xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ค้านใช้ ม.44 ล้างคำขอสิทธิบัตรกัญชา เตือนระวังจ่าย “ค่าโง่” ซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกลีลาเล่ห์เหลี่ยมจัด จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมาหมัด เดินซวนเซตกหล่มเตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ล้มล้างคำขอสิทธิบัตรกัญชา ทั้งๆ ที่เป็น “อำนาจหน้าที่” ของกรมฯ ซึ่งสามารถลงมือแก้ไขได้ตามกฎหมายสิทธิบัตรอยู่แล้ว

งานนี้ ถ้าหาก “ลุงตู่” ยังทะเล่อทะล่าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเซ็นออกคำสั่งพิเศษ มีหวังประเทศไทยที่มีผู้นำตามเกมไม่ทันอาจต้องจ่าย “ค่าโง่” ให้ฝรั่งมังค่าที่ตั้งท่ามาจดสิทธิบัตรกัญชาในไทย ซึ่งมีรายการยื่นขออยู่ถึง 31 รายการในเวลานี้

ต้องไม่ลืมว่า เรื่องสิทธิบัตร ไม่ใช่เป็นเรื่องภายในประเทศเพียงเท่านั้นที่จะใช้คำสั่งตาม มาตรา 44 จัดการอย่างไรก็ได้ ไม่เหมือนกันกับการเซ็นคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ทำได้ไม่มีปัญหาแม้แต่เสียงโวยวายก็ไม่มีใครกล้า ดังนั้น ทางออกในเรื่องนี้ “ทีมกฎหมายท่านผู้นำ” จึงไม่ควรมีแนวความคิดที่จะให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เพราะจะกลายเป็นว่ายิ่งแก้ยิ่งจะยุ่งเข้าไปใหญ่

ยังจำกันได้ไหมว่าการใช้อำนาจตามมาตารา 44 ที่มีคู่พิพาทเป็นต่างประเทศแล้วทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมานั้นมีให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว เช่น กรณีของการใช้ มาตรา 44 หยุดโครงการทำเหมืองทองที่ จ.เลย ทำให้รัฐบาลไทยถูกฟ้องร้องเป็นคดีความระหว่างประเทศในเวลานี้ ทำให้ต้องตามแก้กันอีรุงตุงนัง แถมยังมีเค้าลางว่าอาจพ่ายแพ้

คำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล จึงชวนให้สงสัยว่า ใครเป็นคนตั้งเรื่องให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาจัดการปัญหาคำขอสิทธิบัตรกัญชา และยังต้องสืบสาวลงไปว่า ทำไมถึงปล่อยให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปัดสวะให้พ้นตัว แล้วลากเอา “รัฐบาลลุงตู่” ไปแบกรับปัญหาที่กรมฯ เป็นตัวการทำเรื่องให้ยุ่ง

ปัญหาคำขอสิทธิบัตรกัญชา เป็นเรื่องใหญ่ระดับที่คสช.นำเข้าที่ประชุมหารือกันตามที่พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังการประชุม คสช. ว่ากรณีสิทธิบัตรต่างๆ ในการสกัดกัญชา ซึ่งต้องหาวิธีการที่เหมาะสม อย่าลืมว่าการทำอะไรก็ตามจะต้องคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ฉะนั้นต้องแยกให้ออกว่าจะทำอย่างไร “ต้นกัญชามีทุกประเทศ แต่การที่จะเอากัญชามาสกัดทำยาหรืออะไรต่างๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น ต้องคิดให้รอบคอบว่าอะไรจะได้หรือเสียประโยชน์ และต้องไม่ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ไม่เช่นนั้น จะมีปัญหาตรงนั้นอีก คือการแก้ปัญหา จะต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาอื่นเกิดขึ้น เพราะจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาล”

ไฮไลต์ของคำแถลงของหัวหน้า คสช. อยู่ตรงที่ว่า “...ส่วนการออกคำสั่งมาตรา 44 นั้น อยู่ระหว่างการเขียนรายละเอียด”

อันที่จริง ทีมกฎหมายของรัฐบาล และทีมกฎหมายของ คสช. ซึ่งต่างจบการศึกษาสูง กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน รายล้อมพร้อมพรักอยู่รอบตัวผู้นำ ควรเตือนว่าไม่ควรใช้แนวทางนี้ กลับกลายเป็นกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เอ็นจีโอที่เกาะติดประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ออกมาชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่จะตามมา และแนะว่าให้กลับไปกระทุ้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ นั่นแหละ เพราะเมื่อเรียนผูกก็ต้องเรียนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้

กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 คัดค้านการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีแนวคิดจะออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาสิทธิบัตรกัญชา ด้วยเหตุผล ดังนี้

1) มาตรา 44 เป็นคำสั่งพิเศษของคณะรัฐประหาร ที่ไม่อาจถือได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนอันชอบธรรมของการออกหรือการใช้กฎหมาย (due process of law) ไม่เป็นที่ยอมรับตามหลักนิติรัฐปกติ ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษเฉพาะในกฎหมายไทยเท่านั้น แต่ขัดกับหลักการสากลในทางระหว่างประเทศ การใช้อำนาจเช่นนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกผู้ขอสิทธิบัตรชาวต่างชาติจะนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-state Dispute Settlement: ISDS) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย หรือที่สื่อไทยใช้คำเรียกว่า 'ค่าโง่' ได้ เช่นเดียวกับกรณีเหมืองทอง จ.เลย และรัฐบาลไทยก็มีโอกาสจะแพ้คดีเนื่องจากความไม่ชอบธรรมของอำนาจที่ใช้ออกคำสั่ง

2) การออกคำสั่งตามมาตรา 44 เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ระบบอันเป็นต้นตอของปัญหา นั่นคือ การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของตัวเองอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ใช้มาตรา 9 ที่ระบุถึงสิ่งที่ห้ามจดสิทธิบัตร เช่น สารสกัดตามธรรมชาติ จุลชีพ การใช้เพื่อการบำบัดรักษา และสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี มาใช้ในการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรเบื้องต้น, ไม่ใช้มาตรา 5 ที่ว่าด้วยคุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งต้องมีความใหม่และมีนวัตกรรมที่สูงขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบสิทธิบัตรอย่างเคร่งครัด แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กลับไม่ยกคำขอเหล่านี้ทิ้งไป ปล่อยให้คำขอเหล่านี้อยู่ในระบบจนเป็นการขัดขวางนวัตกรรมและการพัฒนาพืชกัญชาทางการแพทย์อยู่ขณะนี้

นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังออกคู่มือตรวจสอบสิทธิบัตรในการอธิบายมาตรา 9 พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่เกินไปกว่ากฎหมาย ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้จดสิทธิบัตรสารสกัดที่ถูกทำให้บริสุทธิ์ ทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสารธรรมชาติซึ่งเกินกว่ากฎหมาย

3) ข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหานี้ที่ถูกต้อง คือ รัฐบาล คสช. ต้องกำกับดูแลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งตรวจสอบสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางเคมีและชีววัตถุอย่างเข้มงวดและรอบคอบ และรายงานต่อสาธารณชนเป็นระยะถึงการยกคำขอสิทธิบัตรเหล่านั้น และให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับยาอื่นๆ

ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ย้ำอีกครั้งถึงการสนับสนุนให้มีการยกคำขอสิทธิบัตรกัญชาทิ้งไป แต่ให้ใช้กระบวนการตามกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งต้องอาศัยความเอาจริงเอาจังของข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่ใช้อำนาจพิเศษในการแก้ปัญหาซึ่งจะยิ่งสร้างปัญหาให้รุนแรงกว่านี้โดยไม่จำเป็น

เสียงสะท้อนจากกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ จะเข้าหูหัวหน้า คสช. หรือไม่ หรือว่ายังจะดึงดันใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาล้มล้างคำขอสิทธิบัตรกัญชาต่อไป อีกไม่นานคงได้คำตอบว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สำหรับการผลักดันแก้ไขกฎหมายปลดล็อกกัญชาพ้นบัญชียาเสพติดเพื่อใช้รักษาทางการแพทย์ มีความคืบหน้าจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ประชุมพิจารณาวาระแรกเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2561 ปรากฏว่า สมาชิก สนช. เทเสียงเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 145 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการ 29 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน โดยพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งนับเป็นข่าวดีที่มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนการนำร่องนำกัญชาของกลางมาสกัดเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กลับไม่เป็นไปตามคาดหวัง โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกันแถลงผลการตรวจวิเคราะห์กัญชาของกลาง 100 กิโลกรัม ที่รับมาจากกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) พบการปนเปื้อนสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทั้งยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้าในวัตถุดิบกัญชาแห้ง และตรวจพบสารโลหะหนัก ทั้งตะกั่ว ปรอท สารหนู และแคดเมียม ดังนั้น กัญชาของกลางที่ได้จาก บช.ปส. ยังไม่มีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ทางการแพทย์ได้

อภ. จึงวางแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อให้การผลิตเป็นไปตามแผนเดิมที่วางไว้ 2 แนวทาง คือ ขอของกลางกัญชาจาก บช.ปส. เพิ่มอีก 300 กิโลกรัม แต่จะให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจหาสารเคมีและสารโลหะหนักก่อน หากพบจะไม่นำมาศึกษา และเร่งหาพื้นที่ในการปลูกกัญชาให้เร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้คู่ขนานโดยจะปรับปรุงพื้นที่ดาดฟ้าอาคารหลังหนึ่งของโรงงานผลิตยาที่รังสิต ใช้ปลูกกัญชาแบบลอยฟ้าเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คาดว่าจะเริ่มปลูกได้ภายในต้นปี 2562

ปลดล็อกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์คราวนี้ มีปัญหาและทางตันที่ต้องทะลุทะลวงด้วยความมีสติในหลายมิติ ไม่คิดแต่หวังพึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จ หรือใจเร็วด่วนได้




กำลังโหลดความคิดเห็น