xs
xsm
sm
md
lg

หน้าตาของการเลือกตั้ง 24 ก.พ.

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


การเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หากไม่นับวันเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ที่ถูกขัดขวางจากมวลชน กปปส. แต่นับจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่ได้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็นับว่า เราห่างหายจากการเลือกตั้งไปถึง 7 ปี

เท่ากับว่าคนที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปีจะได้เข้าสู่คูหาการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก น่าคิดเหมือนกันว่า คนวัยนี้ซึ่งมีตัวเลขว่ามีประมาณ 7 ล้านคน จะมีความเห็นและทัศนะทางการเมืองอย่างไร แน่นอนล่ะครับว่า ต้องมีความเห็นที่หลากหลายกระจายไปตามฝั่งฝ่ายการเมืองและพรรคต่างๆ แต่สิ่งที่อยากรู้ผลลัพธ์คือ คะแนนกลุ่มนี้จะเทให้พรรคการเมืองไหนมากที่สุด

คนจำนวน 7 ล้านคนนั้น หากไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะมีค่าเฉลี่ยของจำนวนที่นั่ง ส.ส.ประมาณ 100 คนจากการคำนวณของสำนักต่างๆ รวมถึง กกต.เอง

การเลือกตั้งในปี 2562 นั้นจะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 51.7 ล้านคน เพิ่มมาประมาณ 5 ล้านคน จากเดิมในปี 2554 มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 46.9 ล้านคน มาใช้สิทธิ์ 35 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 75

ส่วนตัวผมเชื่อนะครับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ์เป็นร้อยละมากกว่าทุกครั้ง เพราะกระแสการตื่นตัวทางการเมืองสูง การเลือกข้างและจุดยืนทางการเมืองของคนไทยก็ชัดเจนขึ้นมาตลอดระยะเวลา 10 ปีมานี้ต่างก็มุ่งหวังให้ฝักฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนได้มีอำนาจรัฐ จะต้องออกมาเข้าคูหาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นจำนวนมากแน่

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการคาดเดาที่ยากที่สุด เพราะไม่สามารถเอาทฤษฎีการเลือกตั้งแบบเก่ามาจับได้ เพราะประชาชนมีบัตรเลือกตั้งในคูหาเพียงบัตรเดียว และบัตรนั้นหมายถึงการเลือก ส.ส.เขต เลือกพรรคที่ชอบ และนายกรัฐมนตรีที่อยากจะให้เป็นไปพร้อมกัน

คนลงคะแนนต้องตัดสินใจว่าจะเลือก ส.ส.ที่คุ้นเคย จะเลือกพรรคเพราะจุดยืนทางการเมือง หรือจะเลือกเพราะชอบนายกรัฐมนตรีคนนี้ ผมคิดว่า การเลือกพรรคกับการเลือกนายกรัฐมนตรีน่าจะไปด้วยกันได้นะครับ แต่การเลือก ส.ส.นี่อาจจะตัดสินใจยาก เพราะตอนนี้มีการย้ายพรรคกันมาก ย้ายข้ามฟากแบบต่างจุดยืนทางการเมืองกันเลย น่าคิดว่า ประชาชนจะยังเลือก ส.ส.คนนั้นที่ย้ายฟากไปแล้ว หรือเลือกพรรคที่มีจุดยืนทางการเมืองเดียวกับตัวเอง

แต่ถ้าถามผมนะครับ ผมเชื่อว่า ความเข้มแข็งของอุดมการณ์ทางการเมืองของสองฝั่งนั้นจะทำให้คนเลือกแบบเลือกข้างคือ เลือกพรรคที่มีจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง ทำให้ผมไม่เชื่อว่า การย้ายพรรคของ ส.ส.จะส่งผลต่อคะแนนเสียงของแต่ละพรรคมากนัก

ดังนั้นแม้พรรคพลังประชารัฐซึ่งได้ตัวอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยไปมาก ก็ไม่ง่ายนะครับว่า จะได้ ส.ส.มากกลับมาตามจำนวนที่ไหลเข้ามา ถ้าประชาชนมีความคิดแบบเลือกฝ่าย

ฟังนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ คุยว่า พรรคพลังประชารัฐ จะได้ ส.ส.พื้นที่ 120 ที่นั่ง และปาร์ตี้ลิสต์ 30 ที่นั่ง รวมกันเป็น 150 ที่นั่ง

ตามที่มีการคาดการณ์ทั้งจาก กกต.และหลายฝ่ายตรงกันว่า คะแนนต่อ 1 ที่นั่งน่าจะอยู่ที่ 70,000-80,000 คะแนน ดังนั้น ถ้าพรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.ขนาดนั้น ต้องได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 10-12 ล้านเสียง

การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคเพื่อไทยได้ 15.7 ล้านเสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 11.4 ล้านเสียง และพรรคอันดับ 3 คือ พรรคภูมิใจไทยได้เพียง 1 ล้านเสียงเศษ

แม้จะทอนคะแนนจาก 2 พรรคใหญ่เดิมมาได้ ก็ลองคิดดูว่า ฝันของนายสุริยะจะเป็นจริงไหม

แต่ตัวเลขของพรรคเพื่อไทยจะต้องเปลี่ยนไปนะครับจากยอด 15.7 ล้านเสียงแน่ๆ แม้จะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มขึ้น 5 ล้านคน เพราะบัตรใบเดียวและการคำนวณเก้าอี้ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วน ทำให้พรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.เขตเยอะจะมีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลงจากเดิมที่เคยได้ถึง 61 คน พรรคเพื่อไทยจึงต้องแตกพรรคออกมาเป็นพรรคเล็กๆ เพื่อหวัง ส.ส.บัญชีรายชื่อ คะแนนรวมของพรรคเพื่อไทยจึงจะต้องลดลงอย่างที่นัยสำคัญแน่ แต่เป้าหมายของเขาก็คือ ต้องรักษา ส.ส.เขตเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ง่ายนะครับสำหรับพรรคเล็กจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากเสมอไป อย่างพรรคภูมิใจไทยที่ได้อันดับ 3 ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ได้คะแนนพรรคเพียง 1.2 ล้านคะแนน แต่ได้ส.ส.เขตไปแล้ว 29 ที่นั่ง ถ้าคิดตามวิธีแบบใหม่ก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกเลย แต่ในครั้งก่อนพรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน

หรือพรรคอันดับ 4 คือพรรคชาติไทยพัฒนา ครั้งที่แล้วได้คะแนนพรรคประมาณ 9 แสนคะแนน แต่ได้ ส.ส.เขตไป 15 คน ถ้าตามค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์กันก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเช่นกัน

ดังนั้นพรรคเพื่อไทยที่วางกลยุทธ์ไปเอาคะแนนในพรรคสำรองนั้นก็ไม่ได้ง่าย เพราะต้องส่งผู้สมัครที่สามารถเก็บคะแนนสะสมให้ได้มากที่สุดจากทั่วประเทศ เพื่อให้คนที่ไม่มีพื้นที่ลงในพรรคเพื่อไทยแล้วไปลงบัญชีรายชื่อในพรรคสำรองอย่างไทยรักษาชาติ ได้กลับมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ถ้าคนที่ลงในนามพรรคสำรองเกิดได้ ส.ส.เขตก็จะลดทอนเก้าอี้บัญชีรายชื่อไปอีก

น่าสนใจนะครับว่า พรรคเพื่อไทยจะมีวิธีการจัดสรรคะแนนของพรรคเพื่อมาแบ่งให้พรรคสำรองที่ตั้งขึ้นมาหลายพรรคอย่างไร แล้วถ้าวางกลยุทธ์ผิดพลาดก็จะถูกพรรคที่สามเป็นตาอยู่เอา ส.ส.เขตไปก็ได้

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นคะแนนก็จะลดลงมาด้วยแม้จะไม่ได้แตกพรรคแบบพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีฐานมวลชนเดียวกับพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนลุงตู่ และพรรครวมพลังประชาชาติไทยของกำนันสุเทพ ครั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส.เขต 104 คน น่าสนใจว่าจะรักษาพื้นที่ไว้ได้เท่าไหร่ แต่คะแนนรวมของพรรคต้องลดลงแน่ๆ และคะแนนที่จะชนะขาดในภาคใต้แบบทุกครั้งจะถูกทอนคะแนนลงมา โอกาสได้บัญชีรายชื่อก็อาจจะลดลงมามากจากที่เคยได้ 44 คน

ถ้าถามว่า พรรคไหนที่มีโอกาสจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก ผมคิดว่า พรรคนั้นจะต้องเป็นพรรคที่มีฐานมวลชนแบบกระจายกว้างทั่วประเทศ แกนนำพรรคมีความนิยมในตัว อาจไม่สามารถชนะในเขตแต่ได้คะแนนพอสมควรในทุกเขต เมื่อรวมกันแล้วจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไปแทน

การออกแบบการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น เป็นที่รับรู้กันว่า ต้องการบั่นทอนพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยลง แต่ผลจะออกตามที่คนออกแบบต้องการหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่จากความขัดแย้งทางการเมืองในระยะสิบกว่าปีมานี้ยังมีจุดยืนทางการเมืองเหมือนเดิม และบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวอาจทำให้เขาตัดสินเลือกข้างมากกว่าตัวบุคคล

ผมไม่ห่วงความเป็นฝักฝ่ายเพราะการมีจุดยืนทางการเมืองของประชาชนเป็นเรื่องที่ดี ไม่ห่วงว่าฝ่ายไหนจะชนะ แต่ห่วงว่าจากทศวรรษกว่าเกือบสองทศวรรษของความขัดแย้งนั้น ได้ทำให้นักการเมืองที่จะเข้ามามีอำนาจได้ทบทวนบทเรียนของตัวเองหรือไม่ เพราะพิสูจน์แล้วว่า ประชาชนจะไม่ยอมให้นักการเมืองเข้ามาใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลอีก

การเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่ในระบอบประชาธิปไตยก็ให้อำนาจประชาชนในการขับไล่รัฐบาลที่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมด้วย

ความเป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการใช้อำนาจที่ชอบธรรมมีธรรมาภิบาล ไม่ใช่การโอ้อวดว่าชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากเพียงอย่างเดียว

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น