xs
xsm
sm
md
lg

"ไพรมารีโหวต"จำเป็น พิสูจน์พรรคมวลชนหรือพรรคครอบครัว!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**จะว่าไปแล้ว สำหรับการเมืองไทยถือว่ามี "เอกลักษณ์เฉพาะตัว" ก็คือเถียงกันได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเล็กยันเรื่องใหญ่ วิจารณ์ ขัดแย้งกันได้ตลอดเวลา บางครั้งทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากปล่อยให้แสดงความเห็นกันทุกเรื่องตลอดเวลามันก็ยิ่งชวนให้น่าเบื่อน่ารำคาญ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่สามารถใช้สื่อส่วนตัวแสดงความเห็นทางโซเชียล มันก็ยิ่งพรั่งพรูออกมาอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่น่าพิจารณาในหลายเรื่องดังกล่าวที่เริ่มเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นก็คือ เรื่อง "ไพรมารีโหวต" กับเรื่อง "แผนยุทธศาสตร์ชาติ" ที่ต้องผ่านสภานิติบัญญัติภายใน 1 เดือน ก็คือราววันที่ 7 กรกฎาคม ซึ่งเรื่องหลังนี้ยังไงก็คงต้องผ่านมาบังคับใช้ตามกำหนดเวลา อย่างไรก็ดี การกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หรือเป็นมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่บางพรรคการเมืองพยายามโจมตี แต่หมายถึงกำหนดกรอบการพัฒนา เป็นวิสัยทัศน์ของประเทศ ที่กำหนดให้เดินให้ตรงทางไม่สะเปะสะปะ มันก็มีเหตุมีผลพอรับฟังได้ ขณะเดียวกัน จะว่าไปแล้วกฎหมายฉบับนี้ก็ยังสามารถปรับแก้ไขได้ตามสถานการณ์ในทุก 5 ปี ในภาพรวมก็ถือว่ามันก็มีส่วนดี ไม่ใช่เลวร้ายไปทั้งหมด
อย่างไรก็ดี อีกเรื่องที่สำคัญ และจะเป็นอีกกลไกสำคัญสำหรับการปฏิรูปการเมืองและพรรคการเมืองในอนาคตนั่น คือ กรณีกำหนดให้มีการ "หยั่งเสียงเบื้องต้น" หรือ "ไพรมารีโหวต" ของแต่ละพรรคการเมือง โดยให้มีการโหวตเลือกผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งของพรรคการเมือง ความหมายก็คือให้สมาชิกพรรคเป็นคนเลือกผู้สมัคร เป็นคนเลือกตัวแทนของเขาเข้ามาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ให้นายทุน ให้เจ้าของพรรค หรือคนในครอบครัวเป็นผู้กำหนดทิศทางของพรรคเพียงไม่กี่คนเหมือนเช่นในอดีต
นอกเหนือจากนี้ ยังมีการกำหนดเรื่องค่าบำรุงพรรคที่ทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกพรรค นั่นก็หมายความว่า ทุกคนย่อมเป็นเจ้าของพรรคเท่าเทียมกัน แม้ว่าอาจจะมีบทบาทต่างกันบ้าง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของ รวมไปถึงเรื่องการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคในอนาคตที่ต้องกำหนดโดยสมาชิกพรรคกันอย่างเคร่งครัดที่ต้องบังคับให้ต้องรายงานต่อนายทะเบียนพรรค
**แต่ที่น่าจับตาก็คือ กำลังมีการเคลื่อนไหวของพวกนักการเมืองบางพวก ที่ต้องการให้มีการใช้คำสั่ง คสช. ยกเลิกเรื่องการทำไพรมารี หรืออย่างน้อยให้เลื่อนออกไป 4-5 ปี หรือยกเว้นในช่วงการเลือกตั้งครั้งแรก โดยอ้างว่ามีความฉุกละฉุก ไม่มีความพร้อม ซึ่งก็มีทั้งพรรคเก่าและพรรคที่กำลังจัดตั้งใหม่
แน่นอนว่าในข้ออ้างดังกล่าว ย่อมเป็นเรื่องจริงที่น่าเห็นใจ แต่ขณะเดียวกัน หากเข้าใจเจตนารมณ์ของความเป็นพรรคการเมืองที่ต้องให้มวลชนหรือสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ตามความหมายของการเป็นพรรคการเมือง มันก็ย่อมต้องดำเนินการให้ได้
อย่างไรก็ดี ที่น่าชื่นชมก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการประกาศจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ที่จะให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งถือว่านี่คือการปฏิรูปพรรคการเมืองครั้งใหญ่เหมือนกัน ส่วนเรื่องการทำไพรมารีโหวต ก็ต้องทำตามกฎหมายพรรคการเมืองอยู่แล้ว หรือแม้แต่พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่กำลังตั้งไข่อยู่ในเวลานี้ ก็ยืนยันเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ต้องทำไพรมารีโหวต และมีการโหวตเลือกหัวหน้าพรรครวมไปถึงผู้บริหารพรรคทุกตำแหน่ง
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ยังไม่เห็นท่าทีในเรื่องดังกล่าวออกมาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเดิมรับรู้กันว่ามี ทักษิณ ชินวัตร และคนในครอบครัวเป็นเจ้าของ เป็นผู้กำหนดทิศทางพรรค รวมทั้งผู้สมัครของพรรค ก็มาจากคนในครอบครัวนี้ หรือไม่ก็ต้องเดินทางไปขอคำรับรับรองถึงต่างประเทศ ตั้งแต่ระดับหัวหน้าพรรคลงมาจนถึงผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง ว่าจะมาจากสายใครในกลุ่มเครือญาติที่แบ่งกันเป็นขั้วแยกย่อยออกไปอีก
นั่นคือ การเป็นพรรคการเมืองในอดีตที่กำลังถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง ให้กลายเป็นพรรคการเมืองที่ให้สมาชิกพรรคเป็นตัวกำหนดทิศทางของพรรค ซึ่งนี่น่าจะเป็น "ประชาธิปไตย" มากกว่าคำพูด
**ดังนั้น แม้ว่าเรื่อง"ไพรมารีโหวต" จะเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับพรรคการเมืองทั้งเก่า และใหม่ แต่ก็ถือว่ามีความจำเป็นต้องเดินหน้ากันต่อไป แน่นอนว่าเมื่อเป็นครั้งแรกก็ย่อมมีอุปสรรคมีปัญหาเกิดขึ้น แต่หากต้องการให้พรรคการเมืองเกิดการปฏิรูป ก็ต้องให้สมาชิกพรรคมีบทบาทร่วมเป็นเจ้าของและที่สำคัญต้องเป็นคนเลือกหัวหน้าพรรคและผู้สมัครของพรรคอย่างแท้จริง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น