xs
xsm
sm
md
lg

บัตรคนจน...ประชานิยมเสพติด

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา


โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนระยะที่ 2 ซึ่งช่วยให้ประชาชนประมาณ 3.9 ล้านคน ได้รับเงินเพิ่มอีก 100-200 บาท จากเดิมที่ได้รับ 200-300 บาทต่อเดือน และบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับเงินเพิ่ม แห่เข้าคิวตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทยอย่างล้นหลาม

เงินเพียง 100-200 บาท จะคุ้มกับต้นทุนการเดินทางหรือไม่ คุ้มหรือเปล่ากับเวลาที่เสียไปจากการร่วมโครงการอบรมอาชีพ และยังต้องเดินทางมาเข้าคิวรอกดเงินจากตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทยอีก เพราะยังไม่มีใครคำนวณต้นทุนของประชาชนที่เข้าคิวรับเงิน

โครงการบัตรคนจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แม้พยายามเลี่ยงบาลี จะเรียกนโยบายอะไรก็ตาม แต่ไม่ได้แตกต่างจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร แต่อย่างใด

และแม้จะเป็นบัตรคนจน แต่ไม่ได้ช่วยคนจนสักเท่าไหร่ แต่ช่วยเจ้าสัวใหญ่ 4-5 ตระกูลมากกว่า และไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด แม้จะอัดเงินเข้ามาในโครงการประมาณ 30,000 ล้านบาทก็ตาม โดยเฉพาะโครงการระยะที่ 1 ซึ่งกำหนดให้ผู้ได้รับบัตรจำนวน 11.4 ล้านคน ใช้บัตรจับจ่ายสินค้าในร้านประชารัฐหรือร้านค้าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

บัตรคนจน เกิดขึ้นในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเช่นเดียวกับโครงการประชานิยมของรัฐบาลนายทักษิณ เมื่อเกิดขึ้นแล้วเลิกยาก เพราะถ้าเลิกอาจเกิดการลุกฮือต่อต้านของประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ

บัตรคนจนจึงเป็นภาระผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป โดยต้องตั้งงบประมาณประจำปีมาจ่าย แต่จะหาเงินจากไหนมาอุดหนุน เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเงินขาดดุลอยู่แล้ว ต้องกู้เงินมาชดเชยงบประมาณที่ขาดดุล

โครงการบัตรคนจนใช้เงินปีละประมาณ 40,00-50,000 ล้านบาท หมายถึงต้องหากู้เงินมาสนับสนุน ไม่เฉพาะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะต้องกู้เท่านั้น แต่รัฐบาลชุดต่อๆ ไปจะต้องกู้ด้วย จนกว่าจะล้มเลิกโครงการ

แต่จะมีรัฐบาลไหนกล้าล้มโครงการ ในเมื่อประชาชนเสพติดนโยบายประชานิยมไปแล้ว

ถ้าโครงการบัตรคนจนสามารถช่วยปลดทุกข์ บรรเทาความเดือดร้อน สนับสนุนให้คนจนมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้จริง ทำไมประชาชนส่วนใหญ่จะไม่สนับสนุน ใครจะวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านนโยบายประชารัฐของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

แต่เพราะนโยบายประชารัฐ ไม่ได้แตกต่างจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลนายทักษิณ โดยเป็นโครงการที่มีเป้าหมายสร้างคะแนนนิยมเมือง โดยนำงบประมาณไปละเลงทิ้ง ก่อหนี้สินให้ลูกหลาน สร้างค่านิยมผิดๆ ให้ประชาชน

บัตรคนจนของพล.อ.ประยุทธ์ จึงถูกต่อต้านตั้งแต่การนำเสนอแนวคิด

การหางบปีละ 4-5 หมื่นล้านบาทสนับสนุนโครงการบัตรคนจน เป็นภาระที่หนักมาก เพราะฐานะการเงินการคลังของประเทศยังไม่ดี งบประมาณรายจ่ายประจำในแต่ละปี ยังเป็นงบขาดดุลต่อเนื่อง และไม่อาจประมาณการได้ว่า เมื่อไหร่จะเข้าสู่ช่วงงบประมาณสมดุล โดยรายรับเท่ากับรายจ่าย

แม้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังไม่สูงนัก โดยเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 มีหนี้สาธารณะทั้งสิ้น 6.49 ล้านบาท หรือ 40.78% ของจีดีพี แต่ถ้ามีการก่อหนี้ต่อไป ถึงจุดหนึ่งหนี้สาธารณะอาจเข้าสู่วิกฤต เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย เพราะปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว

และประเทศเวเนซุเอลา เป็นกรณีศึกษาล่าสุด โดยชนวนสำคัญของการล่มสลาย เกิดจากการก่อหนี้ในโครงการประชานิยม ซึ่งประเทศไทยอาจเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำตามรอยเวเนซุเอลาได้เหมือนกัน

ประชากรประมาณ 70 ล้านคน มีประชาชนเข้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเดือนละ 300-500 บาท แต่มีคนที่มีรายได้และเสียภาษีปีละประมาณ 1.22 ล้านคน

จำนวนประชาชนที่รอรับความช่วยเหลือกับประชาชนที่ต้องมีภาระจ่ายภาษีมีสัดส่วนที่แตกต่างกันมาก คำถามคือ คนที่เสียภาษี จะแบกรับภาระจากนโยบายประชานิยมได้ขนาดไหน

จำนวนผู้เสียภาษีในแต่ละปีจะขยายตัวหรือไม่ และจำนวนเงินที่แต่ละคนต้องจ่ายภาษีจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา การค้าขายฝืดเคือง กำลังซื้อตายสนิท

งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี จำนวนการก่อหนี้สูงขึ้นในแต่ละปี แต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถ้าไม่เพิ่มขึ้นหรือเติบโตไม่ทัน หนี้สาธารณะจะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดจะกลายเป็นหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จนประเทศเกิดความระส่ำระสาย ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์คงไม่ต้องรับผิดชอบกับหายนะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อวันนั้นมาถึง ครม.ชุดนี้คงหายหัวไปหมดแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น