xs
xsm
sm
md
lg

ความเปลี่ยนแปลงในแนวรบตะวันออกกลาง? (1)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี กับ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องชวนร่อนไป-ร่อนมา ดูแนวรบด้านตะวันออกกลาง โดยเฉพาะแถวๆ ซีเรียนั่นแหละทั่น เพราะนับจากการประชุมสุดยอด 2 ผู้นำโลก ระหว่าง “ทรัมป์บ้า” และ “ปูติน” สิ้นสุดลงไปแล้ว คงมีอะไรที่ต้องถูกหยิบมาพูดถึง หรือต้องกลายเป็นเรื่องเป็นราวกันอีกเยอะ ต่างไปจากแนวรบด้านยุโรป ที่น่าจะสรุปได้ไม่ยากส์ส์ส์ว่า งานนี้...น่าจะ “เสร็จปูติน” แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด...

คือแค่ฟังจากคำพูด คำให้สัมภาษณ์ของ “ทรัมป์บ้า” ที่ได้บ่นระบายกับโทรทัศน์ CNBC เมื่อช่วงวันพฤหัสฯ (19 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา โดยเฉพาะคำพูดซึ่งผู้นำอเมริกันอ้างว่า ได้เอ่ยขึ้นมาต่อหน้าผู้นำเยอรมนีอย่าง “นางอังเกลา แมร์เคิล” ด้วยประโยคที่ว่า...“I said, wait a minute, We’re supposed to be protecting you from Russia but you’re paying them billions of dollars. What’s that all about.” ซึ่งอาจถือเป็นหลักฐาน ข้อพิสูจน์ ข้อสรุปที่ว่าได้เป็นอย่างดี คือขณะที่อเมริกาคิดว่าตัวเองกำลังไปช่วยปกป้องคุ้มครองยุโรปจากรัสเซีย แต่ยุโรปดันหันไปควักเงินนับพันๆ ล้านดอลลาร์ ให้ “ปูติน” ไปซะนี่!!! อันนี้...เลยต้องถือว่าน่าจะเรียบโร้ยย์ย์ย์โรงเรียนรัสเซีย อย่างมิพึงต้องสงสัย...

ยิ่งถ้าดูจากการกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูด...คือจากการประชุม 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย “นาย Alexander Novak” รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน “นาย Pavel Klimkin” และรัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี “นาย Peter Altmaier” โดยมีรองประธานสหภาพยุโรป “นาย Maros Sefcovic” เข้าร่วมด้วย ที่กรุงเบอร์ลิน หลังจากการประชุมสุดยอด 2 ผู้นำที่กรุงเฮลซิงกิ ผ่านไปได้แค่ไม่กี่ชั่วโมง โดยสามารถเคลียร์ปัญหาคาราคาซัง ในกรณีท่อส่งแก๊สรัสเซียซึ่งจะพาดผ่านยูเครนเข้าไปยังยุโรป จนทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะเดินหน้าต่อไปได้แบบสะดวกโยธิน อันจะทำให้รัสเซียสามารถป้อนแก๊สเข้าสู่ตลาดยุโรป ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 110 พันล้านคิวบิกเมตร ภายในปี ค.ศ. 2019 โดยท่อส่งแก๊สที่เรียกขานกันในนาม Nord Stream 1 และ 2 หรือ “North European Gas Pipeline” ชนิดไม่ว่าบริษัทผลิตแก๊สของอเมริกา อย่าง “US Liquefied Gas-LNG” ที่พยายามขนส่งแก๊สทางเรือไปขายให้กับอังกฤษ สเปน ลิธัวเนีย ยูเครน ไปจนถึงตุรกี ยังไงๆ...ก็คงสู้ไม่ไหว หรือคงไปถ่วง ไปรั้งอะไรแทบมิได้ และการที่ยุโรปแทบทั้งยุโรป หนีไม่พ้นต้อง “พึ่งพา” แก๊สจากรัสเซีย ไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการต่อไปเรื่อยๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้ อันนี้...เลยต้องถือว่า “เสร็จปูติน” หรือ “เสร็จรัสเซีย” แบบชนิดแหงแก๋เอาเลยก็ว่าได้...

แต่สำหรับแนวรบในตะวันออกกลาง...มันออกจะมีอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศยิ่งกว่านั้น เพราะการที่ทั้ง “ทรัมป์บ้า” และ “ปูติน” ต่างออกมาประสานเสียงแบบคอรัส หรือรัดคอ ว่าต่างเห็นพ้องต้องกันต่อการสร้าง “ความมั่นใจให้กับความมั่นคงปลอดภัยของอิสราเอล” จนแทบไม่ต่างไปจากการ “เสร็จอิสราเอล” หรือ “เสร็จเนทันยาฮู” อะไรประมาณนั้น แต่ถ้ามองให้ลึกๆ แล้ว...การที่ทั้งสองผู้นำ อย่าง “ปูติน” และ “ทรัมป์บ้า” ต่างหยิบยกเอาเรื่องข้อตกลงที่ถูกเรียกขานกันในนาม “1974 Agreement on Disengagement” อันเป็นข้อตกลงเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับซีเรีย ในการครอบครองพื้นที่ประมาณ 1,800 ตารางกิโลเมตร เหนือที่ราบสูงโกลัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 มาใช้เป็นพื้นฐานในการอธิบายถึงสิ่งที่จะนำมาซึ่ง “ความมั่นใจให้กับความมั่นคงปลอดภัยของอิสราเอล” กันในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นต้องมองกันชนิด 2 ชั้น 3 ชั้น หรือไม่ก็ 8 ชั้นไปโน่นเลย...

เพราะฉากสถานการณ์ปี ค.ศ. 1974 กับปี ค.ศ. 2018 นั้น...มันต่างกันไปตั้ง 40 กว่าปี อะไรต่อมิอะไรมันจึงน่าจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว คือเป็นฉากสถานการณ์ที่กองทัพอิสราเอลไม่ได้ถึงกับแข็งโป้ก ชนิดสามารถยึดพื้นที่ทั้งหมดของที่ราบสูงโกลัน หลังการสู้รบในสงคราม “ยมคิปปูร์” (Yom Kippur) แล้วถึงค่อยยอมปล่อย ยอมคาย คืนพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ให้กับซีเรีย โดยที่ตัวเองยังคงยึดพื้นที่ประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดเอาไว้ในมือจนตราบเท่าทุกวันนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมของปี ค.ศ. 2018 ที่กองทัพรัฐบาลซีเรีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียและอิหร่าน สามารถบุกเข้าไปยึดคืนพื้นที่ต่างๆ จากพวกกบฏและผู้ก่อการร้าย ชนิดบุกลึกเข้าไปถึงเมือง “Daraa” และ “Queneitra” ที่อยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของซีเรีย ใกล้กับพรมแดนประเทศจอร์แดน และประชิดติดกับแนวยึดครองของอิสราเอลในบริเวณที่ราบสูงโกลัน จนทำให้อิสราเอลเกิดอาการอกสั่นขวัญแขวน ต้องออกมาโวยวายว่า กำลังทหารซึ่งสามารถเอาชนะพวกผู้ก่อการร้าย และพวกกบฏที่อิสราเอลให้การสนับสนุนแบบชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในแต่ละเมืองนั้น ไม่ได้เป็นกองทัพรัฐบาลซีเรียล้วนๆ แต่เป็นกองกำลังทหารอิหร่าน ไม่ก็พวกที่ถูกเรียกว่า “Shiite Proxies” หรือพวกที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอิหร่านในแต่ละรูป แต่ละแบบนั่นเอง...

“ความมั่นคงของอิสราเอล” ณ ช่วงขณะนี้ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่ต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลซีเรียแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับกองกำลังทหารอิหร่านในซีเรีย ไปจนถึงผู้ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับอิหร่าน อย่างพวก “ฮามาส” ในปาเลสไตน์ หรือ “เฮซบอลเลาะห์” ในเลบานอนควบคู่ไปด้วย ที่อาจเพ่นพ่านอยู่แถวๆ ชายแดนอิสราเอลในที่ราบสูงโกลัน อันทำให้การสร้าง “ความมั่นใจในความมั่นคงปลอดภัยของอิสราเอล” ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง ทั้งในระหว่างการประชุมสุดยอด 2 ผู้นำอเมริกาและรัสเซีย หรือในการพบปะเจรจาระหว่างผู้นำอิสราเอล กับผู้นำรัสเซียโดยตรงก็แล้วแต่ จึงมีความหมายไปในแนวอย่างที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล “นายเบนจามิน เนทันยาฮู” ได้พูดๆ ออกมาเองนั่นแหละว่า... “อิสราเอลไม่ได้คิดจะทำอะไรกับรัฐบาลอัล-อัสซาด เพียงแต่ต้องการให้กองกำลังทหารอิหร่านออกไปจากประเทศซีเรียเท่านั้นเอง...”

ดังนั้น...การที่ 2 ผู้นำอย่าง “ทรัมป์บ้า” และ “ปูติน” ต่างออกมาแสดงความเห็นพ้องต้องกันต่อการสร้าง “ความมั่นใจให้กับความมั่นคงปลอดภัยของอิสราเอล” หลังการประชุมเฮลซิงกิคราวนี้ จึงต้องหยิบไปตีความ แปลความกันอีกเยอะ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฉากเหตุการณ์ที่ว่า ด้วยเหตุนี้...จึงไม่ถึงกับน่าแปลกใจอะไรมากมายนัก ที่หลังการประชุมเฮลซิงกิผ่านไปแค่ไม่กี่ชั่วโมง สำนักข่าว “MNA” ของอิหร่าน จึงได้ออกข่าวว่าตัวแทนพิเศษของรัสเซีย คือ “นาย Alexander Lavrentiev” ได้เดินทางมาพบปะกับตัวแทนฝ่ายความมั่นคงของอิหร่านที่กรุงเตหะราน ในช่วงวันพฤหัสฯ (19 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา ส่วนการพบปะเจรจา การแปลความ อธิบายความ ระหว่างตัวแทนรัสเซียกับอิหร่าน จะทำให้ฉากสถานการณ์ในแนวรบตะวันออกกลางนับจากนี้ น่าจะออกไปในแนวไหน ใครเสร็จใครกันแน่!!! อันนี้...คงหนีไม่พ้นต้องไปว่าต่อกันอีกสักวัน...


กำลังโหลดความคิดเห็น