเขียนทีโออาร์กำหนดไว้ถึงตันละ 919 บาท/ตัน แล้วแสร้งต่อรองราคาให้เหลือ 900 บาท/ตัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การจัดทำทีโออาร์ดังกล่าว มีข้อพิรุธหลายประการที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย ซึ่งอาจขัดต่อ มาตรา 11 มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อีกทั้งขัดต่อ มาตรา 62 ของรธน.60 ด้วย
เพื่อให้การตรวจสอบการใช้อำนาจของ กทม.ที่ส่อไปในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางสมาคมฯ จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อป.ป.ช. เพิ่มอีกหน่วยงานหนึ่ง เพื่อเอาผิด คณะกรรมการกำหนดราคากลาง และคณะกรรมการจัดทำร่างทีโออาร์ และผู้บริหารของกทม. ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ต่อไป โดยสมาคมฯ จะเดินทางไปยื่น คำร้องในวันนี้ (7 ม.ค.) เวลา 10.30 น. ที่ สำนักงานป.ป.ช. ถ.สนามบินน้ำ ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.61 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของ กทม. 14 ราย โดยหนึ่งในนั้น ได้แก่ นายชาตรี วัฒนเขจร รอง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม ที่รับผิดชอบการร่างทีโออาร์ ได้ขึ้นเป็น ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม ด้วย
รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค. 61 ได้มีหนังสือจาก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. โดยแจ้งให้ทราบว่า บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกำจัดขยะด้วยพลังงานความร้อนสูง (Waste to Energy)มีความสนใจเข้าร่วมประกวดราคา ในโครงการประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และอ่อนนุช ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. แต่สถานทูตได้รับแจ้งว่า รายละเอียดในร่างทีโออาร์ ของ กทม.นั้น เป็นอุปสรรคที่ไม่เปิดกว้างให้บริษัทจากญี่ปุ่น เข้าร่วมการประมูลได้เท่าที่ควร
อย่างไรก็ดี เอกชนญี่ปุ่นก็ยังมีความสนใจที่จะเข้าร่วมการประมูล โดยหวังว่า จะได้รับการพิจารณาจาก กทม. ด้วยประสบการณ์และผลงานการกำจัดขยะระบบเตาเผาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สถานทูตฯ จึงขอโอกาสอย่างสูงสุด ให้บริษัทจากญี่ปุ่นมีโอกาสเข้าร่วมทำงานกับ กทม. ด้วย เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นและยาวนานของทั้งสองประเทศ
รายงานแจ้งด้วยว่า บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีเทคโนโลยีเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน มี 4-5 ราย ที่เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทของคนไทย ล่าสุดบริษัท ที่ได้รับสัมปทานกำจัดขยะด้วยพลังงานความร้อนสูง (WtE) กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี ซึ่งอยู่ในเครือของกลุ่มซุปเปอร์เอนเนอร์ยี่ (SUPER) ใช้เทคโนโลยีของบริษัทญี่ปุ่นชื่อ NSENGI
กำลังโหลดความคิดเห็น