xs
xsm
sm
md
lg

เงินกู้พิสดารในรัฐสารขัณฑ์

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


ช่วงวันหยุดพิเศษ 3 วันการเมืองยังเคลื่อนไหวตามสภาพ แต่โครงสร้างโดยรวมของบ้านเมืองไม่ส่อแววว่าจะดีขึ้นอย่างไร แม้จะมี “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” กว่าจะประกาศและให้รัฐบาลใหม่ทำตามนั้น สถานการณ์ทั่วไปในโลกน่าจะแทบไม่เหลือพื้นฐานเดิมๆ

ที่สำคัญ รัฐบาลกุมอำนาจปัจจุบัน ได้เริ่มทำอะไรให้เห็นเนื้อเห็นหนังบ้างหรือยังตามยุทธศาสตร์ชาติ เช่นเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรอินทรีย์” ปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ แต่ที่ชาวบ้านได้รับรู้พฤติกรรม ก็คือ “พูดอย่างทำอย่าง ปากว่าตาขยิบ ดีแต่พูดมาก”

ความพิลึกกึกกือคือ “อาชญากรรม” ด้วยการมอบความตายผ่อนส่งให้ชาวบ้านผ่านสารพิษเคมีเกษตร ส่งผลให้เกิดโรคร้ายสารพัดต่อสุขภาพของประชาชน ถือว่าเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ทำลายสุขภาพของทรัพยากรมนุษย์อย่างเลือดเย็น

ประชาชนอยู่ในสภาพเสี่ยงกับโรคภัยจากอาหารด้วยนโยบายของรัฐ! นอกจากความล้มเหลวในการปฏิรูปบ้านเมือง ยังมีสภาวะ “โกงกระจุก รวยกระจุก จนกระจาย” ทั่วทุกหย่อมหญ้า ชาวบ้านอกไหม้ไส้ขม ไร้ทางออก ชะตากรรมของประเทศไม่แน่นอน

ผู้ประกอบการธุรกิจก็มีทุกข์จากปัญหาเศรษฐกิจและพฤติกรรมซ่อนเงื่อน ดังเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นในดินแดนสารขัณฑ์คนที่ตกอยู่ในสภาวะร่ำไห้ไม่ได้ ร้องเรียนใครก็ไม่ได้

เอามาเล่าให้ฟัง ช่วงที่การเมืองยังอยู่ในวังวนน้ำเน่าสไตล์สารขัณฑ์ก็แล้วกัน!บริษัทมหาชนสารขัณฑ์รายหนึ่งมีเรื่องพิลึกๆ มาโอดครวญว่าได้กู้ยืมเงินก้อนใหญ่จากธนาคารของรัฐสารขัณฑ์ ปัจจุบันบริษัทยังติดในกับดักหนี้ แม้จะมีเงินไปล้างหนี้ได้หมดก็ยังติดบ่วง ส่อเค้าว่าความยุ่งยากจะนำไปสู่การเสียเงินมากกว่าที่ควรจะเป็น

ในปี 2545 บริษัทมหาชนสารขัณฑ์รายนี้ ได้ขอสินเชื่อจากธนาคารมหาชนสารขัณฑ์เพื่อดำเนินโครงการบ้านเอื้อคนรายได้น้อยตามโควตารัฐสารขัณฑ์ 60,000 ยูนิต มูลค่าโครงการ 27,000 ล้านบาท ได้ร่วมทุนกับบริษัทก่อสร้างจากจีนและมาเลเซีย

บริษัทมหาชนมีหน้าที่ในการจัดหาที่ดินที่เหมาะสมทางการตลาด ซึ่งการเคหะแห่งชาติสารขัณฑ์ ต้องให้การอนุมัติในการจัดซื้อที่ดินทุกแปลง โดยบริษัทมหาชนได้ขอสินเชื่อจากธนาคารมหาชนสารขัณฑ์ เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ทุกอย่างดูราบรื่นยิ่งนัก

เมื่อการเมืองทำให้เปลี่ยนรัฐบาล ก็มีการลดงานก่อสร้างและจัดจำนวนบ้านเอื้อคนรายได้น้อยจากนโยบายเดิมที่จะจัดสร้าง 600,000 ยูนิต คงเหลือ 200,000 ยูนิต ทำให้บริษัทได้รับการก่อสร้างเพียง 20,000 ยูนิต มูลค่าโครงการลดเหลือ 9,000 ล้านบาท

เมื่อขนาดโครงการลดลงถึง 2 ใน 3 ส่วน บริษัทมหาชนสารขัณฑ์ได้รับความเสียหายจากการลงทุนค่าที่ดิน และการสร้างระบบสาธารณูปโภคของที่ดิน แต่ก็ได้ชำระหนี้มาตลอด จนประสบปัญหาการเงินทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเดิม

ในปี 2549 ธนาคารสารขัณฑ์ได้ฟ้องบริษัท โดยมียอดหนี้รวม 988 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ของเงินต้นประมาณ 899 ล้านบาทบริษัทได้รับอนุมัติจากธนาคารให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในเดือนกรกฎาคม 2549 แนวโน้มดูน่าจะไปได้ดี

บริษัทได้ชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยต่อเนื่องให้ธนาคารเป็นเงินประมาณ 1,025 ล้านบาท แต่ช่วงหนึ่งบริษัทติดค้างชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้อยู่ 9.4 ล้านบาท จากความผิดพลาดของการปรับโครงสร้างการบริหารงานของบริษัท

บริษัทได้แจ้งความต้องการที่จะชำระหนี้ที่เหลือ 9.4 ล้านบาทให้กับธนาคารโดยธนาคารได้คิดดอกเบี้ยค้างจ่ายร้อยละ 15 รวมเป็นวงเงินที่จะต้องจ่ายให้กับธนาคารประมาณ 21.39 ล้านบาท จากเงินต้น 9.4 ล้านบาทที่ค้างจากการผิดพลาดการชำระ

เงินส่วนนี้บริษัทได้ติดต่อชำระหนี้ให้กับธนาคารไปหมดแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เพื่อจะขอให้ธนาคารได้ส่งคืนหลักประกันที่ดินที่บริษัทนำไปวางไว้กับธนาคารเกือบ 100 ไร่ แต่กว่าธนาคารจะตอบรับและรับเงินค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย ก็ย่างเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งถือว่าใช้เวลาหลายเดือนพอสมควรสำหรับรัฐสารขัณฑ์

ตามธรรมเนียมสารขัณฑ์บริษัทเชื่อว่าเมื่อชำระเงินค้างจ่ายและดอกเบี้ยแล้วน่าจะไถ่ถอนหลักประกันคืนให้บริษัทได้ แต่ธนาคารยังไม่ยินยอมที่จะให้ไถ่ถอนหลักประกันแม้บริษัทได้ทำหนังสือทวงถามขอไถ่ถอนหลักประกันให้กับบริษัทก็ตาม

บริษัทได้รับการยืนยันกลับจากธนาคารว่า บริษัทจะต้องชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นอีก 400 ล้านบาท ถึงจะให้ไถ่ถอนหลักประกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดบริษัทได้จ่ายคืนหนี้ที่ค้างชำระ 9.4 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยไปแล้วรวมเป็นเงิน 21.39 ล้านบาท

เมื่อเรื่องออกมาแนวนี้ กลับกลายมาเป็นว่าเงินจำนวนนี้ไม่ใช่ยอดแท้จริงต้องคืนดอกเบี้ยค้างจ่ายด้วย 400 ล้านบาท โดยธนาคารได้กลับไปคิดคำนวณจากเงินต้นที่กู้ก่อนหน้านี้ 988 ล้านบาทบวกดอกเบี้ยร้อยละ 15 เท่ากับต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก

ใครเป็นต้นความคิดดอกเบี้ยตามรูปแบบธุรกิจกู้เงินแบบสารขัณฑ์?

เรื่องนี้ทำให้บริษัทสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร ถ้าจะคิดดอกเบี้ยค้างจ่ายก็ต้องคิดจากเงินต้นงวดที่เหลืออยู่ 9.4 ล้านบาท แต่ธนาคารกลับไปคิดอีกแบบ จากนั้นบริษัทได้รับการแจ้งจากฝ่ายบริหารธนาคารว่าถ้าอยากได้หลักทรัพย์คืนให้ไปฟ้องร้องเอา

ใครได้ฟังเรื่องอย่างนี้ ต้องตบหน้าผาก “โชคดีที่ไม่โดนกับตัวเรา”

เรื่องพรรค์นี้น่าจะเกิดได้ในดินแดนสารขัณฑ์เท่านั้น ถ้าเป็นจริงตามที่บริษัทสารขัณฑ์อ้างแล้ว ถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติภาคพิสดารของสถาบันการเงินของรัฐสารขัณฑ์ เป็นภาระของผู้รับผิดชอบรัฐสารขัณฑ์ต้องตรวจสอบว่ามีใครต้องการอะไร

น่าจะมีรายอื่นๆ ด้วยนะ เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสได้โวยวาย หรือไม่กล้าเท่านั้น!


กำลังโหลดความคิดเห็น