xs
xsm
sm
md
lg

"กอบศักดิ์"ยัน"4รมต.พปชร." พร้อมออกเมื่อถึงเวลาเหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"กอบศักดิ์" ยัน"4 รมต.พปชร."ไม่เอาเปรียบคู่แข่ง-ตรวจสอบได้ ลั่นถึงเวลาพร้อมสวมหมวกใบเดียว "สุริยะใส" เชื่อ ถึงจุดหนึ่งว่าที่ กรรมการบริหาร พปชร.อาจไขก๊อกจากครม. เลี่ยงการตกเป็นเป้าโจมตี "องอาจ" เตือน"บิ๊กตู่" อย่าใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ เพื้อประโยชน์พวกพ้อง จะทำให้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ

วานนี้ (30 ก.ย.) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ว่าที่โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงถึงกรณีที่มีการเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ 4 รัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ หลังจากประกาศตัวร่วมงานกับ พปชร.อย่างเต็มตัว ว่า ขอยืนยันตามที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้าพรรคได้ประกาศไว้ว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็จะมาสวมหมวกเพียงใบเดียวคือ พปชร. ส่วนที่เกรงกันว่า 4 รัฐมนตรีของพรรค จะใช้อำนาจต่างๆ เป็นการเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมืองนั้น ท่านว่าที่หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ว่าที่เลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโล ว่าที่ รองหัวหน้าพรรค ก็ยืนยันว่า จะไม่มีการใช้เวลารวมถึงการใช้ทรัพยากรต่างๆ ของรัฐ ไปเอาเปรียบพรรคอื่นๆ

"ในเรื่องนี้ผมมั่นใจว่า จะทำให้โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ " ว่าที่โฆษก พปชร. กล่าว

ส่วนที่มี รายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ในภาคต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น ในขณะนี้ นายกอบศักดิ์ อาอาราธนาหลวงไม่เป็นความจริง เพราะพรรคฯเพิ่งจะจัดตั้งได้เพียง 1 วันเท่านั้น อีกทั้งยังต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ตามที่กม.กำหนดอีก และยังมีเวลาอีกมากในการคัดสรรผู้สมัครส.ส. ของพรรค

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า พรรค พปชร. เป็นพรรคการเมืองที่โยงกับรัฐบาล และคสช.ด้วย จึงมีความได้เปรียบกว่าพรรคอื่นๆ เพราะมีอำนาจรัฐในมือ แต่จุดแข็งตรงนี้ อาจจะกลายเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน ถ้าบริหารจัดการไม่ดี แม้รธน. หรือกม.ที่เกี่ยวข้อง จะไม่ได้บังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลาออกก็ตาม แต่สังคมจะตั้งคำถามถึงความชอบธรรม ฉะนั้น ต้องจัดความสัมพันธ์ในการทำงานจากนี้ไปอย่างระมัดระวังที่สุด เพราะจะเป็นเป้าโจมตีให้กับพรรคคู่แข่งทางการเมือง หรือสะดุดขาตัวเอง ซึ่งต้องระมัดระวัง ให้มาก

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง เช่น เมื่อ กกต.รับรองความเป็นพรรคของพรรคพลังประชารัฐ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็อาจจะลาออกในตอนนั้น เพื่อมาทำพรรคเต็มตัว และหลีกเลี่ยงการถูกโจมตี และอาจจะมีการปรับ ครม.อีกครั้ง ก่อนเลือกตั้งก็เป็นไปได้

ปชป.ห่วงเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การเปิดตัว 4 รัฐมนตรี เป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ ว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า พรรคนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ก่อนหน้านี้จะมีการปฏิเสธเรื่องนี้ แต่สังคม และวิญญูชนสามารถสัมผัสได้ ถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าว

"สิ่งที่เป็นห่วงคือ รัฐมนตรีทั้ง 4 คน หรือท่านใดที่ยังอยู่ในรัฐบาล ต้องพึงระมัดระวังการใช้อำนาจหน้าที่ในรัฐบาลไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง เพื่อปูทางไปสู่การหาคะแนนนิยมให้กับตัวเอง และพวกพ้อง เพราะใกล้จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทย จึงต้องทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับจากสังคมทุกภาคส่วน เพราะฉะนั้น การกระทำของผู้มีอำนาจในการใช้อำนาจ เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยมิชอบ การใช้อำนาจ แทรกแซงการทำงานองค์กรอิสระ หรือ แสวงหาความนิยมในรูปแบบต่างๆ ผ่านเครือข่ายข้าราชการ จะส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง เพราะจะทำให้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ" นายองอาจ กล่าว

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา35 กล่าวว่า เป็นที่รับรู้เป็นการทั่วไปว่าเป็นการตั้งพรรคขึ้นมารองรับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตนได้เตือนสติท่านมาโดยตลอดว่า อย่าคิดสืบทอดอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดความสูญเสีย หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ แต่เมื่อท่านสนใจการเมือง ก็ขอให้ลาออกจาก ตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้าคสช. เพราะท่านเข้ามาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 เพื่อเป็นกรรมการ ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลปกติ ที่เมื่อมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้ว ไม่ได้มีอำนาจเต็ม แต่รัฐบาล คสช.มีอำนาจเต็ม และยังมีอำนาจพิเศษตาม ม.44 อีก เพราะเขียนรธน. ให้คงอำนาจตัวเองไว้ ตัวอย่างการใช้อำนาจ ม.44 แต่งตั้งข้าราชการทางการเมืองหลายตำแหน่ง สุดท้ายก็เห็นชัดว่า เข้าสังกัดพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจ แล้วอย่างนี้จะทำให้ใครเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่ใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองที่ตัวเองตั้งขึ้นมา แล้วการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรม ก้าวพ้นความความขัดแย้งได้อย่างไร

ดังนั้น หากพล.อ.ประยุทธ์ จะเล่นการเมืองจริง ก็ให้ลาออกจากตำแหน่งทันที แล้วค้นหาบุคคลที่ประชาชนคิดว่าเป็นกลาง และไม่มีผลประโยชน์ส่วนตน เข้ามารับหน้าที่เป็นรัฐบาลบริหารประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

ด้านนายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึง การเปิดตัวพรรค พปชร. เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า เป็นไปตามคาดหมายที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ มาเป็นเลขาธิการพรรค นอกจากนี้ ยังมีอดีตแกนนำ กปปส. ที่รับหน้าที่ในรัฐบาล มาเป็นผู้บริหารพรรคด้วย

ทั้งนี้ ข้อดีของการเปิดตัวครั้งนี้คือ เป็นการแสดงตัวตนที่ชัดเจน ได้ต่อสู้กันตามกติกา ประชาชนจะได้ไม่สับสน แต่ข้อเสียคือ มีข้อกังวลว่า การที่บุคคลเหล่านี้ยังมีตำแหน่งในรัฐบาล มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการ พิจารณางบประมาณ และมีอำนาจใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐได้ ดังนั้นจะวางตัวอย่างไร ไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น เพราะต้องยอมรับว่า รัฐบาลนี้เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร

"ทางที่ดี เพื่อความสง่างามในการต่อสู้ทางการเมือง คนที่เป็นผู้นำพรรคนี้ ควรลาออกจากตำแหน่ง น่าจะดีกว่า แต่ก็ไม่สามารถเรียกร้องหรือบังคับอะไรได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. จะประกาศสนับสนุนพรรคการเมืองใด เมื่อไหร่นั้น หากท่านประกาศเร็ว ก็ดี ทุกอย่างจะได้ชัดเจน แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ท่านจะยังไม่ประกาศอะไรเร็วๆ นี้ เพราะคงกลัวเรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์" นายนพดล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น