xs
xsm
sm
md
lg

ชิงรถไฟฟ้าเชื่อม3สนามบิน ซื้อซองวันแรกมั่นใจลงทุนคึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จับตาเปิดขายซองชิงดำประมูลรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักใน”อีอีซี”มูลค่า 2 แสนล้านบาท วันแรก ( 18 มิ.ย.) "อุตตม" เชื่อมั่นเอกชน จะให้ความสนใจ ด้าน ปตท. ยังอุบท่าทีจับมือบีทีเอส ร่วมซื้อซองหรือไม่ คาดมีประมาณ 4 กลุ่มลงทุน

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันนี้ (18 มิ.ย.) จะมีการเปิดขายซองร่างขอบเขตการประมูล (ทีโออาร์) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานคร และ อีอีซี ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่าลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท มั่นใจว่า จะได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนจากทั้งใน และนอกประเทศ

"วันนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเป็นวันแรกที่จะเปิดขายซองโดย จะเปิดระหว่างวันที่ 18 มิ.ย.-9 ก.ค.นี้ ล่าสุดได้รับรายงานจากบอร์ด อีอีซี ว่า มีผู้สนใจที่จะเข้าซื้อซองประมูลจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งนักลงทุนทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และเป็นการรวมกลุ่มกันของนักลงทุนชาวไทย และนักลงทุนชาวต่างชาติที่สนใจ ส่วนจะมีกี่กลุ่ม ต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง" นายอุตตม กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เบื้องต้นมีผู้สนใจซื้อซองทีโออาร์ ประมาณ 4 กลุ่ม โดยแบ่งเป็นกลุ่มยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และกลุ่มนักลงทุนเอเชีย เช่น จีน และญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศบางส่วนอาจจะมารวมกลุ่มกับชาวไทย แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ว่าจะมีกลุ่มใดร่วมเป็นพันธมิตรกันบ้าง แต่เชื่อว่ามีนักลงทุนหลายกลุ่มสนใจเข้าร่วมการประมูลอย่างแน่นอน

แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด ปตท.) มีการหารือถึงประเด็นการซื้อซองทีโออาร์ เพื่อเข้าประมูลโครงการนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ปตท.จะร่วมกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทย่อยของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ในการเข้าซื้อซองประมูล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจ แต่มีโอกาสที่จะร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในการยื่นประมูล

" ขณะนี้ปตท. มองธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่เป็นเทรนด์อนาคต เพราะมองว่าระยะยาวการใช้น้ำมันจะถูกแทนที่ด้วยไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า รถไฟฟ้า รวมไปถึงยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ (เอ็นเนอร์ยี่สตอเรจ) หรือกระทั่งธุรกิจไฟฟ้าที่จะเชื่อมโยงกับก๊าซธรรมชาติ ที่ ปตท.เป็นผู้จัดหารายใหญ่จะเป็นเทรนด์ในอนาคตมากขึ้น" แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน รฟท. ได้กำหนดเวลาการขายเอกสารการคัดเลือกเอกชน ในวันที่ 18 มิ.ย.- 9 ก.ค.61 ในเวลาทำการ ณ ห้องประชุมฝ่ายโครงการพิเศษ และก่อสร้าง โดยเอกสารจะขายชุดละ 1 ล้านบาท รฟท.จะจัดประชุมชี้แจงจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 23 ก.ค. 61 และ 24 ก.ย. 61 ที่สโมสรรถไฟชั้น 2 การรถไฟแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านขั้นตอนดังกล่าวแล้ว รฟท. จะจัดให้ผู้ยื่นข้อเสนอไปดูสถานที่ก่อสร้างของโครงการ วันที่ 24 ก.ค.นี้ และจะเปิดให้มีการส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชน ในวันที่ 10 ก.ค.- 9 ต.ค.2561 ในเวลาราชการ หลังจากนั้น รฟท.กำหนดเปิดให้มีการรับซองข้อเสนอวันจันทร์ที่ 12 พ.ย.2561 โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซองพร้อมกับการซื้อซองเอกสารข้อเสนอ มูลค่า 2,000 ล้านบาท และต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้แก่ รฟท.เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท ที่สำนักงานโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์มักกะสัน และกำหนดให้เปิดซองผู้ยื่นข้อเสนอวันที่ 13 พ.ย.61


กำลังโหลดความคิดเห็น