xs
xsm
sm
md
lg

จับแม่ค้าขายสาโท : ทำถูกแต่รุนแรงเกินเหตุ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ท่านผู้อ่านที่เป็นพุทธมามกะหรือไม่ได้เป็น แต่เคยเข้าร่วมพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นงานมงคล และอวมงคล ก็คงจะเคยได้ฟังพระสงฆ์ในพิธีให้ศีล 5 โดยมีข้อสุดท้ายคือให้งดเว้นจากการดื่มสุรา และเมรัย ซึ่งทำให้ผู้ดื่มประมาท ขาดสติ และนำไปสู่การกระทำผิดในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ผิดศีลธรรม และกฎหมายได้โดยง่าย

คำว่า สุรา ได้แก่น้ำเมา ซึ่งได้มาจากการต้มกลั่น

ส่วนคำว่า เมรัย ได้แก่น้ำเมา ซึ่งได้มาจากการหมักดอง

ในอดีต ผู้คนในสังคมไทยผลิตน้ำเมาทั้งสองชนิดนี้เพื่อบริโภคกันเองภายในชุมชน โดยใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบในการผลิต และเป็นการผลิตเพื่อบริโภคกันเองเนื่องในเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เป็นต้น และเนื่องในการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกในชุมชน เช่น ลงแขกเกี่ยวข้าว และทำนา เป็นต้น

ดังนั้น จึงพูดได้ว่า ทั้งสุรา และเมรัยเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการบริโภคของคนในชุมชนเอง ถึงแม้จะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายก็เป็นธุรกิจภายในครัวเรือน มิได้มุ่งผลิตเพื่อเป็นการค้าในระบบผูกขาด เฉกเช่นในทุกวันนี้

เมื่อมีการผลิตเพื่อการบริโภคภายในชุมชน คนภายในชุมชนก็ช่วยกันควบคุมดูแลแก้ไข และป้องกันเหตุร้ายอันอาจเกิดขึ้น เนื่องจากการดื่มสุรา และเมรัยได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงฝ่ายเดียวเช่นในทุกวันนี้ ทั้งนี้เนื่องจากว่าสังคมไทยในอดีต โดยเฉพาะในชนบทเป็นสังคมปฐมภูมิ รู้จักคุ้นเคยกันทั้งชุมชน ดังนั้น เมื่อมีใครสักคนดื่มมาก และอยู่ในภาวะที่ควบคุมตนเองไม่ได้ ก็จะมีคนห้ามมิให้ดื่มต่อไป และนำส่งกลับบ้าน ด้วยเหตุนี้การก่ออาชญากรรมอันเกิดจากการดื่มสุรา และเมรัย จึงเกิดขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน

อีกประการหนึ่ง ในอดีตเครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมาจากฤทธิ์ของแอลกอฮอลล์มีเพียงสุรากับเมรัยเท่านั้น จึงง่ายต่อการควบคุมการผลิต และการบริโภค

สุรา ซึ่งคนในชุมชนทำขึ้นโดยนำวัตถุดิบ เช่น ข้าวเหนียวซึ่งหุงหรือนึ่งจนสุกแล้วนำมาคลุกกับแป้งข้าวหมาก ปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นน้ำเมาแล้วนำไปต้มกลั่นเป็นสุรา โดยนำเครื่องเทศบางชนิดเช่น ชะเอม เป็นต้น ใส่ลงไปในน้ำหมักก่อนที่จะนำไปกลั่นเป็นสุรา จึงทำให้สุราที่ได้มีกลิ่นหอม และมีรสหวานของเครื่องเทศอยู่ด้วย

ส่วนเมรัยทำขึ้นโดยนำวัตถุดิบ เช่น ข้าวเหนียว เป็นต้น มาหมักจนเป็นน้ำเมา และนำไปดื่มโดยไม่ต้องผ่านการกลั่น และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละภาค เช่น ในภาคอีสานเรียก สาโท ภาคกลางเรียก กะแช่ ซึ่งทำจากการนำน้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลโตนดมาหมัก โดยใส่เปลือกไม้ที่มีรสฝาดเช่น เปลือกไม้พะยอม เป็นต้น และในภาคใต้เรียกว่า หวาก ซึ่งมีกระบวนการทำเช่นเดียวกันกับกะแช่ แต่ในภาคใต้ใส่ไม้เคี่ยมแทนเปลือกไม้พะยอม

ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไร และผลิตโดยใช้วัตถุดิบชนิดไหน ผลิตภัณฑ์ที่ได้คือสุราและเมรัยหรือน้ำเมาที่ให้โทษแก่ร่างกาย และทำลายบุคลิกภาพของผู้ดื่ม ถ้าดื่มบ่อยและในปริมาณที่มากเกินไปจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นทาสสิ่งเสพติดชนิดนี้ ด้วยเหตุนี้ศาสนาพุทธจึงได้ห้ามมิให้ดื่ม แต่ก็ได้อนุญาตให้นำสุรามาเป็นกระสายละลายปนกับยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยได้ ดังข้อความที่ปรากฏในพระวินัยที่ว่า เหล้าแทรกยาควร แต่ยาแทรกเหล้าไม่ควร หมายความว่า ถ้าเหล้าน้อยกว่ายาอนุญาตให้ดื่มเพื่อการรักษาโรคได้ แต่ไม่อนุญาตให้อ้างเหตุเพื่อดื่มเหล้าโดยอ้างว่าเป็นยา

แต่ถึงแม้ว่าประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และคำสอนของศาสนาพุทธในส่วนของศีลห้ามมิให้ดื่มสุรา และเมรัย รวมไปถึงสิ่งเสพติดให้โทษชนิดอื่นๆ ด้วยโดยอนุโลม

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ดื่มสุราและเมรัย ซึ่งมีตั้งแต่ดื่มเพื่อสันทนาการเนื่องในงานรื่นเริง พบปะสังสรรค์เป็นครั้งเป็นคราวไปจนถึงดื่มจนตกเป็นทาสน้ำเมา ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่ดาษดื่น ดังนั้น การที่จะห้ามมิให้มีการดื่มโดยเด็ดขาด คงจะทำได้ยาก จะทำได้ก็เพียงการควบคุมการผลิตและการจำหน่าย เพื่อป้องกันมิให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นเหตุให้เกิดการก่ออาชญากรรมในลักษณะการป้องปราม แต่จะต้องไม่ถึงกับทำให้การผลิต และการบริโภคในรูปแบบของวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในชุมชนสูญหายไป เนื่องจากการยึดกฎหมายอย่างเข้มงวด ดังที่เกิดขึ้นกับแม่ค้าขายข้าวหมาก แต่แอบขายสาโทควบคู่ไปด้วย และได้ถูกเจ้าหน้าที่สรรพสามิตจับกุม และเรียกค่าปรับ 50,000 บาท แต่มีการต่อรองเหลือ 10,000 บาท ซึ่งยังถือว่ารุนแรงเกินไป เมื่อเทียบกับจำนวนที่ขาย และราคาต่อหน่วยขายซึ่งมีเพียงวันละประมาณ 20 ถุง และถุงละ 20 บาท เมื่อหักต้นทุนแล้วคงเหลือกำไรเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัววันละไม่กี่บาท

จริงอยู่การผลิตและจำหน่ายสาโทโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่กฎหมายที่ว่านี้ออกมาเพื่อปกป้องการค้าผูกขาดเป็นการเอื้อประโยชน์นายทุนผู้ประกอบการรายใหญ่ และมองข้ามความจำเป็นในการหารายได้ของคนยากจน ทั้งยังเป็นการทำลายวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของผู้คนในชุมชนด้วย

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสุรา และเมรัยซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมของชุมชนดำรงอยู่ได้ น่าจะได้มีการทบทวนมาตรการควบคุมการผลิต และจำหน่ายน้ำเมาเสียใหม่ โดยอนุญาตให้ผู้คนในชุมชนผลิตสุรา และเมรัยในรูปแบบดั้งเดิมเพื่อการบริโภค เนื่องในเทศกาลและงานกิจกรรมร่วมกันของชุมชนได้เป็นครั้งคราว แต่จะต้องขออนุญาตทุกครั้ง แต่ไม่อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายในเชิงธุรกิจ ในขณะเดียวกัน จะต้องลดปริมาณการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่ลงด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายลด ละ และเลิกอบายมุข เพื่อให้คนไทยปลอดภัยจากโรคอันเกิดจากการดื่มสุรา และเมรัย


กำลังโหลดความคิดเห็น