xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรต้านโกงหนุนป.ป.ช. กก.สภามหาลัยต้องยื่นบัญชี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึง กรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมยื่นใบลาออกเนื่องจากไม่พอใจ ประกาศ ป.ป.ช. ที่ให้ นายกฯ และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ว่า ยอมรับว่า กก.สภามหาวิทยาลัย ล้วนเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ เก่ง และเป็นคนดี แต่ก็ปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้งว่า มีบางมหาวิทยาลัย ที่มีการทุจริต เกื้อกูลระหว่างผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ร่วมกับกก.สภาฯ โดยเฉพาะตัวนายกสภามหาวิทยาลัย สร้างปัญหาให้กับระบบการศึกษา และงบประมาณของประเทศอยู่เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่า การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างภาระให้กับคนไทยทุกคน ทำให้รัฐบาลนี้ต้องออก กม. สร้างมาตรการมาควบคุม ส่งผลให้คนดี ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย
"มีรายงานของ สกอ.ระบุว่าปัญหาคอร์รัปชัน มีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของไทย เริ่มตั้งแต่การซื้อขายตำแหน่ง ข้าราชการ อาจารย์ ที่อยากได้ตำแหน่งทางวิชาการ ต้องวิ่งเต้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยากได้โครงการ ทางสภามหาวิทยาลัยก็อนุมัติ พอสภามหาวิทยาลัยอยากได้งบประมาณ หรือไปดูงานต่างประเทศ ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัย ก็อนุมัติให้เช่นกัน คือ เรียกได้ว่า "ผลัดกันเกาหลัง" ประกาศของ ป.ป.ช. ชุดนี้ จึงเป็นสิ่งที่ป.ป.ช. ต้องทำ และ ป.ป.ช.ได้ทำอย่างถูกต้องเหมาะสมตาม กม.แล้ว ดังนั้น คงต้องมาพิจารณาถึงข้อกังวลของแต่ละคนว่า คืออะไร ที่ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้" ดร.มานะ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ต้องยื่นบัญชีอยู่แล้วเกือบ 40,000 คน และตามประกาศป.ป.ช.ใหม่ ทำให้มีผู้ต้องยื่นเพิ่มอีก 3,000 คน ที่รวมถึงองค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นนักธุรกิจเอกชน เป็นพ่อค้า หรือนักวิชาการด้วย แต่ขณะนี้มีเสียงโต้แย้ง เฉพาะกก.สภามหาวิทยาลัย ผู้ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 81 มหาวิทยาลัยของรัฐ ประมาณ 500 ท่าน
"จึงอยากให้ทางกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะเจ้าของกฎหมาย และเจ้าของเรื่องทำงานเชิงรุก คือเดินสายไปชี้แจง และทำความเข้าใจกับผู้บริหารกรรมการสภามหาวิทยาลัยในจังหวัดต่างๆว่าใครติดขัด ไม่เข้าใจอะไร และทำความเข้าใจกัน อะไรที่คิดว่าเป็นเงื่อนไข เป็นวิธีการ หรือมีเอกสารที่ยุ่งยากเกินไป กรรมการป.ป.ช. จะได้รับทราบ และแก้ไขทันที"
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นหลักการสากล ที่ทุกประเทศสมาชิกพึงกระทำในเรื่องจริยธรรมของข้าราชการ ที่ต้องมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ ซึ่งในรธน. และแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ก็ระบุไว้ด้วย เพราะฉะนั้นใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อยากให้ยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ
"หากมีการยกเลิก ประชาชนก็จะคิดว่า ชนชั้นสูง คนมีอำนาจ คนร่ำรวย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อออกกติกาแล้วพอถึงเวลาไม่ชอบ ก็จะไม่ยอมทำ แล้วอย่างนี้จะไปให้ความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันยังไง อันนี้เป็นสิ่งที่เรากลัว และสิ่งที่จะตามมาก็คือ คนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ ก็จะเลือกทำในสิ่งที่เขาคิด เลือกทำในสิ่งที่มีโอกาส ตรงนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น