xs
xsm
sm
md
lg

ภาระบนบ่าที่ลุงตู่ต้องแบก

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


อย่างที่เคยบอกว่าการเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเอื้อต่อลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง ซึ่งลุงตู่น่าจะมาในฐานะนายกฯ คนในที่พรรคการเมืองเสนอชื่อมากกว่านายกฯ คนนอก ที่ต้องผ่านกระบวนการที่ยุ่งยาก และยากที่จะเป็นไปได้

การมาจากนายกฯ คนในที่เสนอชื่อโดยพรรคการเมืองจะทำให้ลุงตู่มีความสง่ามากกว่า แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีฐาน ส.ส.ที่เข้มแข็ง พรรคพลังประชารัฐที่เชื่อกันว่าเป็นพรรคของลุงตู่จะต้องได้รับการเลือกตั้งมาในระดับที่มากพอสมควรเพื่อให้มีอำนาจต่อรองสูง เพราะมีแนวโน้มสูงมากว่าจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค

นั่นคือต้องมี ส.ส.มากกว่าทุกพรรคที่จะดึงเข้ามาร่วมรัฐบาลให้ได้ เช่น ถ้าจะดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วม ก็ต้องมี ส.ส.มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งที่ผ่านมาจะมี ส.ส.ระดับ 100 กว่าคนขึ้นไป พรรคประชาธิปัตย์จึงจะยอมให้ลุงตู่เป็นนายกฯ

แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ หากจะเข้าร่วมรัฐบาลก็น่าจะมีเงื่อนไขมาก เพราะพรรคประชาธิปัตย์เองก็ย่อมต้องการให้คนที่พรรคเสนอเป็นนายกฯ แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยอมลุงตู่ก็อาจจะต่อรองเพื่อเข้าไปบริหารในกระทรวงสำคัญ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจที่ลุงตู่มีมือทำงานอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์อยู่แล้ว

ความจำเป็นที่ต้องมี ส.ส.จำนวนมากนี่แหละที่เป็นเหตุให้กลุ่มสามมิตรที่แม้จะไม่เปิดเผยว่าทำในนามพรรคใด แต่คนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า เพื่อเป้าหมายให้ลุงตู่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีนี่เอง ดังนั้นการดูดสมาชิกพรรคเพื่อไทยมาเข้าร่วมจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะจะต้องลดทอนพรรคฝ่ายตรงข้ามให้ได้ ดีกว่าการไปดูดฝั่งพรรคประชาธิปัตย์เพราะมีฐานพรรคที่ใกล้เคียงกันและมีโอกาสจะจับมือกันมากกว่า

ดังนั้นแม้การดูด ส.ส.จะเป็นภาพของการเมืองเก่า และเป็นบุคคลที่ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณเคยร้องยี้มาก่อนจากมวลชนที่สนับสนุนตัวเอง ก็ต้องทำ เพราะเป็นหนทางเดียวที่อาจจะลดทอนพรรคของทักษิณลงได้

ส่วนการดูดจะได้ผลจริงหรือไม่ในการแย่งชิงพื้นที่ บอกตรงๆ ส่วนตัวผมยังเชื่อว่า ในภาคอีสานและเหนือนั้น ยังเป็นพื้นที่ของเพื่อไทย แต่การดูด ส.ส.พวกนี้ก็มีความหมายและความจำเป็นเพราะหากไม่ได้รับเลือกตั้งในพื้นที่ คนเหล่านี้ก็น่าจะได้รับคะแนนมากพอสมควร ซึ่งจะส่งผลต่อคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรค

อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตรเดียวคือ บัตรที่ลงคะแนนเลือก ส.ส.เขต แล้วเอาคะแนนของทุกคนในพรรคเดียวกันมารวมเป็นคะแนนของพรรคเพื่อหารเป็นบัญชีรายชื่ออีกที

เมื่อโอกาสเป็นนายกฯ ของลุงตู่มีสูง น่าจับตานะว่าลุงตู่จะบริหารรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมอย่างไร เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่มีมาตรา 44 ในมือจะต้องหมดไป และจะใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลไม่ได้เหมือนเก่าเพราะเป็นรัฐบาลผสม

แต่หมากกลทางการเมืองที่วางไว้ในองค์กรอิสระที่เกิดจาก สนช.ยุคนี้ ส.ว.ที่จะมาจากการเลือกตั้ง 250 คนของลุงตู่เอง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่ลุงตู่ตั้งมากับมือ และนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์เอง น่าจะช่วยทำให้ลุงตู่ทำงานได้อย่างราบรื่นถ้ากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันถ้านายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งไม่ใช่ลุงตู่ เจอหมากกลที่วางไว้นี้อาจจะทำให้รัฐบาลนั้นทำงานได้ยากขึ้น ดังนั้นภายใต้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญยังบังคับใช้ชอบไม่ชอบลุงตู่ก็ต้องบอกว่ามันเอื้อให้ลุงตู่กลับมาบริหารประเทศได้ง่ายที่สุด

แต่คำถามต่อไปว่า เมื่อลุงตู่เปลี่ยนเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่มาจากการรัฐประหาร สถานภาพย่อมจะต้องแตกต่างจากรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จทุกวันนี้ ด้านหนึ่งประชาชนที่ไม่ชอบรัฐบาลก็จะมีเสรีภาพมากขึ้น ลุงตู่ซึ่งเคยชินกับการใช้อำนาจจะเก็บอารมณ์กับแรงกดดันภายนอกได้ไหม

หากเรานึกถึงบุคลิกของป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งกว่า 8 ปีนั้น จะแตกต่างกับบุคลิกของลุงตู่มาก

ป๋าเปรมจะเป็นสไตล์นิ่งเงียบ สุขุม พูดน้อย เก็บอารมณ์ แต่ลุงตู่นั้นเป็นคนละด้านกันเลย ถ้ายังใช้อารมณ์แบบรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารตอนนี้ น่าคิดเหมือนกันว่าจะไปรอดไหม เพราะวันนี้สื่ออาจจะยังกลัวอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ถ้ามาจากการเลือกตั้งสถานภาพของลุงตู่ก็จะเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ความห่วงใยนั้นไม่เท่ากับคำถามที่ว่า ลุงตู่จะยังโอบอุ้มพี่ป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพี่ป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กลับมาร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้งอีกไหม และลุงตู่เคยได้รับเสียงสะท้อนต่อความน่าเชื่อถือที่ต่ำของพี่ทั้งสองคนไหม

รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารตอนลุงตู่เป็นผบ.ทบ.อาจจำเป็นที่จะต้องดึงพี่ชายสองคนมาร่วมรัฐบาล ด้านหนึ่งทั้งสองคนอาจจะเป็นที่ปรึกษาสำคัญให้ลุงตู่เข้ามายึดอำนาจเพราะเป็นผู้มีบารมี ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะทั้งสองคนมีบุญคุณกับลุงตู่ในการไต่เต้าขึ้นมาตามเส้นทางราชการในกองทัพ ในฐานะนายที่ดูแลกันมาตลอดชีวิต

แต่ถามว่าการตอบแทนบุญคุณกันจบสิ้นหรือยัง หรือถึงเวลาที่ลุงตู่จะต้องแยกแยกเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ของชาติหรือยัง หรือพร้อมหรือยังที่ลุงตู่จะต้องเดินบนถนนการเมืองโดยไม่มีพี่ทั้งสองคนประคับประคองอยู่ข้างๆ

อย่าลืมว่า ทุกวันนี้พี่ทั้งสองนั้นมีคำถามมากมายที่สังคมสงสัย โดยพล.อ.อนุพงษ์นั้น ถูกตั้งคำถามตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.ถึงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์หลายอย่างที่ไม่สามารถใช้ได้จริง ตั้งแต่เรือเหาะ ไม้ชี้ป่าช้า ฯลฯ แต่กระบวนการสอบสวนเอาผิดกลับไม่ระคายผิวของพล.อ.อนุพงษ์เลย ถ้าเทียบกับที่ยิ่งลักษณ์ทำให้รัฐเสียหายจากกรณีจำนำข้าวแม้ความเสียหายจะต่างกันมาก ก็น่ามีคำถามเหมือนกันว่า กรณีที่รัฐเสียหายจากการซื้อยุทโธปกรณ์นั้นจะเข้าข่ายความรับผิดทางแพ่งที่รัฐสามารถเรียกค่าเสียหายเหมือนกรณีของยิ่งลักษณ์หรือไม่

กรณีของพล.อ.ประวิตรนั้นไม่ต้องพูดเรื่องอื่นเลย แค่กรณีของนาฬิกายืมเพื่อนก็สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้แก่สาธารณชนแล้ว เชื่อได้ว่า คนทุกคนมีคำถามเดียวกันหมดว่า ยังยืนหยัดอยู่ในตำแหน่งได้อย่างไร แม้แต่คนที่สนับสนุนลุงตู่ก็อยากให้พล.อ.ประวิตรพ้นจากตำแหน่งไปเพราะเชื่อว่าเป็นตัวถ่วง เรียกได้ว่าใครๆ ก็ไม่รัก หรืออาจจะมีคนรักอยู่บ้างก็น้อยมาก

เชื่อว่าลึกๆ ลุงตู่ก็รู้ว่าพี่สองคนนี้เป็นภาระที่จะต้องแบก แต่การเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้ ลุงตู่ก็คงต้องคิดว่าจะเอาใจประชาชนหรือทดแทนบุญคุณพี่ทั้งสองต่อไป

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น