xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค”เผยจุดยืนร่วมรัฐบาล แฉแก้"ไพรมารี"ขจัดอุปสรรคดูดส.ส.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (30 ส.ค.) นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เข้ายื่นหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ พรรคปรับบทบาท เพื่อสืบสานเจตนารมณ์พฤษภา 35 โดยขอให้สร้างความสามัคคีปรองดอง ทำตามเสียงประชาชน ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล กับพรรคร่วมคสช. อันเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการที่ทำลายประชาธิปไตย
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ตนพูดชัดเจนว่า ต้องการนำบ้านเมืองออกจากวิกฤตที่สืบทอดมาเป็นเวลาสิบปี โดยปชป.พร้อมที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายนี้ และได้แสดงจุดยืนแล้วว่า ต้องเริ่มจากการเลือกตั้งที่สุจริต และเป็นธรรม ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ได้มาตรฐานความเป็นประชาธิปไตย ผู้มีอนาจต้องไม่ใช้อำนาจในทางไม่ชอบหรือเอารัดเอาเปรียบ กกต.ต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ในการทำให้การเลือกตั้งสุจริต แก้ปัญหาการซื้อเสียง
นอกจากนี้ แม้รธน.จะกำหนดให้ส.ว. 250 คนมีอำนาจในการเลือกนายกฯได้ ก็ขอให้วุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งในความเห็นของพรรคปชป. ใครที่รวบรวมเสียงได้เกินครึ่งหนึ่ง ของสภาผู้แทนราษฎร สมควรได้จัดตั้งรัฐบาล หากทำตามหลักการนี้ ก็จะเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เป็นการเคารพสิทธิประชาชน และสอดคล้องกับเจตนารมณ์การต่อสู้ของประชาชนในปี 2535 อีกทั้งพรรคมีแนวทางที่จะเสนอต่อประชาชน บนพื้นฐานหลักคิดประชาธิปไตย รวมถึงประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจ การวางบทบาทของรัฐที่เหมาะสมในวิถีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ฉะนั้น หากมีใครที่มีแนวคิดไม่สอดคล้องกับแนวทางนี้ พรรคคงไม่ไปร่วมด้วย
ส่วนการคลายล็อกพรรคการเมือง หลังพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ทางพรรคเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่ตอนนี้จะมีการแก้กม.อีก ซึ่งไม่ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร พรรคก็ต้องปฏิบัติให้ได้ แต่ก็แปลกใจว่า ตอนนี้จะใช้รูปแบบคณะกรรมการสรรหาในการวางตัวผู้สมัครส.ส. ซึ่งไม่สามารถเรียกว่า เป็นการทำไพรมารีโหวตได้ เนื่องจากการหยั่งเสียงแบบไพรมารี ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับการที่ คณะกรรมการบริหารพรรค หรือคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ไปรับฟังความเห็น เพราะบทบัญญัติแบบนี้ รธน.ปี 50 ก็มี ก็ไม่ได้เรียกว่าไพรมารีโหวต หรือ ไพรมารีโหวต ฉบับย่อ ดังนั้น การจะทำอะไร ควรให้ความจริงกับประชาชน ถ้าไม่อยากทำ ไม่พร้อมที่จะทำ ก็พูดตรงๆ ประชาชนจะได้ไม่สับสน
" ผู้มีอนาจในปัจจุบันเข้ามา แล้วบอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูประบบให้ดีขึ้น หลายครั้งได้แสดงความรังเกียจแนวทางแบบเดิมๆ แต่ขณะนี้พอจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมไม่ได้เห็นด้วย 100 % แต่เจตนาที่จะทำ ผมว่าหลายพรรคการเมืองก็พร้อมที่จะทำ แต่ยังไม่ทันปฏิบัติ ก็มาเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เหตุผลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ คงเป็นเพราะหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจ ที่มาทำการเมือง เพราะจะเปลี่ยนสภาพตัวเองจากกรรมการมาเป็นผู้เล่น ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับกติกา เนื่องจากไพรมารี จะเป็นอุปสรรคต่อการดูด ดูดไม่สะดวก เพราะไปตกปากรับคำใครเขาต้องมาผ่านกระบวนการไพรมารี ไปแอบตกลงว่า ช่วงท้ายๆให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ มันทำไม่ได้ เพราะว่าผู้สมัคร ส.ส. ต้องผ่านไพรมารี ของพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง วันนี้ปัญหาข้อกฎหมายมีข้อเดียว ซึ่งเป็นความบกพร่องของสนช.เอง คือ ควรเปิดโอกาสให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้เร็วๆ และให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายได้ เมื่อแก้ไขตรงนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบไพรมารีโหวต จากที่กม.พรรคการเมืองกำหนด เพราะพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามกม. ได้อยู่แล้ว " นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการใช้ มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายประกอบรธน. บ่อยครั้ง ว่า สะท้อนให้เห็นว่า หลักไม่แน่น เพราะเขียนเอง ลบเอง และ หลายครั้งที่ใช้มาตรา 44 มาแก้ไข ก็มีปัญหาว่าหลายบทบัญญัติขัดกันเอง จึงอยากให้ดูตามหลักความเป็นจริง อย่าเอาเรื่องการเมือง ความได้เปรียบเสียเปรียบเข้ามา เพราะการแปรสภาพจากกรรมการ มาเป็นผู้เล่น ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระดับหนึ่งอยู่แล้ว การมีความไม่แน่นอนในเรื่องของกติกาเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งเสรี เป็นธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นหัวใจที่จะเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาได้ อย่างไรก็ตาม พรรคมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกติกาทุกเรื่อง เพราะที่ผ่านมา พรรคไม่เคยหยุดรับฟังปัญหาของประชาชน และมีทางออกประเทศพร้อมเสนอต่อประชาชน หากมีการคลายล็อกให้ประชุมได้ก็จะเรียกประชุมทันที เพราะต้องเร่งแก้ข้อบังคับ และการรับสมาชิก
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ปฏิเสธที่จะวิจารณ์ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยบอกว่า จะประกาศทิศทางการเมืองชัดเจนในเดือนก.ย. เป็นการติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ แล้วค่อยตัดสินใจ เพราะยังมีเวลาอีกหลายเดือน โดยระบุว่า เป็นสิทธิของนายกฯ ซึ่งไม่คิดว่ามีผลอะไรเพิ่มเติม กับการเปลี่ยนแปลงคำพูดของผู้นำ
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า รัฐมนตรีในรัฐบาล จะไปเป็นหัวหน้า และเลขาธิการพรรคการเมือง โดยไม่ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีนั้น เห็นว่าเจตนารมณ์ของรธน. ผู้เขียนเขียนบนสมมติฐานว่า ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน จะไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงอยู่ที่ว่า จะเคารพเจตนารมณ์รธน. หรือไม่ แต่ถ้าเล่นแง่ ในเรื่องตัวอักษรก็สุดแล้วแต่ ทั้งนี้ยืนยันว่า การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในขณะที่เป็นหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรค ระหว่างรัฐบาลประชาธิปไตย กับรัฐบาล คสช. มีความแตกต่างกัน เพราะรธน. จะเขียนจำกัดอำนาจของรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ในบทเฉพาะกาลไม่เอาบทบัญญัตินี้มาใช้กับรัฐบาลคสช.ด้วยเหตุผลว่า ใครอยากลงสมัครสส.ต้องลาออกตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้ภายใน 60 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น