xs
xsm
sm
md
lg

การปฎิรูปการเมืองบนกระดาษ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนหมวดปฏิรูปการเมืองไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

โดยหลักสำคัญคือ มาตรา 257 ที่บอกว่าต้องบรรลุเป้าหมายดังนี้ (1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ (2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ (3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ส่วนมาตรา 258 กำหนดว่า ด้านต่างๆ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม

แต่ที่ผมคิดว่า น่าสนใจคือ มาตรา 253 ก.ด้านการเมือง (3) มีกลไกที่กําหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบาย ที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน

นั่นหมายความว่า พรรคการเมืองจะประกาศนโยบายออกมาอย่างไรก็ได้ไม่ได้อีกต่อไปจะต้องวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน และรัฐจะต้องมีสิ่งเรียกว่า “กลไก” ในการควบคุมด้านนี้ออกมา

ยกตัวอย่างกรณีจำนำข้าว แม้จะมีใครส่งเสียงเตือนอย่างไร แต่พรรคเพื่อไทยประกาศว่านี่เป็นนโยบายของพรรคที่สัญญาไว้กับประชาชนในการเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเลือกพรรคมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

แต่ก่อนจะประกาศนโยบายมีใครวิเคราะห์บ้างว่าจะมีผลดีหรือผลเสียตามมา เพราะการจำนำข้าวในราคา 15,000 บาท ในขณะที่ราคาในตลาดอยู่ตันละ 7-8,000 บาท แล้วจะมีใครมาถอนคืน ตกลงว่านี่มันคือการจำนำข้าวหรือรับซื้อข้าวในราคาแพงกว่าความเป็นจริง เป็นการเอาเงินของรัฐและประชาชนไปซื้อความนิยมใช่หรือไม่

แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงการค้าข้าวเป็นอย่างไร ข้าวที่รัฐบาลซื้อมาจะระบายออกไปได้อย่างไร เพราะถ้าขายออกไปในราคาตลาดก็จะขาดทุนอย่างมาก แต่เมื่อข้าวค้างสต็อกขายไม่ได้ก็มีต้นทุนดูแลเพิ่มขึ้นมาอีก สุดท้ายขายไม่ออกเพราะขายแล้วขาดทุนก็กลายเป็นข้าวเน่า

มันมีเรื่องตลกอยู่เหมือนกันตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยืนยันอย่างเดียวว่าจะขาดทุนได้อย่างไรในเมื่อยังไม่ได้ขายข้าวออกไป มันเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออกจริงๆ

จะเห็นว่านโยบายจำนำข้าวหากมีการวิเคราะห์ผลกระทบตั้งแต่ต้นก็รู้ว่าไม่คุ้มค่าและมีความเสี่ยง แม้ว่าจะมีหน่วยงานต่างๆ ออกมาเตือนรัฐบาลในภายหลังดำเนินนโยบายไปแล้วว่านโยบายจำนำข้าวจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจ และวงการการค้าข้าวแต่รัฐบาลไม่สนใจยืนยันอย่างเดียวว่า เป็นนโยบายที่ใช้หาเสียง สุดท้ายประเทศก็ได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล

ผมเข้าใจว่า บทเรียนนี้เองที่เป็นที่มาของการสร้างกลไกตามมาตรา 258 ก.(3) ในหมวดปฏิรูปการเมือง

แต่ถามว่า “กลไก” นี้อยู่ตรงไหน คำตอบคือ มองไม่เห็นเลยนะครับว่าอยู่ตรงไหน และจะเป็นไปได้จริงอย่างไร เพราะดูเหมือนนโยบายปฏิรูปที่ลงทุนเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกือบทุกด้านยังเป็นเพียงตัวอักษรในกระดาษ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านทำกันเสร็จแล้วก็เสนอแผนเป็นตัวอักษรประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา

หลายเรื่องติดกลไกไดโนเสาร์ของระบบราชการที่รัฐบาลนี้ต้องพึ่งพิงในการขับเคลื่อนประเทศ เหมือนพยายามสร้าง 4 จี 5 จีแต่ใช้เครื่องโนเกีย 3310

ผมไม่มีเจตนาจะมุ่งไปที่นโยบายของพรรคอนาคตใหม่นะครับ แต่ดูเหมือนพรรคนี้เกือบจะเป็นพรรคเดียวที่บอกว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลแล้วจะทำโน่นทำนี่ เลยต้องยกตัวอย่างของพรรคนี้ เช่น นโยบายถอนทหารออกจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ๆ พรรคการเมืองจะประกาศเอามันเพื่อเรียกคะแนนจากประชาชนเท่านั้น ทำได้ไหมครับ คำตอบคือ ทำไมไม่ได้ครับ ถ้าเราอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ก.(3)

พรรคอนาคตใหม่จะต้องทำการวิเคราะห์ออกมาก่อนว่า การถอนทหารออกจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นจะมีผลดีอย่างไร คุ้มค่าอย่างไร มีความเสี่ยงหรือไม่ หรืออีกเรื่องนโยบายเลิกการเกณฑ์ทหารจะส่งให้เกิดผลดีอย่างไร มีความคุ้มค่าหรือมีความเสี่ยงหรือไม่ ก่อนจะประกาศนโยบายต่อประชาชน

แล้วก็ต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องทำก็คือ การสร้าง “กลไก” ที่รัฐธรรมนูญระบุขึ้นมารองรับนั่นเอง ผมไม่รู้นะครับว่า กลไกควรจะมีรูปแบบอย่างไร แต่คิดว่า กกต.ก็ต้องมีคณะทำงานชุดนี้เป็นที่ยอมรับที่มีที่มาที่โปร่งใสตรวจสอบได้ มีความเป็นกลางขึ้นมาพิจารณานโยบายของพรรคการเมืองพรรคนั้นเสียก่อนจึงจะนำไปหาเสียงต่อประชาชนได้

แต่ถามว่า วันนี้ “กลไก” ที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้นอยู่ที่ไหน คำตอบคือยังมองไม่เห็นเลย เห็นแต่ กกต.กำลังสาละวนอยู่กับการเตรียมการเลือกตั้งเท่านั้นเอง กลายเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เราให้คุณค่าประชาธิปไตยไว้ที่แค่การเลือกตั้ง แต่ไม่สนใจในการสร้างกรอบกระบวนการในทางการเมืองในการปฏิรูปที่ต้องทำเพื่อไม่ให้เลือกตั้งแล้วเดินไปสู่วังวนแบบเก่าอีก

พรรคการเมืองทุกพรรคก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องปฏิรูปการเมืองกันแล้ว เอาแต่ต้อนอดีตนักการเมืองเข้าพรรคให้มากที่สุดเพื่อช่วงชิงเก้าอี้ในสภา ไม่ต้องพูดถึงสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่นำมวลชนขัดขวางการเลือกตั้งครั้งก่อนเพื่อให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้ปฏิรูปอะไร แต่สุเทพกำลังเดินสายเรียกร้องให้ประชาชนมาเลือกพรรคของตัวเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

อย่าว่าแต่ “กลไก” ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความคุ้มค่าของนโยบายพรรคการเมืองที่ว่ามาเลยครับในมาตรา 258 ก.ยังระบุด้วยว่า (5) มีกลไกที่กําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน และ (5) มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธีภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถามว่า “กลไก” ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเหล่านี้อยู่ตรงไหน

วันนี้นักการเมืองฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่า ทำความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองก็เข้ามาสู่พรรคที่อยากจะกลับมาเป็นรัฐบาลหมดแล้ว ไหนล่ะ “กลไก” ที่ต้องทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และ “กลไก” ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

หากมีใครเชื่อว่าต่อไปนี้ผู้มีอำนาจจะทุจริตไม่ได้แล้วเพราะมีมาตรการป้องกันที่เข้มแข็ง ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังหมดไปแล้ว ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่า มันเป็นเช่นนั้นอย่างไร

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นหลังจากเราจำยอมต้องให้ทหารเข้ามาจัดการปัญหาบ้านเมือง เพราะในขณะนั้นเรากำลังเดินไปสู่ความเป็นรัฐล้มเหลว มีคำตอบที่เป็นเรื่องที่ดีตรงไหนบ้างที่จะสร้างความหวังสำหรับประเทศไทยในอนาคต นอกจากเรากำลังจะได้รัฐบาลชุดเดิมที่มีอำนาจเต็มแต่ไม่ได้ทำอะไรกลับมามีอำนาจในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาหลังเลือกตั้ง

คิดกันไหมครับว่าผลพวงที่จะตามมาหลังจากนี้คืออะไร และเราจะกลับไปสู่ความขัดแย้งอีกไหม

มีตรงไหนบ้างที่เป็นผลพวงของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรม นอกจากตัวอักษรบนกระดาษที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ”

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น