xs
xsm
sm
md
lg

“แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(ฉบับใหม่)” แกล้งมองไม่เห็นประชาธิปไตยพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

กว่า 100 ปีมาแล้วที่การตัดสินใจ การบริหารและความเป็นเจ้าของระบบการผลิตไฟฟ้าทั่วทั้งโลกต่างก็อยู่ในมือของคนจำนวนน้อย กระแสไฟฟ้าซึ่งโดยหลักการแล้วสามารถไหลได้ 2 ทิศทาง แต่ก็ได้ถูกบังคับให้ไหลออกจากโรงไฟฟ้าไปสู่ผู้บริโภคนับหลายล้านคนในทิศทางเดียวมาตลอด แล้วกระแสเงินก็ต้องไหลออกจากกระเป๋าของคนจำนวนมากไปสู่กระเป๋าของเจ้าของโรงไฟฟ้าจำนวนไม่กี่รายในทิศทางเดียวเช่นกัน ความเหลื่อมล้ำซึ่งนักวิชาการบอกว่าเป็นต้นเหตุของความชั่วร้ายทั้งปวงจึงเพิ่มขึ้นๆ

คนส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับ (หรือยอมจำนน) ในการรวมศูนย์อำนาจของกิจการดังกล่าว เพราะเทคโนโลยีมีความสามารถเพียงแค่นั้น แต่ในช่วงประมาณ 10 ปีมานี้ เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งเทคโนโลยีการสื่อสาร (ซึ่งช่วยเสริมพลังกันและกัน)ได้ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่มีราคาลดลงมากจนคนส่วนใหญ่สามารถเป็นเจ้าของได้ ระบบการตัดสินใจ การบริหารและความเป็นเจ้าของกิจการไฟฟ้าในหลายประเทศจึงได้เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ จากรวมศูนย์เป็นกระจายศูนย์ จากผูกขาดเป็นการกระจายอำนาจ จากที่เคยไหลได้ทางเดียวเป็นไหลได้สองทาง เงินที่เคยกระจุกตัวอยู่ในกระเป๋าคนจำนวนน้อย ก็กระจายและหมุนอยู่ในชุมชนท้องถิ่นจำนวนมาก ความเหลื่อมล้ำก็เริ่มลดลง

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คนไทยเราต้องจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 6.5 แสนล้านบาท (ประมาณ 4 ถึง 5% ของจีดีพี) ลองจินตนาการดูซิครับว่า ถ้ารัฐบาลที่ชอบท่องคาถาว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มีความต้องการจะปฏิบัติตามคาถาดังกล่าวจริงๆ แล้ว สังคมไทยจะน่าอยู่มากขึ้นแค่ไหน ความเหลื่อมล้ำจะลดลง เผลอๆ เงินที่รัฐบาลช่วยเหลือคนจนที่ต้องใช้เงินภาษีมาจ่ายก็อาจจะไม่จำเป็น แต่ใช้เงินจากการขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากหลังคาบ้านตนเองนั่นแหละ

ก่อนที่จะลงรายละเอียดในเรื่องแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือแผนพีดีพี(ฉบับใหม่) ผมขอสรุปในสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วด้วยศัพท์ทางวิชาการว่าคือ “ประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy)” ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ คือ (หนึ่ง) มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมาก (สอง) มีประสิทธิภาพ สูญเสียน้อย ราคาถูก (สาม) ปล่อยคาร์บอนต่ำ ใช้น้ำน้อย ไม่ปล่อยมลพิษ (สี่) มีความเป็นท้องถิ่น ทั้งการโดยการตัดสินใจและการได้รับผลประโยชน์ และ (ห้า) มีความเป็นธรรม

แนวคิดที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ส่วนใหญ่มาจากการศึกษาจากผลงานวิจัยของสถาบันเพื่อการพึ่งพาตนเองของท้องถิ่น (Institute for Local Self-Reliance) ซึ่งผมได้นำสาระสำคัญบางประการมาไว้ในแผ่นภาพด้วย

ภาพขวามือบนสุด แสดงว่า 4 สำนักวิจัยที่มีชื่อเสียงของโลกได้พยากรณ์ราคาแบตเตอรี่ในอนาคตสูงกว่าความเป็นจริงค่อนข้างมาก (พยากรณ์เมื่อปี 2012) ทั้งนี้เพราะว่ามีความก้าวหน้าที่รวดเร็วมากของเทคโนโลยีอย่างที่ไม่มีใครคาดถึง หลังจากนั้นได้มีการพยากรณ์ใหม่ (ในปี 2018-ภาพล่างขวามือ) พบว่าใน 2030 ราคาแบตเตอรี่จะมีราคา 73 ดอลลาร์ต่อหน่วยไฟฟ้า (หรือ kwh)

ผมได้คำนวณให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ต้นทุนในการเก็บกระแสไฟฟ้าจะเท่ากับ 0.60 บาทต่อหน่วยเท่านั้น และจะมีอายุการใช้งานได้นานถึง 13.7 ปี

ที่กล่าวมาแล้วเป็นต้นทุนของแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อนำมาร่วมกับโซลาร์เซลล์พบว่า ต้นทุนกระแสไฟฟ้าซึ่งจะมีใช้อย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืนในราคาหน่วยละ 4.5 เซ็นต์ หรือ 1.47 บาทต่อหน่วย โดยจะเริ่มส่งไฟฟ้าเข้าระบบในรัฐแอริโซนาภายในปี 2019 อายุโครงการ 20 ปี

จากผลการศึกษาขององค์กรหนึ่ง (อ้างอิงในภาพ) พบว่าถ้าติดตั้งโซลาร์เซลล์อย่างเดียวบนหลังคาบ้านในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ (ซึ่งมีศักยภาพของแสงอาทิตย์ใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก) จะต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปีจึงจะคุ้มทุน แต่ถ้าติดแบตเตอรี่ด้วยจะคุ้มทุนภายใน 6.2 ปีเท่านั้น (หมายเหตุ ราคาไฟฟ้าขายปลีกในรัฐอิลลินอยส์เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 เท่ากับ 12.56 เซ็นต์หรือ 4.18 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ต้นทุนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์แพงกว่าในประเทศไทยประมาณ 2 เท่า)

คราวนี้ลองมาดู “แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (ฉบับใหม่)” ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นก็จะผ่านมติคณะรัฐมนตรี แล้วประกาศใช้ในที่สุด โดยที่แผนนี้มีอายุการใช้งานนานถึงปี 2579 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า ผมได้ตัดภาพหลักการสำคัญในการจัดทำแผนซึ่งมี 3 ประการ คือ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ดังภาพ

โปรดสังเกตนะครับว่า ไม่มีเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงสูงติดอันดับ 3 ของโลกไม่มีการพูดถึงสาระสำคัญของประชาธิปไตยพลังงาน

นอกจากนี้ในเรื่องความมั่นคงยังมีการนำเรื่อง “การกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิง” ซึ่งในแผนเดิม (2558) หมายถึงการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติและการเพิ่มการใช้ถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปหมดแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “โรงไฟฟ้าหลัก (baseload)” และโรงไฟฟ้าที่ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีค (สูงสุดในบางช่วงเวลาของวันหรือของปีหรือ Peaker) นักวิจัยที่ผมอ้างถึงในภาพแรก ผลงานตีพิมพ์ของนักวิชาการบางคน รวมทั้งวิศวกรที่เคยทำงานในโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเดนมาร์ก (ที่เคยมาบรรยายในประเทศไทย แต่ไม่มีคนของภาครัฐเข้าฟังแม้แต่คนเดียว) ต่างสรุปตรงกันว่า “โรงไฟฟ้าหลักตายแล้ว”

เพราะเราสามารถคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าล่วงหน้าได้ เตรียมตัวได้ และสามารถใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แทน Peaker เดิม (ซึ่งมักเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และเขื่อน) ได้เรื่องนี้รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งใช้ไฟฟ้มากกว่าประเทศไทยเล็กน้อยได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วโดยใช้โซลาร์จำนวนกว่าหนึ่งหมื่นเมกะวัตต์ กังหันลมกว่าสามพันเมกะวัตต์ ลองคลิ๊กดูแบบ real time ครับ (http://www.caiso.com/TodaysOutlook/Pages/supply.aspx)

ประเทศเยอรมนี ไม่มีการกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิง แต่ได้ตราเป็นกฎหมายว่า “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งได้ก่อน โดยไม่จำกัดจำนวน” ปัจจุบันราคาประมูลไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่ถึง 3 บาทต่อหน่วย

การกำหนดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง จะขัดกันเองกับการส่งเสริม Micro Grid (ในหลักการด้านสิ่งแวดล้อม) เพราะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินจะต้องทำสัญญาแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” ที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่าย” ยิ่งใช้ไฟฟ้าจาก Micro Grid มาก ยิ่งต้องจ่ายเงินโดยไม่ได้ไฟฟ้ามากขึ้น

ปัจจุบัน คนไทยต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายปีละประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ไม่ว่าโรงไฟฟ้าเหล่านั้นจะได้เดินเครื่องผลิตหรือไม่ หรือได้เดินเฉพาะในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงซึ่งเกิดขึ้นปีละไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม

นี่คือภาระที่เราจำใจหรือยอมจำนนต้องจ่าย เนื่องจากถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าเหล่านี้ก็อาจจะเกิดไฟฟ้าดับ สร้างความเสียหายมากกว่าค่าความพร้อมจ่ายก็เป็นได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าพอ

มาถึงวันนี้ ไม่ใช่แค่มีความเป็นได้ แต่เป็นไปแล้วอย่างรวดเร็วมากด้วย ว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่บวกโซลาร์เซลล์บวกกังหันลม สามารถแก้ปัญหาเดิมในระบบไฟฟ้าได้ทุกปัญหา

ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ อดีตผู้นำการเคลื่อนไหวด้านพลังงานหมุนเวียนที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้สรุปบทเรียนว่า “ความผิดพลาดที่สำคัญของกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานก็คือ เราไปเชื่อว่าผู้บริหารประเทศและผู้ประกอบการจะนำการปฏิรูป ซึ่งก็จะเหมือนกับการให้พ่อค้าบุหรี่นำการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่นั่นเอง”

บ้านเราเองก็เช่นเดียวกันครับ ทั้งๆ ที่พลังอำนาจการตัดสินใจจากล่างขึ้นบนซึ่งเป็นหัวใจของ “ระบอบประชาธิปไตย” ได้เกิดขึ้นแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น