xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"กับภารกิจ"ขึ้นเขา" สุดหินแพ้ก็ต้องสู้ !

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จะว่าไปแล้วการกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งในคราวนี้ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือว่าไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่ที่น่าจะเหนือความคาดหมายก็คือ เขาชนะคู่แข่ง คือ "หมอวรงค์" หรือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ชูสโลแกน "ประชาชนกล้าเปลี่ยน" ไปไม่ถึงหมื่นคะแนน โดยนายอภิสิทธิ์ ได้คะแนนจากผลการหยั่งเสียง 67,505 คะแนน ขณะที่นพ.วรงค์ ได้ไปถึง 57,689 คะแนน
สำหรับคะแนนที่ "หมอวรงค์"ได้รับในครั้งนี้ หากพิจารณากันตามความเคลื่อนไหวและบรรยากาศในช่วงที่ผ่านมา ถือว่า "สูงมาก" จนน่าจับตา และต้องมาวิเคราะห์กันต่อว่า ทำไมถึงผลได้ออกมาแบบนั้น เพราะเมื่อพิจารณาจากชื่อ ชั้น รวมไปถึงแบ็กกราวด์ และแบ็กอัพ ที่นายอภิสิทธิ์ ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากระดับ "ขาใหญ่"ในพรรค อย่างเต็มที่และออกนอกหน้าอย่าง นายชวน หลีกภัย ทุกอย่างก็น่าจะแบเบอร์
**แต่เมื่อผลออกมาอย่างที่เห็น คะแนนที่สมาชิกพรรคทั่วประเทศ เทออกมาให้ "หมอวรงค์" มีจำนวนมากขนาดนี้ แม้จะนับจำนวนแล้ว แพ้เกือบหมื่นคะแนน และจะมีการมองกันว่า การเข้าชิงเก้าอี้คราวนี้มี "กลุ่มกำนัน" สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ กลุ่ม กปปส.ในพรรคคอยสนับสนุน แต่นาทีนี้คงไม่ใช่ประเด็นหลักแล้ว เรื่องสำคัญ น่าจะมาจากความต้อบการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคมากกว่า ดังนั้น เมื่อผลออกมาแบบนี้ ในทางการเมืองแล้วถือว่า "สูสี"
อีกทั้งที่ผ่านมา นพ.วรงค์ ได้ "ทิ้งทวน" ด้วยการประกาศถอนตัวไม่รับการเสนอชื่อชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคจากที่ประชุมใหญ่ หากพ่ายแพ้ในการหยั่งเสียง ทำให้ไม่ต้องมีลุ้นให้เสี่ยงกับเรื่องบานปลาย และจบลงด้วยภาพที่ออกมาสวยงาม เป็นภาพของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นบรรยากาศการแข่งขันแบบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ ที่ นพ.วรงค์ ได้คะแนนไปจำนวนมากเกินคาด ส่วนสำคัญน่าจะสะท้อนให้เห็นภาพของความต้องการ "เปลี่ยนแปลง" ในภาพของบรรยากาศใหม่ เปลี่ยน "แม่ทัพคนใหม่" สำหรับสู้ศึกใหญ่ข้างหน้า แม้ว่าในความเป็นจริงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "แม่ทัพคนเก่า" ก็ไม่ได้มีเรื่องเสียหาย มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ นำทัพมา 4 ครั้งแล้ว และเคยนำทัพสู้ศึกเลือกตั้งมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง นับจากปี 2548 เป็นต้นมา และเป็น 2 ครั้งที่แพ้ ไม่เคยชนะสักครั้งเดียว
**หากครั้งนี้ ถือว่าเป็น "ครั้งที่ 5" และด้วยองค์ประกอบภายในพรรคแบบเดิม คนหน้าเดิมๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ ที่ยังมีบทบาทชี้นำพรรค ซึ่งไม่ว่ามองในทางไหน ในตอนนี้ยังไม่เห็นถึงหนทางชนะ หรือมองไม่เห็นการลุ้นแบบสูสี เมื่อต้องต่อกรกับคู่แข่งสำคัญที่นาทีนี้ชัดเจนก็ยังเป็นฝ่ายพรรคเพื่อไทย เช่นเดิม แต่มีการ "แตกพรรค" ออกมาจำนวนมากเพื่อ "เก็บคะแนนทุกเม็ด" แบบไม่ให้เหลือตกหล่นไว้ให้เลย
แม้สำหรับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงอย่างไรเมื่อผ่านมาบนเก้าอี้ตัวนี้มานานกว่า 10 ปี ถือว่าสั่งสมประสบการณ์ มีความ "เขี้ยว" ทางการเมืองในระดับสูงสุดแล้ว เมื่อเทียบกับคนอื่นหรือนักการเมืองจากพรรคอื่น และเหมือนกับ "รู้ชะตากรรม" ล่วงหน้า ว่าภารกิจข้างหน้า "สุดหิน" แทบมองไม่เห็นทางชนะได้เลย จึงใช้คำว่า"ขึ้นเขา" ส่วนจะเป็นแบบ "เข็นครกขึ้นภูเขา" หรือไม่ เชื่อว่าทุกคนคงจะมองออก
แม้ก่อนหน้านี้หรือล่าสุด หลังจากที่ได้ชัยชนะในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศพร้อมเป็นแกนนำรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน เป็นพรรคหลัก ไม่ใช่ตัวเลือก แต่ในความเป็นจริงแล้ว แนวโน้มของพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเป็น "พรรคตัวแปร" ในการตั้งรัฐบาลผสมคราวหน้าเท่านั้น ส่วนจะสวิงไปทางไหน ก็น่าติดตามโดยเฉพาะ จะสามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และพรรคเครือข่ายได้หรือไม่ต่างหาก
หรืออีกทางหนึ่ง เป็นพรรคหลักในรัฐบาลผสมเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีอยู่สองทางเลือกให้เดิน
**สำหรับภารกิจของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะแม่ทัพประชาธิปัตย์ ในการสู้ศึกเป็นครั้งที่ 5 ที่เมื่อพิจารณาจากทุกองค์ประกอบเท่าที่มี ยังมองไม่เห็นทางชนะ เพียงแต่ว่าหลังจากนั้นเขาจะ "เลือกตัดสินใจแบบไหน" ต่างหาก นี่แหละที่น่าสนใจกว่า เพราะมันสุดหินเหมือน "ขึ้นเขา" แบบที่ว่าจริงๆ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น