xs
xsm
sm
md
lg

อย่าตื่นกัญชา อย่าเห็นแต่ด้านบวกของกัญชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

ทันทีที่ เรื่อง ปลดล็อกกัญชา ทำท่าว่า จะลุกลามกลายเป็นประเด็นทางการเมือง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ตัดไฟแต่ต้นลม ใช้มาตรา 30 ของ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร ให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตร สารสกัดจากกัญชา 1 คำขอ

มาตรา 30 ของ พรบ. สิทธิบัตร ระบุว่า ถ้าปรากฎว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 14 ให้อธิบดีสั่งยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตร และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรรวมทั้งผู้คัดค้านในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 31 และให้ประกาศโฆษณาคำสั่งนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

มาตรา 9 ที่เป็นเหตุให้อธิบดีสั่งยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตร ระบุว่า การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ ( 1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์พืช หร่อสารสกัดจากสัตว์หรือพืช ฯลฯ

สารสกัดจากกัญชา เป็นสารสกัดจากพืช จึงไม่สามารถขอจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ แต่การวิจัย ประดิษฐ์ ที่ใช้สารสกัดกัญชา เป็นองค์ประกอบ สามารถจดสิทธิบัตรได้

ร่างกฎหมายแก้ไข พรบ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ 2522 ซึ่งเสนอโดย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) กลุ่มหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคู่ของแพทย์ได้

กฎหมายฉบับนี้ ผู้ที่สามารถขออนุญาตมีกัญชาไว้ในครอบครอง เพื่อศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ได้แก่ กระทรวง ทบวงกรม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย หรือองค์การเภสัชกรรม

ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม การสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง การแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ก็ขออนุญาตมีกัญชา เพื่อศึกษา วิจัยทางการแพทย์ได้ แต่ต้องมี ถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

นับว่า เปิดกว้างพอสมควร สำหรับการเข้าถึงกัญชา เพื่อการแพทย์

สารสกัดจากกัญชานั้น มีสรรพคุณในการรักษา หรือบรรเทาอาการของโรคบางชนิด ซึ่งมีงานวิจัย และการใช้กับคนที่เป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์สากล หลายๆประเทศ อนุญาตให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ บางประเทศ เช่น แคนาดา และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ คือ ให้สูบกัญชาได้โดยเสรี ยกเว้นผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี

แต่ในขณะเดียวกัน กัญชาก็มีโทษต่อระบบประสาท ถ้าใช้มากๆ ใช้ติดต่อกันนานๆ โดยเฉพาะต่อเยาวชน

ในประเทศแคนาดา ซึ่งเพิ่งอนุญาตให้คนที่มีอายุเกิน 18 ปี สูบกัญชาได้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง คณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมอนทรีออล ได้ศึกษาผลของกัญชาต่อวัยรุ่น 3,800 คน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปเป็นระยะเวลา 4 ปี

แพทริเชีย คอนรอด จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมอนทรีออล หัวหน้าคณะนักวิจัยชุดนี้บอกว่า เธอเคยประเมินว่าแอลกอฮอล์จะมีผลต่อสมองของเด็กวัยรุ่นมากกว่า แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น งานวิจัยพบว่า เด็กที่เสพกัญชาทำแบบทดสอบเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ผิดพลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะการจำ การใช้เหตุผล และการควบคุมพฤติกรรม

“กัญชาส่งผลเสียต่อสมองของเด็กๆที่ยังไม่หยุดพัฒนา ดังนั้นจึงควรยืดเวลาคิดจะเริ่มสูบกัญชาออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ในทางการแพทย์ สมองของคน จะหยุดพัฒนาเมื่อมีอายุ 25 ปี

อย่างไรก็ตาม โทษของกัญชาต่อ ระบบประสาทและร่างกายของมนุษย์ ยังไม่เคยมีการศึกษา วิจัยที่มากพอ เมื่อแคนาดา เปิดเสรีกัญชา เพื่อนันทนาการ บุคลากรในวงการสาธารณสุขเห็นพ้องว่า มันคือ การเปิดประตู การวิจัยศึกษาผลของกัญชาอย่างเต็มรูปแบบ แต่ทุกคนก็เห็นว่า เป็นการวิจัยที่มีความเสี่ย งเพราะเป็นการเปิดห้องทดลองระดับชาติ ที่ไม่มีการควบคุม

การใช้กัญชาทาการแพทย์ ในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา มีมานานแล้ว แต่การสูบกัญชาเพื่อนันทนาการ เพิ่งจะกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย เมื่อไม่กี่ปีมานี้ นานที่สุดคือ 4 ปี ที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา แต่มีกติกาที่เข้มงวด เช่น กำหนดอายุ 18 หรือ 21 ปีขึ้นไป ปริมาณที่จะซื้อได้ต่อครั้ง หรือ ต่อสัปดาห์ ปริมาณที่พกพาติดตัวไปได้ ยกเว้นผลประโยชน์ทางธุรกิจ ที่เกิดจากกัญชาแล้ว ปัจจุบันยังเร็วเกินไป สำหรับการประเมินผลว่า กัญชาเพื่อนันทนาการ ส่งผลต่อสุขภาพคน และสุขภาพสังคมอย่างไร

ร่างกฎหมาย ปลดล็อคกัญชา ของบ้านเรา ที่จำกัดให้ใช้กัญชาเฉพาะทางการแพทย์ สำหรับหน่วยราชการ ท้องถืน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ทั้งยังห้ามการปลูกกัญชาโดยเสรี โดยกำหนดระยะเวลา 5 ปี สำหรับข้อบังคับ ภายใต้กฎหมายนี้ หลังจาก 5 ปี แล้วค่อยว่า กันใหม่ จึงถือว่า เป็นการดำเนินการที่รอบคอบ เปิดโอกาสสำหรับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ “ตื่นกัญชา” จนไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น