xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตามดู“ทีมปราบทุจริต” โค้งสุดท้ายหลังปรับโครงสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานสุดสัปดาห์

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 2/2561 เรื่อง การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงนามโดยพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สั่ง ณ วันที่ 8 มิ.ย.61 ท่ามกลางข่าวตามหน้าสื่อว่า “รัฐบาล” กำลังเข้มข้นในการปรามปรามการทุจริตในหลายวงการ
 
2-3 เดือนที่แล้ว นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) คณะหนึ่ง “ทิ้งบอมม์”ตั้งคำถามต่อ คสช. ถึงความจริงจังในการปราบทุจริต

"ไม่มีประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มา 8 เดือนแล้ว" เขาโพสต์ถามรัฐบาล ว่ายังเอาจริงเรื่องปราบคอร์รัปชันหรือไม่ เขาบอกกับสื่อแห่งหนึ่งว่า ช่วงปีแรก (2558) ที่มีการแต่งตั้ง คตช. ประชุมกันบ่อย ปีที่ 2 (2559) การประชุมน้อยลง ปีที่ 3 (2560) มีการประชุม 2 ครั้ง

ขณะที่ “คตช.ตั้ง อนุกรรมการมา 4-5 คณะ”กลับไม่มีการรายงานปัญหา หรือนำเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เลย เขาย้ำว่า แม้ “นายต่อตระกูล ยมนาค”หนึ่งในกรรมการ คตช. ก็เคยตั้งถามถึงปัญหาดังกล่าว ไม่มีข้อกำหนดว่า จะมีการประชุมครั้งต่อไปเมื่อไร เพราะแต่เดิม คตช. มีวาระประชุม 1-2 ครั้ง/เดือน ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ตามที่นายกรัฐมนตรีสะดวก” ตรงนี้ก็เหมือนยุติ คตช.ไปในตัว" เขาตั้งข้อสังเกตผ่านสื่อนั้น

เรื่องนี้ “นายวิษณุ เครืองาม”รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ“ที่ปรึกษาประธาน คตช.”ที่กำกับ“ศูนย์อำนวยการการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)” ออกมาบอกว่า รัฐบาลรับทราบในความเห็น แต่อยากให้ทราบว่า “คตช.เป็นฝ่ายนโยบาย”จะประชุมก็ต่อเมื่อมีเรื่องให้ประชุม แม้ไม่ได้ประชุม “ศอตช.”ที่เป็นฝ่ายปฏิบัติของ คตช. ก็ทำงานอยู่ทุกวัน มีการรายงานนายกฯ อยู่ตลอด เพียงแต่ไม่ได้รายงานออกสู่สาธารณะ

รองวิษณุ บอกตอนนั้นว่า จะมีการปรับโครงสร้างคตช. จาก“ปัญหาในเชิงบริหาร”คณะกรรมการที่แต่งตั้งตามคำสั่ง คสช. หลายคนมีการปรับเปลี่ยน บางคนไม่ได้แต่งตั้งโดยตำแหน่ง แต่แต่งตั้งโดยรายชื่อบุคคล เมื่อบางคนเกษียณอายุราชการไปแล้ว จึงต้องแต่งตั้งคนอื่นเข้ามา ดังนั้น เมื่อมีการปรับโครงสร้างเสร็จ จะมีการประชุมต่อ

“รัฐบาลจริงใจ เพราะเน้นย้ำ ศอตช.ให้ทำงานทุกวัน หนักขึ้น คสช.มีการติดตาม ระหว่างการไม่มีประชุม คตช. ว่ามีอะไรสะดุดหรือไม่ ส่วนจะแต่งตั้งบุคคลใดเข้ามาบ้างขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช.”

ต่อมา “พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)”ออกเอกสาร ชี้แจงประเด็นนี้ว่า คตช. บางราย พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุราชการ จึงทำให้มีการเสนอว่า จะต้องปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และนำรายชื่อเสนอคสช. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินการที่ผ่านมา แม้จะไม่มีการประชุม คตช. แต่หัวหน้าคสช. ในฐานะประธาน คตช. ก็สั่งการให้กลไกการขับเคลื่อนการทำงานในระดับปฏิบัติ คือ คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กองทัพบก กอ.รมน. สำนักงาน ป.ป.ท. ดำเนินการทั้งในส่วนของการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้มีการเปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น

“ในส่วนของ ศอตช. นั้นได้มีการประชุมและดำเนินการ และได้มีการรายงานทั้งลายลักษณ์อักษรและรายงานด้วยวาจาให้หัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน คตช. รับทราบมาโดยตลอด”

ล่าสุด" รองฯวิษณุ" ออกมาแจงอีกรอบว่า คตช.ชุดเดิม มีผู้ที่ลาออกไปหลายคน บางคนออกไปเล่นการเมือง บางคนเสียชีวิต และเกษียณอายุราชการ แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่เข้ามาทดแทน ทำให้ปรับปรุงองค์ประกอบใหม่ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจะมีการแต่งตั้งออกมาอีกภายหลัง สำหรับอำนาจหน้าที่ของ คตช.ชุดใหม่ยังเป็นเหมือนเดิมทุกอย่าง
 
ย้อนกลับไปดู “โครงสร้างของ คตช.”ชุดเดิมก่อนที่จะมีคำสั่ง “ยุบทิ้ง”ตามคำสั่ง คสช. ที่ 127/2557 และคำสั่ง ที่ 14/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการตามองค์ประกอบคตช. สั่ง ณ วันที่ 27 ต.ค. 58 ประกอบด้วย หัวหน้าคสช. เป็นประธานกรรมการ , พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ นายวิษณุ เป็นที่ปรึกษาประธาน

หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. (ตอนนั้น มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา) เป็นรองประธาน ขณะที่ “กรรมการผู้นำเหล่าทัพ” ก็เกษียณอายุราชการไปหลายคน เช่น พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร , พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ,พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ,พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง โดยกรรมการ ที่ยังคงอยู่ เช่นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ , นายประมนต์ สุธีวงศ์ กรรมการ , นายบรรยง พงษ์พานิช (ต่อมามีการลาออก) , รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ ,รองศาสตราจารย์ต่อตระกูล ยมนาค , น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ , นายวิชัย อัศรัสกร ,รศ. สังศิต พิริยะรังสรรค์ , นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่เข้ามาตามตำแหน่ง ก็มี ประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ, ผู้แทนสำนักงบประมาณ, ผู้แทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการ

นั่งทำงานมา 1 ปีเต็ม ๆ ก็มีคำสั่ง คสช. ที่ 6/2559 เรื่อง แก้ไขบุคคลตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) สั่ง ณ วันที่ 30 พ.ย.59 ให้ผู้นำเหล่าทัพ เช่น พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท พล.อ.อ. จอม รุ่งสว่าง มาเป็น กรรมการ และครั้งนี้ พ่วง“นายถวิล เปลี่ยนศรี” มาอีกคน กรรมการ โดย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ไปรับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี ,พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เกษียณอายุราชการ และนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ถูกปลดออก
                 
   ต่อมา นายบรรยง ได้ลาออกทุกตำแหน่งในรัฐบาล คสช. ขณะที่ นายถวิล ประธานกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านความมั่นคงของ พล.อ.ประวิตร มานั่งแทน รวมถึงคำสั่งที่ให้ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) มานั่งแทน ประธาน ปปท.

คราวนี้มาตามดูผลงานของ “คตช.” ที่มีการประชุมเผยแพร่ผ่านสื่อและ วาระการประชุมรับรองโดยมติครม.

ครั้งแรก 14 ม.ค.58 ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นประธาน สรุปว่า คตช.ตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานที่ร่วมกันต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ทำงานร่วมกับองค์กรอิสระด้านปราบปรามการทุจริต จัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบาย มีโครงการนำร่องการใช้ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) ใน 2 โครงการ ดังนี้

1) โครงการจัดหารถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติของ ขสมก. จำนวน 489 คัน

2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ของ รฟม. (ร่างข้อตกลงคุณธรรม การแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์ และคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม) พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ / คณะทำงานพิจารณาช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน)

ผลประชุม 13 ก.ค.58 มีมติสนับสนุนงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2558 ให้มี “กองทุนส่งเสริมธรรมาภิบาลและขจัดการทุจริต” ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ

กำหนดกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามกลยุทธ์ ด้านการใช้มาตรการทางปกครอง ด้านผลการบูรณาการกลไกการปฏิบัติ สรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานระบบข้อตกลงคุณธรรมโครงการจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ (NGV) และกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ผลการอบรมครูหลักสูตร “โตไปไม่โกง”ผลการตั้ง “ภาคีสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใส”รวมถึงกำหนดแนวทาง วิธีการ และกรอบเวลาระเบียบต่าง ๆ

ผลการประชุม 11 ก.ย. 58 อนุ คตช. หลายด้านที่ได้รับการแต่งตั้งเริ่มรายงานข้อมูลเชิงลึก เช่น อนุด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ในมาตรการการป้องกันการทุจริต อนุด้านการปราบปรามการทุจริต คณะอนุด้านการประชาสัมพันธ์

มีการรายงานความก้าวหน้าการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศ NGV เพิ่มรายงาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย,โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ ( ในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2)

ผลประชุม 19 ธ.ค.58 ประธานในที่ประชุม มีคำสั่งให้เร่งรัดคดีทุจริตซึ่งสร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ทั้งยังสั่งรวบรวมรายชื่อนักธุรกิจ ซึ่งมีพฤติกรรมทุจริตเพื่อขึ้นบัญชีดำและป้องกันไม่ให้มีโอกาสเข้ามาประมูลงานภาครัฐได้อีก มีการสรุปผลการตรวจสอบข้าราชการที่อยู่ในข่ายกระทำการส่อทุจริต รวมถึงกรณีเรียกเก็บค่าเสียหายทางแพ่งจากโครงการรับจำนำข้าว

ผลประชุม 2 ก.ย. 59 มีการเห็นชอบกำหนดมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ศปท.กระทรวง) ในครั้งนี้เริ่มมีการเห็นชอบผลการดำเนินงานจากการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. (มาตรา 44) ให้บุคคลพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพักการปฏิบัติหน้าที่ มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในช่วงที่ 3 ของ Roadmap ,โครงการ "คนไทยไม่โกง" ผ่านสื่อ Animation ชุดก้านกล้วย รวมถึงจัดกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ปี 2559 เป็นครั้งแรก ต่อมา ครม. เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564)

ผลประชุม 11 ส.ค.60 “ครั้งสุดท้าย”มีการเสนอ “ปรับโครงสร้างของ ศอตช.”ให้สอดคล้องกับภารกิจในการแก้ไขปัญหาการทุจริตทั้งระบบ เช่น เพิ่มให้กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จัดทำข้อมูลการเชื่อมโยงข้อมูลการจัดสรรงบประมาณกับข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ

ศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง “การกำหนดราคากลาง”ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. หารืออเพื่อปรับโครงสร้างของ ศอตช.

ให้ศึกษากรณี เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยจัดเก็บไว้ที่ส่วนราชการต้นสังกัดในระบบฐานข้อมูลดิจิตอลจากนั้น 10 เดือน (มิ.ย.61) ไม่มีการประชุม คตช.อีกเลย ตามที่หลายฝ่ายออกมาชี้แจง

ล่าสุด คสช. จึงมีคำสั่ง ที่ 2/2561 เรื่อง การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ให้ยกเลิกคำสั่ง 5 ฉบับ ประกอบด้วย คำสั่ง คสช.ที่ 127/2557 เรื่องแต่งตั้งคตช. ลงวันที่ 15 ธ.ค. 57 คำสั่ง คสช.ที่ 14/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตามองค์ประกอบ คตช. ลงวันที่ 27 ต.ค. 58 คำสั่ง คสช.ที่ 6/2559 เรื่องแก้ไขบุคคลตามองค์ประกอบ คตช. ลงวันที่ 30 พ.ย. 59 และคำสั่ง คสช.ที่ 3/2560 เรื่อง เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตามองค์ประกอบ คตช. ลงวันที่ 7 มี.ค. 60
 
มีเหตุผลว่า “เนื่องจากปัจจุบันได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของ คสช. และมีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการและการมอบหมายงานของฝ่ายบริหาร จึงสมควรปรับปรุงให้สอดคล้องกันเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินการในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง”

โดยมีโครงสร้างใหม่ ประกอบด้วย หัวหน้า คสช. เป็นประธาน ,รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน ,หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นกรรมการ ,ผู้ดำรงตำแหน่งในคสช. ไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ ,ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกินเก้าคนเป็นกรรมการ ,เลขาธิการปปท. เป็นกรรมการและเลขานุการ พ่วงผูแทนสำนักงานเลขาธิการ คสช.และ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

มีอำนาจหน้าที่เช่นเดิมกับ คตช.ชุดเก่า ท่ามกลางกระแสข่าวว่า คนหน้าเดิม ๆ ในกรรมการ คตช.ชุดแรก หลายคนจะไม่ได้กลับมานั่งทำงานปราบปรามแก้ไขปัญหาการทุจริตของชาติในรอบใหม่นี้ จากสาเหตุช่วงหลังรัฐบาลอาจไม่สบายใจในตัวกรรมการชุดเดิมบางคนที่แสดงบทบาทต่อสาธารณชนในเรื่องการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
                    
  รวมทั้งกระแสข่าวว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาประธานฯ จะไม่ปรากฏชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”.




กำลังโหลดความคิดเห็น