xs
xsm
sm
md
lg

แตกพรรคลุยเลือกตั้ง อย่าคิดว่าทักษิณจะจนตรอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ผมเคยคิดว่าทักษิณเป็นนักธุรกิจ เมื่อเห็นว่าการลงทุนทางการเมืองไม่คุ้มค่าแล้ว เขาอาจจะถอย แต่จนถึงขณะนี้ทักษิณก็ยังไม่มีทีท่าจะถอย อาจเป็นเพราะทักษิณมองว่า เขายังหาผลประโยชน์จากการลงทุนทางการเมืองได้อยู่ หรือไม่ทักษิณเป็นคนสู้ไม่ถอยซึ่งเท่ากับว่าการที่ผมมองทักษิณคิดแบบนักธุรกิจเป็นเรื่องที่ผิด

ณ วันนี้ทักษิณยังแสดงท่าทีชัดว่าเขาเป็นเจ้าของพรรค เป็นคนกำหนดนโยบายและการก้าวเดินของพรรค นักการเมืองในพรรคเพื่อไทยทุกคนจึงยังต้องวิ่งไปหาเขาเพื่อแสดงความจงรักภักดีหรือแสดงความเชื่อมั่นในตัวเขา และใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนที่กำหนดก็คือทักษิณคนเดียว

พรรคเพื่อไทยจึงไม่ต่างกับบริษัทของตระกูลชินวัตร ดังนั้นคนที่จะมากุมบังเหียนบริษัทเพื่อไทยต้องเป็นคนที่ทักษิณไว้วางใจ แม้จะเคยวางคนนอกมาเป็นหัวหน้าพรรคในบางครั้ง แต่จะเห็นว่า คนนอกนั้นเป็นพวกที่ไม่มีรัศมีอะไร และเป็นเพียงคนที่ว่านอนสอนง่ายเท่านั้น

นั่นเท่ากับเป็นสิ่งสะท้อนที่ชัดเจนว่า ไม่มีประชาธิปไตยในพรรคเพื่อไทย แม้จะประกาศตัวเสมอมาว่าพวกตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็ตาม

ทักษิณฉลาดที่รู้ดีว่าตอนนี้คนไทยกำลังเบื่อตัวละครการเมืองหน้าเดิมๆ ตอนแรกมีข่าวออกมาว่าจะตั้ง “ลูกเขย” ตัวเองมาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งสะท้อนภาพของคนรุ่นใหม่และคนหน้าใหม่ทางการเมืองที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดพอดี แต่ต่อมาก็มีข่าวว่าไม่ใช่ความจริง แต่เชื่อว่าทักษิณเป็นพ่อค้าที่เข้าใจตลาด เขาไม่น่าจะเลือกคนเก่าที่มีภาพของความขัดแย้ง แต่น่าจะเป็นคนที่เข้ากันได้กับทุกฝ่าย

แต่สำคัญที่เห็นชัดเจนก็คือ ฝ่ายของทักษิณนั้น เข้าใจโจทย์การเมืองที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึงซึ่งจะทำให้พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยนั้นมีโอกาสได้เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์น้อย

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมจะลองคิดให้ดูโดยการหยิบเอาผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มาเทียบเคียงโดยใช้กติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญ ครั้งนั้นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 51 ล้านคน ถ้ามาใช้สิทธิ์ 70%เท่ากับครั้งที่แล้วประมาณ 35 ล้านคนเศษเมื่อเอา500ที่นั่งมาหารเท่ากับที่นั่งละประมาณ 70,000 คะแนน พรรคไหนได้จำนวน ส.ส.เท่ากับคะแนนเฉลี่ยแล้วจะไม่ได้เพิ่มเช่น พรรค ก.ได้ 7 ล้านเสียงจะมี ส.ส.ตามเกณฑ์คือ 100 คน ถ้าได้ ส.ส.เขต 95 คนจะได้ปาร์ตี้ลิสต์อีก5คน แต่ถ้าได้ส.ส.เขตแล้ว 100 คนหรือมากกว่านั้นจะไม่ได้เพิ่ม

การเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยไ ด้ส.ส.เขต 203 คน และได้ปาร์ตี้ลิสต์ 61 คน ผมไม่มีคะแนนรวมของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยในทุกเขตเลือกตั้ง แต่จะใช้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคเพื่อไทยได้ในปีนั้น 15,744,190 คะแนนเป็นตัวตั้ง เมื่อหารแล้วพรรคเพื่อไทยจะมี ส.ส.ได้ตามระบบใหม่ 224 คน เมื่อได้ส.ส.เขตไปแล้ว 203 คน พรรคเพื่อไทยจะได้ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มเพียง 21 คน จะเห็นว่าในปี 2554 พรรคเพื่อไทยมีส.ส.2 ระบบรวมกันถึง 264 คนเท่ากับจะหายไป40คนเลย

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่แล้วได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 11,433,501 ได้ส.ส.เขต 115 คนได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 44 คน รวม 159 คน ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังรักษาคะแนนประมาณนี้ไว้ได้ พรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.รวม 163 คน เท่ากับว่าจะได้ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มมา 4 คน ดีกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ดังนั้นเมื่อโอกาสของส.ส.บัญชีรายชื่อในพรรคใหญ่มีน้อย สมาชิกส่วนใหญ่หรือเบอร์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยน่าจะหนีไปลงพื้นที่กันหมด เมื่อคนลงสมัครในเขตพื้นที่เป็นเบอร์ใหญ่คนสำคัญคนเหล่านี้ก็น่าจะดึงคะแนนเสียงได้มากขึ้น และจะส่งผลดีต่อคะแนนรวมของพรรค เมื่อคะแนนของพรรคมากส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็จะเพิ่มจำนวนตามมา

ดังนั้น ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะใช้แผนนี้คือส่งเบอร์ใหญ่ของพรรคในการเป็นผู้สมัครในเขตเลือกตั้งเพื่อโกยคะแนน

และเมื่อพรรคใหญ่มีโอกาสได้ปาร์ตี้ลิสต์น้อย และพรรคเล็กมีโอกาสได้ปาร์ตี้ลิสต์มากกว่า สิ่งที่ฝ่ายของทักษิณทำก็คือ การแตกพรรคลงไปสู้ศึกเลือกตั้งเพื่อชิงเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน

พรรคแรกเป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เอาอนุรักษ์นิยม และต้องการถอนรากถอนโคนโครงสร้างเก่าของสังคมไทยอย่าง “พรรคอนาคตใหม่” อาจจะไม่ใช่การแตกตัวของพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่ชัดเจนว่าจุดยืนและแนวทางทางการเมืองนั้น พรรคนี้เป็นพันธมิตรกับพรรคของทักษิณอย่างแน่นอน

การเกิดของพรรคอนาคตใหม่กับภาพลักษณ์ที่เป็นกบฏต่อค่านิยมแบบเก่าๆ นั้น ถูกใจคนรุ่นใหม่จำนวนมาก เพราะพื้นฐานของคนรุ่นใหม่นั้นมีความคิดที่เป็นกบฏอยู่แล้ว พรรคนี้จึงสามารถดึงคะแนนจากคนรุ่นใหม่ได้มาก และการเลือกตั้งครั้งนี้มีคนอายุ 18-25 ปีที่เพิ่งจะมีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรกถึง8ล้านคน(คนที่มีอายุ18ปีหลังการเลือกตั้งปี 2554 วันนี้มีอายุ 25 ปีขึ้นแล้ว)

เท่าที่ทราบมีหลายครอบครัวทีเดียวที่แม้พ่อแม่จะไม่เอาระบอบทักษิณ แต่ลูกที่อยู่ในวัยนี้ชื่นชอบแนวทางของพรรคอนาคตใหม่ที่คล้ายกับจะเป็นพรรคตัวแทนของคนรุ่นเขา โดยไม่ได้สนใจว่า พรรคอนาคตใหม่มีความสัมพันธ์อย่างไรกับพรรคเพื่อไทยของทักษิณ

ส่วนที่เปิดตัวใหม่อีกพรรคก็คือ พรรคประชาชาติ ของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งรวมสมาชิกที่เป็นมุสลิมและน่าจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อขอคะแนนคนที่เป็นมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และคงหวังผลถึงมุสลิมในภาคอื่นด้วย โดยมีสถิติว่าประเทศไทยมีประชากรมุสลิมประมาณ 7 ล้านคน

แล้วผมเชื่อว่าพรรคของทักษิณจะแตกย่อยไปอีกเป็นพรรคต่างๆ อีกมาก เพราะเป็นที่รู้กันว่า พรรคเพื่อไทยนั้นระดมอดีต ส.ส.ไว้จำนวนมาก ตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทยและกรรมการพรรคถูกตัดสิทธิ์ ต้องหาคนใหม่มาทดแทน แล้วยุบพรรคพลังประชาชนแล้วกรรมการพรรคถูกตัดสิทธิ์อีก แต่วันนี้คนถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมดพ้นโทษแบนกลับมาสมัครได้หมดแล้ว ดังนั้น จึงต้องแตกพรรคออกไปให้มาก สอดคล้องกับแนวทางการนับคะแนนแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้พรรคเล็กได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาก

เป้าหมายสำคัญของฝั่งระบอบทักษิณก็คือ ต้องรวมกันให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.500คน ถ้าทำได้จะทำให้การตั้งรัฐบาลของฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะดุดทันที เพราะแม้จะตั้งรัฐบาลมีเสียงเกินครึ่งของสองสภาได้ แต่ถ้าในสภาผู้แทนมีเสียงไม่ถึงครึ่งก็ยากที่จะบริหารประเทศได้

เป้าหมายที่สองก็คือตั้งรัฐบาลโดยการรวม ส.ส.ให้ได้มากกว่ า376 เสียง ครึ่งหนึ่งของสองสภา ซึ่งถามว่า เป็นไปได้ไหม ผมคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้นะครับ เพราะถ้าฝั่งของทักษิณคือ เพื่อไทย+อนาคตใหม่+ประชาชาติ รวมกันเกิน 251 คนแล้ว มันจะเป็นแรงดึงดูดให้พรรคการเมืองวิ่งเข้ามาหา เพราะต่อให้พรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ชิงตั้งรัฐบาลก่อนเพราะมีเสียง ส.ว.250คนอยู่แล้ว แต่ถ้าในสภาผู้แทนมีจำนวนไม่ถึง 251 คน มันเห็นชัดว่าไปร่วมด้วยก็ไปไม่รอด

ถามว่าวันนั้นถ้าสถานการณ์เป็นอย่างที่ว่าคือ ฝ่ายทักษิณรวมกันได้เกินครึ่งของสภาผู้แทน พรรคสุพรรณบุรี พรรคชลบุรี พรรคโคราช พรรคนครปฐม พรรคบุรีรัมย์จะเลือกไปทางไหน ที่สำคัญคือพรรคประชาธิปัตย์จะเอาอย่างไร ไปรวมกับพรรคชูพล.อ.ประยุทธ์แล้วอยู่ใต้อำนาจไปอีก8ปีหรือจะจับมือกันในฝั่งนักการเมืองเพื่อออกจากทหาร

ส่วนทางออกของฝั่งสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรืออื่นๆ อีกถ้ามี จะต้องได้จำนวนรวมกันเกิน 251 เสียง

แต่เมื่อมองจากสภาพความเป็นจริงของการเมืองไทยเราน่าคิดออกได้ไม่ยากว่าฝั่งไหนจะมีโอกาสได้จำนวน ส.ส.เกิน 251 คนมากกว่ากัน ถ้าให้ผมตอบตอนนี้เลย ผมก็เชื่อว่า ฝั่งของทักษิณน่าจะมีโอกาสมากกว่า

ถ้าสถานการณ์หลังเลือกตั้งเป็นอย่างนี้คือ ฝ่ายทักษิณรวมกันได้เกิน 251 คน แต่จะตั้งรัฐบาลต้องได้ส.ส.376 คนซึ่งยากกว่าฝั่งพรรคหนุนประยุทธ์ตั้งรัฐบาลได้แน่แค่มีเสียง ส.ส.126 คน แต่ไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนก็บริหารประเทศไม่ได้ ถึงตอนนั้นน่าจะต่อรองกันหนักซึ่งกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ก็น่าจะเกิดความวุ่นวายและปัญหาตามมาไม่น้อย ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดด้วยว่า หลังเปิดสภาแล้วจะต้องตั้งรัฐบาลได้ในอีกเวลาเท่าไหร่

แต่ถ้ายังตั้งรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงอยู่ต่อไป และยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 อยู่ในมือ

เพียงแต่ผมยังคาดเดาไม่ได้ว่า สมมติ พล.อ.ประยุทธ์ยอมมาอยู่ใน 3 รายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปจนถึงได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่หลังการเลือกตั้งไหม ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก็น่าจะเป็นอะไรที่ประหลาดมากและน่าจะสร้างข้อครหาให้ตามมามาก

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ถอยลงมาอยู่ในรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอในระหว่างการเลือกตั้ง ผมก็ยังคิดว่า ไม่น่าที่จะกล้าปล่อยมือให้คนอื่นรักษาการนายกรัฐมนตรีไปนะครับ แม้จะเป็นเรื่องที่ควรทำตามสปิริต แต่ถึงวันนี้ผมค่อนข้างเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่น่ากล้าที่จะปล่อยมือ

ดังนั้น ถามว่า การเมืองหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ผมยังเชื่อแบบหลายคนเชื่อนะครับว่า พรรคของทักษิณน่าจะยังครองใจคนได้มากในภาคเหนือและอีสาน และกลยุทธ์ที่ใช้ในการแตกพรรคเพื่อแย่งปาร์ตี้ลิสต์นั้น อาจทำให้การเมืองหลังเลือกตั้งไม่มีทางออกถ้าฝ่ายของทักษิณฯสามารถยึดสภาผู้แทนได้เกินครึ่ง

การเลือกตั้งนั้นตัดสินกันด้วยมือของประชาชนหนึ่งคนหนึ่งเสียง พรรคของทักษิณไม่เคยแพ้มาเลยในระยะ 10 ปี และมี 2 ครั้งที่สร้างประวัติศาสตร์ได้ผู้แทนเกินครึ่งของสภาผู้แทน ยังมองไม่ออกเลยว่า วันนี้มีอะไรที่เปลี่ยนใจประชาชนของทักษิณ

ใครที่คิดว่าทักษิณหมดฤทธิ์แล้ว ก็อย่าเพิ่งวางใจไปและประมาททักษิณจนเกินไป

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น