xs
xsm
sm
md
lg

“ บิ๊กตู่”ถูกปลอมเพจเฟซบุ๊ก “มาร์ค”ชี้ปฏิเสธยากไม่เกี่ยวการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (18ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสังเกตในเฟซบุ๊ก มีการใช้ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอขา”“ ประยุทธ์ จันทร์โอชา”ประมาณ 8 เพจ และล่าสุดวันเดียวกันนี้ มีการเลียนแบบเพจจริงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (เพจปลอม) โดยทั้งรูปและข้อความ มีการกอปปี้จากเพจจริงมาใช้ทั้งหมด จนเกือบแยกไม่ออก มีเพียงจุดที่แตกต่างที่หน้าเพจ ที่ต่อจากชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ บ้านคนรักลุงตู่ ส่วนเพจจริง จะเป็นภาษาอังกฤษต่อท้าย Prayut Chan-o-cha
ทั้งนี้เพจที่ทำเลียนแบบมานั้น เพิ่งเปิดใช้เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ทำให้ข้อความและภาพต่างๆ ที่แม้จะก็อปปี้มาจากเพจจริง ล่าช้ากว่ามาก นอกจากนี้ในเพจปลอม มีคนติดตามเพียง 3,000 กว่าคน ส่วนเพจจริง ล่าสุดมีคนตามแล้ว 252,802 คน โดยเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขานายกฯ ฝ่ายการเมือง ที่ดูแลในเรื่องการสื่อสาร เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เพจเลียนแบบดังกล่าวก็ปลิวหายไปจากเฟซบุ๊กแล้ว โดยนายพุทธิพงษ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ของที่ปลอมก็ไม่ควรอยู่นาน นะครับ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย สื่อสารกับประชาชนในช่วงนี้ว่า เป็นปกติ เราต้องยอมรับว่าเมื่อประชาชนทั่วไป เขามีการเปลี่ยนแปลงช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสาร จากเดิมอาจจะเป็นสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เป็นหลัก แต่ตอนหลังนี้ ก็มาทางสื่อสังคมออนไลน์ เพราะฉะนั้นคนที่เป็นบุคคลสาธารณะ และมีหน้าที่จะต้องสื่อสารกับประชาชนอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องปรับตัว หันมาใช้ช่องทางเหล่านี้ เพื่อที่จะเข้าถึงประชาชน ซึ่งตรงนี้ไมได้เป็นปัญหา แต่บังเอิญคสช. เองกลับไปเขียนว่า การใช้โซเชียลมีเดียทำได้ แต่ห้ามหาเสียง เลยทำให้จะเกิดปัญหาขึ้นว่า จะตีความอย่างไร ใครจะอยู่ในข่ายการบังคับตรงนี้บ้าง
เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่าทำไมนายกฯ ถึงต้องมาทำในช่วงใกล้เลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมองง่ายๆว่า เป็นเรื่องจังหวะทางการเมืองนั่นแหละ ซึ่งปฏิเสธได้ยาก เพราะถ้าบอกว่าอยากจะใช้ช่องทางนี้ทำงาน แต่ช่องทางนี้ ก็มีให้ใช้มาตั้งหลายปีแล้ว การที่บอกว่าจะมารับฟังปัญหาเพื่อนำไปแก้ไข ซึ่งความจริงทำได้ตั้งแต่ต้นแล้ว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ให้ กกต.ดูการเคลื่อนไหวหาเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการหาสมาชิกพรรคด้วย เป็นการเอาเปรียบพรรคอื่น ที่ไม่สามารถทำได้ ว่า เป็นกระบวนการภายในพรรค การจะบอกกับสมาชิกว่า ใครสมควรจะเป็นหัวหน้าพรรค ไปขอคะแนนเสียงก็ต้องบอกเขาว่า จะนำพาพรรคไปทางไหนซึ่งพรรคการเมืองอื่น ตนก็ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ถ้าอยากจะเลือกหัวหน้าพรรคแบบตน ก็ยินดี จะได้เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่กันทำเอง เพราะพรรคเขาไม่ได้ใช้วิธีนี้ เขาก็ไม่คุ้นเคย แต่ประชาธิปัตย์ตอนนี้เราก้าวไปถึงจุดนี้แล้ว ไม่ได้มีวาระอื่นแอบแฝง และได้แจ้ง กกต.ไปว่า สิ่งที่จะต้องทำตามกฎหมายพรรคการเมือง หรือ คำสั่ง คสช. มีอะไรบ้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรค ตามข้อบังคับพรรค
กำลังโหลดความคิดเห็น