xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทอท. อุ้มสม “เทอร์มินอลศาลเจ้า” ดันทุรัง ระวัง “ค่าโง่”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทันทีที่ศาลปกครอง มีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวการประกวดออกแบบอาคาร 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ตามที่กลุ่มบริษัท เอสเอ กรุ๊ป ฟ้องร้อง ผู้บริหารใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ถึงกับตีปีกพรึ่บพรั่บขานรับคำสั่ง เร่งรีบเซ็นสัญญากับ “กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค” เจ้าของแบบ “เทอร์มินอลศาลเจ้า” ตัวจริง คิดเอง ไม่ได้ลอกใคร? โดยไม่หวั่นว่าจะมีรายการ “ค่าโง่” ตามมาหรือไม่

ต้องไม่ลืมว่า ศาลปกครอง แค่มีคำสั่ง “ไม่คุ้มครองชั่วคราว” ไม่ได้หมายความว่า คดีนี้สิ้นสุดไปแล้ว เพราะศาลปกครอง ได้รับคำร้องของกลุ่มเอสเอ ไว้พิจารณาคดีในสารบบแล้ว จากนี้ศาลจะนัดไต่สวนคดีก่อนจะมีคำตัดสินออกมา ถึงเวลานั้นแหละถึงจะรู้ว่าที่สุดแล้วใครจะแพ้หรือชนะ

หาก ทอท.เกิดดันแพ้เอกชนขึ้นมาก็เตรียมตัวควักจ่ายค่าโง่ชดใช้ค่าเสียหายแก่เอกชนตามคำเรียกร้อง

การประกวดออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เกิดเป็นคดีขึ้นมาเมื่อบริษัท แสปน คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ไซน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางพร้อมทั้งขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะกรรมการ ทอท.ระงับการพิจารณาอนุมัติหรือเห็นชอบผู้ชนะการประกวดแบบและราคา เอาไว้ก่อน ต่อมา เมื่อวันที่ 17 ก.ย 2561 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดี ไม่คุ้มครองชั่วคราว

โดยสาระสำคัญในคำสั่ง คือ หากศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีก็อาจมีผลให้การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ต้องล่าช้าออกไปอีก อาคารผู้โดยสารเดิมไม่สามารถรองรับผู้โดยสารที่มีอัตราสูงเพิ่มขึ้นมาก อันเป็นปัญหาอุปสรรคในการบริการสาธารณะ ประกอบกับความเสียหายที่มีการกล่าวอ้างเพื่อขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราว

ทั้งนี้ ตามกฎหมายระบุว่า คำสั่งศาลที่ไม่รับคำขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นให้ถือเป็นที่สุด ส่วนผู้ฟ้องคดีอาจเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ ซึ่งไม่ยากแก่การเยียวยาในภายหลังหากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชนะคดี

ย้ำอีกครั้ง หากศาลมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องชนะคดี ผู้ฟ้องอาจเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ นี่ต้องขีดเส้นเน้นย้ำให้ได้รู้กันถ้วนทั่วว่าบอร์ด ทอท. ยุคนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธาน โดยมี นายนิตินัย ศิริสมรรถการ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ต้องอ้าแขนกางขารับผิดชอบหากเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง
ดวงฤทธิ์ บุนนาค
แต่หากว่าถึงที่สุดแล้ว ทอท.เป็นฝ่ายชนะคดี ก็ต้องบันทึกไว้ในทางกลับกันด้วยว่า บอร์ด ทอท. ชุดนี้ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.คนนี้ กล้าหาญตัดสินใจเพื่อให้งานใหญ่ของแผ่นดินไม่ล่าช้า ทันการณ์กับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ เฉกเช่นเดียวกัน

ภายหลังศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวแล้ว ในการประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2561 บอร์ดได้มีมติเห็นชอบให้ ทอท.ดำเนินงานจ้างสำรวจออกแบบกับกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือ ‘กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค’ ที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 หลังจากที่เอสเอกรุ๊ปที่ได้คะแนนอันดับ 1 ถูกปรับตก เพราะไม่ได้แนบเอกสารต้นฉบับใบเสนอราคา ซึ่งเอสเอกรุ๊ป เห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะไม่ได้รับต้นฉบับใบเสนอราคาตั้งแต่ต้นจนไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองดังกล่าวข้างต้น

ตามกำหนดการแล้ว ทอท.คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาจ้างสำรวจออกแบบฯ ได้ภายในเดือน ก.ย. 2561 และดำเนินการออกแบบก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน จากนั้น ทอท.จะนำแบบไปประมูลงานก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปลายปี 2562 และแล้วเสร็จในปลายปี 2564 เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อีก 30 ล้านคนต่อปี

สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มูลค่าก่อสร้าง 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าออกแบบ 329 ล้านบาท โดยมีเอกชน 4 รายที่สนใจยื่นซองประมูล 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่ม นิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสเอ-เออาร์เจ หรือกลุ่ม "ดวงฤทธิ์ บุนนาค" กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท เดอะโบว์มอนท์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด, บริษัทอีจิสเรล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทซีอีแอล เอ็นจิเนียส์ จำกัด, บริษัท ซีอีแอล อาร์คิเทคส์ แอนด์ เอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด, บริษัท อลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, EGIS AVIA และ EGIS RAIL S.A.

กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท วาร์ดา แอสโซซิเอทส์ จำกัด, บริษัท ไวสโปรเจ็คคอลซัลติ้ง จำกัด และบริษัท จงลิม อาร์คิเทกเจอร์ จำกัด และ กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัทร่วมทำงาน เอส เอ ได้แก่ บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัทไชน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อะซูซาเซคเคอิ จำกัด และบริษัทสกายปาร์ตี้ จำกัด

กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัทร่วมทำงาน เอส เอ ได้แก่ บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัทไชน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อะซูซาเซคเคอิ จำกัด และบริษัท สกายปาร์ตี้ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้คะแนนด้านเทคนิคที่มีคะแนนสูงสุด

แต่การเจรจาต่อรองราคาที่ผ่านมา ปรากฏว่าคณะกรรมการว่าด้วยพัสดุ (กวพ.) อ้างว่ากลุ่มเอส เอ ไม่มีการแนบใบเสนอราคา "ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับจากทาง ทอท." ตามที่ระบุในข้อ 13.3.1 ของข้อกำหนดรายละเอียดงานจ้างสำรวจออกแบบ โครงการหลังที่ 2 จึงปรับตกบริษัทดังกล่าว และเรียกกลุ่มที่ 1 กลุ่ม "ดวงฤทธิ์" มาเจรจาต่อรอง ซึ่งต่อมากลุ่มที่ 4 ได้ทำหนังสือคัดค้านผลการพิจารณาและตัดสินดังกล่าว

สำหรับแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าไป “ลอก” แบบจากพิพิธภัณฑ์สะพานไม้ Yusuhara ในประเทศญี่ปุ่น มาแทบทั้งดุ้น ตลอดจนมีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมของจีน-ญี่ปุ่น จนได้ “เทอร์มินอลศาลเจ้า” มาแทน “ความเป็นไทย” ทั้งที่เป็นสถานที่สำคัญ เป็นประตูบานแรกของประเทศ นั้น ทอท. แก้ต่างว่า เป็นเพียง Conceptual Design ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญากับ ทอท.จะต้องปรับแบบตามข้อเสนอแนะและสอดคล้องกับความต้องการใช้งานของ ทอท. แม้กระทั่ง “วิดีโอพรีเซนต์เตชั่น” ยังละม้ายคล้ายคลึงกับวิดีโอพรีเซนต์ของ “สนามบินอิสตันบูล” ทั้งมุมกล้องทั้งฟ้อนต์ตัวอักษร หรือโครงสร้างภายในที่เหมือนราวกับเป็น “สนามบินฝาแฝด” แค่เปลี่ยนวัสดุเป็น “ไม้” ขณะที่วัสดุที่เป็นไม้จะมีปัญหาเรื่องการติดไฟง่ายนั้นจะใช้เป็นวัสดุทดแทนที่ไม่ติดไฟ อีกทั้งปัญหาเรื่องการบำรุงรักษา “ช่องไม้” ซึ่งดูจะเป็นทำเลทองให้เหล่า “นกกระจิบ - นกกระจอก” มาทำรัง

“อุ้มสม” กันขนาดนี้ ได้แต่หวังว่าจะไม่มีรายการ “ค่าโง่” ตามมา และอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 จะรองรับการใช้งานได้อย่างดีมีการปรับแก้ให้สะท้อนความเป็นไทย ย้ำจุดขายความมีเอกลักษณ์กับนักท่องเที่ยวอย่างภาคภูมิ



กำลังโหลดความคิดเห็น