xs
xsm
sm
md
lg

ผวา!สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯลาม-หุ้นไทยดิ่งเหว2วันร่วง65จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดหุ้นไทยดิ่งเหว ปิดการซื้อขายที่ 1,639.54 จุด ลดลงกว่า 40 จุด หรือ 2.39% ส่งผลให้ 2 วันทำการดัชนีหุ้นไทยร่วงแล้ว 65 จุด จากความกังวลสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ บานปลาย เอ็มอีตลาดหุ้นไทย ชี้ตลาดหุ้นทรุดตัวทั่วโลก หลังนักลงทุนต่างชาติปรับลดพอร์ตลงทุน ถือเงินสดมากขึ้น เพื่อรอจังหวะกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง โดยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ด้านเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนรอลุ้นผลการประชุมกนง. ส่วน ส.อ.ท. เร่งให้สมาชิกประเมินผลกระทบและแผนรับมือ หวั่นขยายวงกว้าง

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วันนี้ (19 มิ.ย.) ดัชนียังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากวันก่อนหน้า นักลงทุนเทขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมา และเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง จากความกังวลความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มในอัตรา 10% วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยเฉพาะในช่วงบ่ายที่มีแรงเทขายออกมาอย่างหนัก กดดัชนีลดลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 1,633.72 จุด หรือติดลบกว่า 40 จุด ขณะที่จุดสูงสุดอยู่ที่ 1,674.28 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 1,639.54 จุด ลดลงจากวันก่อน 40.14 จุด หรือ 2.39% มูลค่าการซื้อขาย 84,628.60 ล้านบาท ซึ่งทำให้ 2 วันนี้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงกว่า 65 จุดแล้ว

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศยังคงเทขายอย่างต่อเนื่อง ทำให้มียอดขายสุทธิเพิ่มอีก 2,644.32 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 1,623.80 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 4,809.40 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อย ซื้อสุทธิ 9,077.52 ล้านบาท ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2561 นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิรวมกว่า 168,264.42 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อย ซื้อสุทธิทะลุ 100,027.68 ล้านบาท

สำหรับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) ราคาปิดที่ 47.75 บาท ลดลงจากวันก่อน 1.25 บาท หรือ 2.55% มูลค่าการซื้อขาย 8,304.41 ล้านบาท บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ปิดที่ 65.00 บาท ลดลง 1.75 บาท หรือ 2.62% มูลค่าการซื้อขาย 4,418.40 ล้านบาท และบมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) ปิดที่ 76.50 บาท ลดลง 2.00 บาท หรือ 2.55% มูลค่าซื้อขาย 3,663.50 ล้านบาท

*** "ภากร" ชี้ฝรั่งปรับลดพอร์ตถือเงินสดแทน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกว่า 40.14 จุด เป็นผลกระทบเหมือนกับตลาดหุ้นทั่วโลก อีกทั้งเม็ดเงินต่างชาติไม่ได้ไหลเข้าไปยังตลาดตราสารหนี้เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งปกติถือเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย แต่เป็นเพราะต่างชาติมีการถือเงินสดเพื่อรอการกลับไปลงทุนใหม่อีกครั้ง ซึ่งสถานการณ์ที่นักลงทุนต่างชาติมีการปรับพอร์ตครั้งใหญ่นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาในรอบ 2-3 ปี ที่ผ่านมา

"นักลงทุนต้องมีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพราะปัจจัยลบที่กระทบตลาดหุ้นไทยมาจากปัจจัยต่างประเทศ ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานในประเทศยังไม่น่าเป็นห่วง ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งปกติถ้าตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวกลับมามีโอกาสจะกลับเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยสถิติที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเมื่อเจอสถานการณ์วิกฤต อาทิ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ การชุมนุมทางการเมือง หรือแม้กระทั่งน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว"

ส่วนการปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศที่มียอดขายสุทธิกว่า 1.6 แสนล้านบาทนั้น นายภากร กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้นักลงทุนต่างชาติจะใช้เวลานานเท่าไรกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง แต่ต้องขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการลดการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางยุโรป

**บาทอ่อนรอผลประชุมกนง.**
นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทวานนี้เปิดตลาดที่ระดับ 32.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และปิดตลาดที่ระดับ 32.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงจากช่วงเปิดตลาด จากการที่มีเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากตลาดหุ้นไทยยังตกต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นมีการขายพันธบัตรไทยอีก 7,000 ล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนธ.ค. 60 ที่เงินบาทอยู่ที่ 32.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 32.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าสุดที่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยที่ตลาดจับตาเป็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ในกรณีของการสัญญาณการดำเนินนโยบายในระยะต่อไป คาดเงินบาทวันนี้อยู่ในกรอบ 32.75-32.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

*** ส.อ.ท.แนะเอกชนเกาะติดสงครามการค้า
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ส.อ.ท.ได้หารือกับสมาชิกเพื่อที่จะรวบรวมและประเมินสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนเพื่อรับมือเร่งด่วนแล้วโดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไม่เกินเดือนมิ.ย.นี้ซึ่งยอมรับว่าเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากไทยอาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

" เราให้สมาชิกทั้งหมดประเมินผลกระทบว่ามีอะไรบ้างและแนวโน้มจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนนักในแง่ของภาคอุตสาหกรรมจากการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีระหว่างสหรัฐและจีน แต่ล่าสุดการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือ จี 7 สหรัฐฯกลับขัดแย้งกับชาติสมาชิกที่เหลือทำให้เห็นชัดเจนว่าสงครามการค้าจะรุนแรงขึ้นทุกภาคส่วนจำต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ที่อาจขยายวงกว้างมากขึ้น"นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตามส.อ.ท.คาดหวังและมองในแง่ดีว่าการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ออกมาตรการเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนจะเป็นไปในลักษณะที่เป็นการเปิดโอกาสในการเจรจาซึ่งแนวทางดังกล่าวจะลดผลกระทบได้มาก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) กล่าวว่า ชัดเจนว่าสงครามการค้าได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเต็มรูปแบบหลังจากที่การประชุมจี 7 ล่าสุดล้มเหลวซึ่งในแง่ของไทยเองในฐานะที่เป็นคู่ค้ากับทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น กลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% เมื่อเกิดปัญหาตอบโต้ทางการค้าขึ้นย่อมกระทบแน่นอนสำหรับการส่งออกของไทยแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น

" เราคงต้องติดตามใกล้ชิดถึงปัญหานี้เพราะสงครามการค้าสิ่งที่กังวลคืออาจทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะเติบโตชะลอตัวได้และนำมาซึ่งการนำเข้าสินค้าที่ลดลง แต่ก็ยังอยากให้มองในแง่บวกที่อาจเป็นไปได้ว่าประเทศใหญ่ๆ ทะเลาะกันก็จะไม่สนใจประเทศเล็กๆ อาจเป็นโอกาสก็ได้ เช่นเดียวกับค่าเงินบาทตอนนี้ที่อ่อนค่าลง น้ำมันก็เริ่มลดลงก็เป็นผลดี สุดท้ายอยู่ที่ไทยจะปรับตัวรับมืออย่างไรมากกว่า"นายธนิตกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น