xs
xsm
sm
md
lg

การลงโทษประหารชีวิตสัมพันธ์อย่างไรกับอัตราการก่ออาชญากรรมฆ่ากันตาย?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA


เมื่อครบรอบ 40 ปี ของการยกเลิกโทษประหารในอังกฤษ รัฐสภาอังกฤษได้ศึกษาข้อคว้าข้อมูลสถิติมาดูว่าอัตราการก่ออาชญากรรมฆ่ากันตาย (Murder rate) เป็นอย่างไร ผลแสดงในรูป ซึ่งพบว่าอัตราการฆ่ากันตายสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนการยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ข้อนี้อาจจะเป็นเรื่องของข้อมูลอนุกรมเวลาที่มีแนวโน้มจะสัมพันธ์กันต่อเนื่อง (Autocorrelation) ก็ได้ แต่ก็น่าสนใจว่าอัตราการฆ่ากันตายมันสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศอังกฤษ หลังจากมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไปกว่า 40 ปี สูงขึ้นไปกว่าเดิมมาก
ที่มา: http://researchbriefings.files.parliament.uk/documents/SN03805/SN03805.pdf
มาลองดูข้อมูลจากฝั่งอเมริกากันบ้าง ซึ่งนี่เป็นข้อมูลจากฝั่งคนที่ต่อต้านการมีโทษประหารชีวิต ผลการศึกษาแสดงในกราฟด้านล่างนี้ ผลพบว่ารัฐที่มีโทษประหารชีวิตกลับมีอัตราการฆ่ากันตายสูงกว่า แต่ช้าก่อนลองดูรายชื่อรัฐเหล่านี้จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นรัฐทางใต้หรือ Midwest ที่อนุญาตให้พกปืนในที่สาธารณะได้อย่างเสรี เป็นส่วนใหญ่ แล้วเช่นนี้จะไม่ฆ่ากันตายได้อย่างไร การพิจารณาข้อมูลต้องทำอย่างรอบคอบและวิเคราะห์ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ และใครเป็นผู้นำเสนอข้อมูล

ที่น่าสนใจคือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการลงโทษประหาร (Capital punishment rate) กับอัตราการฆ่ากันตาย (Murder rate) ที่เป็นการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์นั้นมีไม่มาก การศึกษาหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากทำในสหรัฐอเมริกาและได้ตีพิมพ์ในวารสาร The American Economic Review อันเป็นวารสารที่มีชื่อเสียงมาก ผลการศึกษาพบว่าอัตราการลงโทษประหารสัมพันธ์ทางบวกกับอัตราการฆ่ากันตาย แต่หากใช้อัตราการลงโทษประหารในปีก่อนมาทำนายอัตราการฆ่ากันตายในปีปัจจุบันพบว่าในแบบจำลองเศรษฐมิติมีความสัมพันธ์เป็นลบ ซึ่งหมายความว่า หากปีก่อนมีการลงโทษประหารไปมาก มีแนวโน้มที่ปีถัดไปอัตราการฆ่ากันตายจะลดลง ในบทความใช้คำว่าเป็นผลกระทบจากการเตือนให้ดูเป็นเยี่ยงอย่าง (Deterrent effect)
https://deathpenaltyinfo.org/deterrence-states-without-death-penalty-have-had-consistently-lower-murder-rates
งานวิจัยนี้ค่อนข้างจะเก่าหน่อยแต่ก็วิเคราะห์อย่างรัดกุมมาก น่าสนใจว่าจะยังมีการวิเคราะห์เช่นนี้หรือไม่ในสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยยังไม่เห็นงานวิจัยในลักษณะนี้

ถ้าจะอธิบายแบบหลักจิตวิทยา การประหารคือการลงโทษ ด้วยการให้พบผลกรรมที่ไม่พึงปรารถนา ตามหลักพฤติกรรมนิยมเราต้องการให้เสริมแรงทางบวก กล่าวคือให้ผลกรรมที่พึงปรารถนาเมื่อทำพฤติกรรมที่ทำดี เราพยายามหลีกเลียงการลงโทษให้มาก ใน Walden Two ของ Skinner นักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ผู้โด่งดัง ก็อธิบายสังคมอุดมคติหรืออุตมรัฐ (Utopia) ว่าต้องทำให้กฎแห่งกรรมทำงาน การบังคับใช้กฎหมายต้องเคร่งครัด ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่ต้องเสริมแรงให้ทุกคนทำดีมาก ๆ และเลี่ยงการลงโทษให้มาก แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องทำเพื่อความสงบสุขของสังคม ไม่รู้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาท่านจะเคยอ่านหนังสือเล่มนี้หรือไม่ แต่ท่านให้สัมภาษณ์วันนี้เหมือนใจความของ Walden Two ทุกประการ

ขอเสริมว่าเงื่อนไขผลกรรม (Contingency management) ที่ทำให้คนในสังคมไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่มีหิริโอตัปปะหรือความสำนึกละอายเกรงกลัวต่อบาปเลย ก็คือไม่ว่าจะทำชั่วหรือทำดี ทำพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนาก็ตาม คนที่ทำชั่วหรือทำดีก็จะได้รับผลกรรมดีจากสังคม ได้การเสริมแรงทางบวกเสมอ การทำผิดแล้วได้แรงเสริมทางบวกหรือไม่ต้องรับการลงโทษใด ๆ เลยในทางจิตวิทยาทำให้คนสังคมไม่ละอายไม่เกรงกลัวต่อบาป เราต้องการสังคมเช่นนั้นหรือไม่ ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายในสังคมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Capital_punishment_in_Thailand
ลองเข้ามาดูสถิติโทษประหารในประเทศไทยกันบ้าง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Death sentence หรือ capital punishment ข้อมูลจาก Wikipedia บอกว่าประเทศไทยยกเว้นโทษประหารมานานมาก 9 ปี และก่อนหน้านั้นก็พยายามจะละเว้นโทษประหารมาโดยตลอด

เรื่องการประหารชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ มีขั้นตอนผ่านกันมามากมาย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าประทานให้หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ผู้เป็นพระธิดาฟังและทรงนำมาเขียนในหนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ไว้ว่า ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 นั้น หากวันใดมีการถวายงานให้ทรงลงพระปรมาภิไธย (เซ็นชื่อรับรอง) คดีความที่ตัดสินประหารชีวิตนั้น ก่อนจะเซ็นพระองค์จะทรงทอดพระเนตรอ่านและตรวจสอบโดยละเอียดว่าพอจะมีหนทางผัดผ่อนได้หรือไม่ หากพระองค์พบว่ามีทางใดช่วยให้รอดได้ก็มักจะช่วยเหลือเป็นจำคุกทุกรายไป แต่จะมีคดีประหารชีวิตที่พระองค์ทรงเซ็นอย่างไม่คิดช่วยเลยก็คือ คดีฆ่าพ่อและแม่ของตัวเอง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เขียนบทความชื่อ โทษประหารชีวิตกับข้อคิดว่าด้วยเสรีภาพในชีวิตร่างกาย ในรัฐศาสตร์สาร 2539 ปีที่ 19 ฉบับที่ 3 หน้า139-160 เอาไว้ว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงไม่โปรดการขอพระบรมราชานุญาตประหารชีวิต ถึงกับทรงบ่ายเบี่ยงไม่ยอมลงพระนามหลายต่อหลายครั้ง ทำให้การประหารล่าช้า หรือบางครั้งพระองค์ต้องแทงเรื่องให้พระยายมราชตัดสินใจแทนพระองค์ไปเสีย

ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น พระองค์เจ้าธานีนิวัตฯ ราชเลขาฯส่วนพระองค์ได้เล่าว่าถ้าวันใดมีการถวายคำพิพากษาประหารชีวิตนักโทษให้พระองค์เซ็นเป็นได้มีเรื่องถูกกริ้วทุกทีไป บางครั้งถึงกับทำองค์เป็นไม่สนใจหรือปล่อยไม่ทรงเซ็นอยู่หลายวัน เพราะพระองค์เคยตรัสไว้ว่า"สงสาร"

ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่7 ก็ทรงเป็นเหมือนกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน ๆ คือ หากวันใดมีการถวายคำพิพากษาประหารชีวิตนักโทษ พระองค์จะทรงดื้อหนักเป็นพิเศษถึงขั้นปัดไม่ยอมเซ็น ทำให้ผู้ถวายงานต้องทูลลากลับแล้วมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าอยู่หัวทรงเคยตรัสไว้ว่า “ประหารราษฎรก็เหมือนประหารลูกของพระองค์เอง” ดังนั้นพระองค์จึงต้องตรวจสอบอย่างละเอียดและรอบคอบ หากคดีประหารนักโทษผู้ใดพอช่วยได้พระองค์ก็จะช่วยเหลือเพียงจำคุก ถึงแม้พระองค์จะไม่รู้จักนักโทษเหล่านั้นก็ตาม

ในทางวิชาการมีข้อมูลสถิติในต่างประเทศว่าการลงโทษประหารช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดการฆ่ากันตายได้ และในประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยเช่นนี้และควรได้ศึกษาต่อไป

ปัญหาใหญ่ที่สุดคือกระบวนการยุติธรรมที่จะนำไปสู่การประหารลงโทษนั้นต้องแน่ใจว่าสมเหตุสมผล ไม่เป็นการปรักปรำ ไม่มีแพะรับบาป โดยเฉพาะต้นธารกระบวนการยุติธรรมคือตำรวจและพนักงานสอบสวนสามารถเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใดในกรณีของประเทศไทยก็จำเป็นต้องพิจารณา

กฎหมายนั้นมีไว้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม กรรมใดใครก่อกรรมของผู้นั้นก็ต้องรับไป กฎหมายโบราณบางฉบับใช้วิธีการรุนแรงมากเช่น ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี แห่งบาบิโลเนีย ซึ่งใช้หลัก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ลองมาฟังฝั่งผู้สูญเสียบ้าง

เมนาท นันทขว้าง หรือ กบ โซดา ลูกสาวของสุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดังที่ถูกปล้นทรัพย์และฆ่าตายที่ตลาดแฮปปี้แลนด์ได้เขียนไว้ว่า

คิดถึงแม่..ฉันไม่เคยคิดจะพูดถึงเรื่องนี้
แต่เพื่อประโยชน์ของสังคม ที่นับวันมีคนชั่วมากขึ้น
ฉันจึงเขียนมาจากแรงสะเทือนใจ
จากร่างที่สั่นสะท้านของฉันที่มาจากความเจ็บปวดในใจ
แม้เวลาจะผ่านมานาน.. แสนนานแล้วก็ตาม
แม่ของฉันแม่ของเรา.. ที่เลี้ยงลูกคนเดียวอีก3 ชีวิต
ในเย็นของวันหนึ่งแม่จากพวกเราไป แม่ออกไปตลาด
เราไม่เคยคิด ..
ไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นเรื่องจริง
ฉันจะไม่พูดถึงความเจ็บปวดและความเศร้าอย่างแสนสาหัส
ที่ทำให้ฉันที่เพิ่งอายุอายุแค่ 28กับลูกชายอายุขวบเดียวและน้องสาวอีก 2 คนต้องเจอความจริงที่ไม่ยุติธรรม
แม่ไปจ่ายตลาด.. มีคนชั่ว2 คนทำร้ายถึงตาย
แล้วเอาร่างแม่ไปโยนไว้ในพงหญ้าข้างทาง
ฉันจะไม่พูดถึงแผลกี่สิบแผล ทำให้แม่ตายอย่างเจ็บปวด
แม่เป็นผู้หญิงที่มีความสามารถมาก เป็นคนดี เป็นคนพิเเศษ
เป็นแม่ที่เป็นที่พึ่งคนเดียวในชีวิตของพวกเรา
เป็นเหมือนแท่งเทียนเล่มที่จุดสว่างนำทางให้ฉันเสมอ
และกับคนอื่นๆอีกมากมาย
ที่สำคัญแม่เป็นนักเขียนที่ในยุคนั้นหรือยุคใหนๆก็ไม่มีใครเขียนได้อย่างมีความเป็นตัวเองถึงอย่างนั้น
ถ้าแม่ยังอยู่กับพวกเราแม่คงมีความสุขมาก
และแม่คงจะเขียนงานออกมาได้อีกมาก
แม่ของเราคือแรงบันดาลใจ
แม่คือผู้หญิงเก่งที่ไม่ท้อกับความทุกข์ยากใด
แม้ความตายจะมาถึงแม่.,
อย่างที่ฉันและน้องไม่อาจจะทนทานในความทุกข์นั้นได้
ยังดีที่พวกเราเป็นคนรักดี.. ไม่เอาความเจ็บปวดมาทำลายเราเอง
เราเปลี่ยนความทุกข์ใจเป็นแรงพลักให้สร้างชีวิตที่ดีขึ้นมาจากกองทุกข์สาหัสสากรรจ์
ฉันคิดว่ามันเป็นชะตากรรม
ก็ได้แต่คิดแค่นี้
มนุษย์คนใดที่ลงมือใช้มีดกรีดและทิ่มแทงเข้าไปถึงร่างกายของมนุษย์อีกชีวิตหนึ่งได้
ย่อมต้องได้รับการชดใช้กรรมนั้นอย่างเท่าเทียม
ไม่ได้เป็นการแก้แค้น
นั่นคือการลงโทษในการทำความเลว..
ไม่สมควรที่จะปล่อยให้เป็นเยี่ยงอย่าง
ถึงขนาดลงมือทำร้ายคนเป็นๆจนตายไปต่อหน้ามีทั้งเลือด
เสียงร้องที่เจ็บปวดเหลือแสน กับเสียงร้องขอชีวิต
การฆาตกรรมโดยเพื่อหวังแต่ทรัพย์นั้นมันผิดบาปมาก
ถามพวกที่ออกมาปกป้องคัดค้านการลงโทษที่สมควรแล้วนั้น
จิตใจทำด้วยอะไร
ใครก็ตามที่ออกมาปกป้องฆาตกร
คนเหล่านั้นคงมีจิตใจคล้ายกัน
อ้างสิทธิมนุษยชน..
คนที่ถูกฆาตกรรมอย่างทารุณและเป็นผู้บริสุทธิ์
มีสิทธิ์เรียกร้องความตายคืนมาได้มัย
ช่วยหยุดพวกอ้างสิทธิมนุษยชนเพื่อผลประโยชน์ทางอื่น
โดยช่วยกันแชร์กันไปให้มาก
ความตายของแม่จะมีประโยชน์ต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์
ที่ยังอาจจะเจอการฆาตกรรมเลือดเย็น
ถ้ามีพวกอยากให้กฎหมายปกป้องอ่อนข้อต่อ ฆาตกร
เช่นเดียวกับผู้สูญเสียอีกรายด้านล่างนี้


โดยส่วนตัวผมคิดว่าโทษประหารจำเป็นสำหรับสังคมไทย ไม่ใช้แค่ป้องปรามไม่ให้คนทำชั่ว แต่เป็นการทำให้กฎแห่งกรรมทำงาน ทำให้คนที่ทำชั่วได้รับผลกรรม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมบริสุทธิ์จริง ไม่ใช่เป็นการจับแพะหรือใส่ร้ายป้ายสีทำให้ผู้อื่นตกเป็นผู้ต้องโทษประหารโดยปราศจากความผิดที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นความอยุติธรรมที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น