xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.แจงใช้บัตรทองใน"คลินิกพิเศษ" นอกเวลารพ.ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นพ.ชาตรี บานชื่น ประธาน กก.ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ครอบคลุมบริการพื้นฐาน ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รวมถึงบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยมีหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศร่วมกันดูแล “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรอเวลาเพื่อรับบริการต่างจากผู้ป่วยทั่วไป รพ.จึงจัดบริการห้องฉุกเฉิน เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แต่จากข้อมูลการเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินใน รพ. พบว่า ในช่วงนอกเวลาราชการ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน บางแห่งมีจำนวนมาก จึงจัดแยกจัดบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ อย่างคลินิกพิเศษ ออกจากบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ลดความแออัดห้องฉุกเฉิน ป้องกันความขัดแย้งจากการรอรับบริการ ที่แพทย์จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน ทั้งลดแรงกดดันปฏิบัติหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่เนื่องจากทำให้ รพ.มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งด้านบุคลากรที่ให้บริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ จึงต้องจัดเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานของกองทุนรักษาพยาบาลที่ได้รับ
“ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่รับบริการนอกเวลาราชการในโรงพยาบาล ที่แยกบริการรองรับ ที่เป็นหน่วยบริการตามสิทธิขึ้นทะเบียนบัตรทอง การเบิกจ่ายค่ารักษายังเป็นไปตามสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ทั้งค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น เพียงแต่ต้องจ่ายสนับสนุนค่าจัดบริการเพิ่มเติมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน แต่ยืนกรานจะรับบริการที่ห้องฉุกเฉิน ก็เป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก” นพ.ชาตรี กล่าว
นพ.ชาตรี กล่าวว่า ในการจัดบริการนอกเวลาราชการสำหรับผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน ทางสธ. มีแนวทางปฏิบัติชัดเจน คือรพ.ต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบก่อน แต่อาจยังทำได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับมี รพ. ที่เปิดบริการนอกเวลาราชการมากขึ้น จึงมีเรื่องร้องเรียนมายัง สปสช. และมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาร่วมกัน ทั้ง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีมติร่วมกัน เน้นสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่า สิทธิบัตรทองของประชาชนที่ได้รับ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพียงแต่ รพ.จัดบริการเสริม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนต้องร่วมสนับสนุนค่าบริการบ้างเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หน่วยบริการต้องระวังไม่รอนสิทธิ แม้ว่าผู้ป่วยจะรับบริการที่คลินิกนอกเวลาราชการ แต่สิทธิประโยขน์พื้นฐานเบิกจ่ายกองทุนบัตรทองยังอยู่ รพ.เก็บเงินผู้ป่วยได้เฉพาะค่าใช้จ่ายที่รพ. ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ในการจัดบริการเท่านั้น และการเข้ารับบริการยังต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชาชน เรื่องนี้หากทำได้ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ เพราะประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือกองทุนรักษาพยาบาลอื่นไม่ได้เสียประโยชน์ แต่ช่วยแก้ปัญหาความแออัดในห้องฉุกเฉิน ลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วย และผู้ให้บริการ ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นผลดีกับทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น