xs
xsm
sm
md
lg

ระบบไพรมารีโหวต ของดีที่อาจไม่มีประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ในระยะหลังรัฐบาลทหารพูดจาขึงขังว่าจะเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าแน่ๆ แม้หลายคนจะไม่เชื่อ แต่หากมีการเลือกตั้งนอกเหนือจากการนับคะแนนแบบใหม่ตามที่ผมเคยเขียนอธิบายไปแล้ว การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะก่อเกิดพัฒนาการทางการเมืองแบบใหม่อีกอย่างที่เราเรียกกันว่า “ระบบไพรมารีโหวต”

ระบบชื่อเป็นฝรั่งนี่แหละที่จะทำให้คำกล่าวที่ว่าพรรคเลือกคนประชาชนเลือกพรรค กำลังจะเปลี่ยนไปตามกรรมวิธีที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

ระบบไพรมารีโหวตคืออะไร ผมอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก่อนดังนี้ กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องมีสาขาภาคอย่างน้อย4ภาคและมีตัวแทนภาคละไม่น้อยกว่า500คน ส่วนใครจะมาลงเลือกตั้งในนามพรรคใดในจังหวัดนั้นจะต้องมีตัวแทนสาขาพรรคในจังหวัดนั้นเกิน100คน จากนั้นก็เปิดรับสมัครผู้ต้องการลงเลือกตั้งในนามพรรคของตัวเองแล้วให้ตัวแทนจังหวัดลงคะแนนคัดเลือก โดยการเลือกจะต้องมีตัวแทนสาขาไม่น้อยกว่า100คนและตัวแทนจังหวัดไม่น้อยกว่า50คน

จะเห็นว่ากฎหมายกำหนดให้มีสาขาภาค4ภาคแต่ไม่ได้กำหนดให้มีสาขาจังหวัด แต่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นจะต้องมีตัวแทนจังหวัดเกิน100คน

หลังจากตัวแทนจังหวัดลงคะแนนคัดเลือกแล้ว ให้ส่งรายชื่อผู้สมัครลำดับที่ 1และ2 ให้คณะกรรมการสรรหาโดยกำหนดให้พรรคการเมืองต้องจัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด

จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนของแต่ละเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยพิจารณาจากผู้มีคะแนนสูงสุดของแต่ละเขตเลือกตั้ง หากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เห็นชอบ ให้แสดงเหตุผลและให้พิจารณา ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนในลําดับถัดไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ไม่เห็นชอบกับรายชื่อที่สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดส่งมาทั้งหมด ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและคณะกรรมการสรรหาประชุมร่วมกัน หากที่ประชุมร่วมกันมีมติเห็นชอบกับรายชื่อผู้สมัครผู้ใด ให้เสนอรายชื่อผู้นั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

แต่ถ้าที่ประชุมร่วมกัน มีมติไม่เห็นชอบกับรายชื่อผู้สมัครที่สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดส่งมา ทั้งหมด ให้คณะกรรมการสรรหาแจ้งเหตุผลให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมือง ประจําจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้นทราบ และให้ดําเนินการตามใหม่จนกว่าจะได้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคในเขตเลือกตั้งนั้น

นี่เป็นกระบวนการคัดเลือกคนลงสมัครของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ เปลี่ยนจากเดิมที่อำนาจการตัดสินใจส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเป็นของพรรค ของผู้บริหารพรรคหรือของนายทุนพรรค

แต่จะเห็นว่า ยังเปิดทางให้คณะกรรมการบริหารพรรคเลือกคนใดคนหนึ่งจากที่ประชาชนเลือกมาในสองอันดับแรก และจะไม่เลือกเลยก็ได้

กระบวนการนี้ก่อให้เกิดคำถามเหมือนกัน แม้กฎหมายบอกว่าในการทำไพรมารีโหวตนั้นให้พรรคการเมืองทำไปก่อนได้ แต่มีผู้ชี้ว่าจะต้องรอการประกาศเขตเลือกตั้งซึ่งมักจะประกาศใกล้วันรับสมัครเลือกตั้งอยู่ดี แล้วถ้ากระบวนการนี้สามารถยืดเวลาไปได้เท่าไหร่ แม้สุดท้ายแล้วคณะกรรมการบริหารพรรคก็ตัดสินใจที่ตัวแทนพรรคในจังหวัดเลือกมาเป็นอันดับ1ไปเพื่อตัดปัญหาก็จบทันที แต่ในทางเทคนิคมันก็ทำให้จบไม่ได้ก็ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามมีคนอธิบายข้อดีของระบบไพรมารีโหวตว่า เป็นการยึดอำนาจจากนายทุนที่มักจะครอบงำการตัดสินใจของพรรคมาสู่สมาชิก

แต่ก็มีคำถามว่า ถ้าสมาชิกต้องแข่งขันกันตั้งแต่ในพรรคแล้วจะก่อให้เกิดความแตกแยกไหม ถ้าผู้สมัครที่ตัวเองสนับสนุนไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนพรรค เมื่อเกิดการเลือกตั้งส.ส.เกิดขึ้นจะยังลงคะแนนให้ตัวแทนพรรคตัวเองที่ตัวเองไม่ได้เลือกมาไหม

ยิ่งถ้าสมาชิกพรรคไหนในเขตจังหวัดหรือสาขานั้นมีมากการแข่งขันจะรุนแรงจนกลายเป็นความขัดแย้งไหม

บางคนบอกว่าข้อต่อมาการกำหนดตัวผู้สมัครด้วยตัวแทนพรรคในจังหวัดนั้น มันเอื้อต่อระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นที่จะเกณฑ์คนมาเลือกตนให้เป็นผู้สมัครไหมถ้าพรรคนั้นมีสมาชิกไม่มาก พูดง่ายๆว่า น่าจะง่ายกว่าการทำตัวให้เป็นที่ต้องตาต้องใจคณะกรรมการพรรคในอดีตที่มักจะเลือกจากประวัติของคนที่คิดว่ามีคะแนนเสียงเพียงพอจะชนะการเลือกตั้งได้ ที่สำคัญมีคุณสมบัติในด้านความรู้ความสามารถ

เป็นไปได้ไหมว่าคนดีและคนมีความสามารถไม่อาจจะสู้กับมาเฟียในท้องถิ่นที่มีอิทธิพลในจังหวัดได้ แม้กฎหมายจะห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้สมาชิกลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือให้งดเว้น การลงคะแนนให้แก่ผู้ใด แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าในการเลือกตั้งส.ส.แม้จะมีกฎหมายห้ามอย่างไรก็ยากที่จะป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้

วิธีการแบบนี้หากเป็นพรรคการเมืองประเภทที่ส่งใครลงเลือกตั้งในพื้นที่แล้วได้แน่ ถ้าต้องการลงสมัครในนามพรรคการสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองได้รับเลือกจะง่ายขึ้นหรือไม่ เพราะทำแต่กับสมาชิกพรรคของตัวเองเท่านั้น ในขณะที่การเลือกตั้งส.ส.การสร้างแรงจูงใจต้องทำกับคนจำนวนมาก

ผู้ต้องการรับสมัครรับเลือกตั้งแทนที่จะให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรค เขาจะมุ่งไปที่หัวคะแนนของพรรคมากกว่าไหม โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นจะมีมูลค่าที่จะต่อรองสูงหากจะไม่เป็นผู้สมัครเข้ามาคัดเลือกเสียเอง เช่น นายกเทศมนตรี สท. นายกฯอบจ. สจ. นายกอบต.ที่คุมเสียงอยู่ในมือคนละหลายร้อยเสียงหรือ4-5,000เสียง จะมีค่าตัวและอำนาจต่อรองทันที และผู้ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งจะวิ่งเข้าหาคนเหล่านี้แทน โดยการให้ส่งคนเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค

จะเห็นว่า คนดีมีความสามารถไม่มีอิทธิพลและหากไม่มีเงินด้วยแล้วก็จะยากที่จะทำให้ได้รับการเลือกตั้ง แต่พอจะเอาคนดีมีความสามารถไปไว้ในระบบบัญชีรายชื่อแบบเดิมก็ไม่สามารถทำได้แล้วซึ่งผมจะอธิบายต่อไป

แน่นอนเราอาจจะบอกว่าระบบนี้เป็นระบบที่ดีที่ต่อไปเมื่อคนมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น หวงแหนสิทธิของตัวเองมากขึ้น และเข้าใจบทบาทของคนที่เราเลือกเข้าไปมากขึ้น ก็จะค่อยพัฒนาให้คนที่มีความสามารถมีโอกาสเข้ามาแข่งขัน แทนการใช้เงินอิทธิพลและระบบอุปถัมภ์ในระยะยาว แต่มันจะยาวนานเท่าไหร่เล่า เมื่อมองจากพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมา76ปี กับผลพวงที่เราเรียกว่าการเมืองแบบไทยไทย

ถ้าถามว่าระบบไพรมารี่โหวตเป็นระบบที่ดีไหม ก็ต้องตอบว่าเป็นระบบที่ดี แต่ถ้าจะให้ตอบว่าจะมีผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพในระบบคัดสรรของการเมืองไทยไหม ก็ต้องบอกว่ามันน่าจะมีปัญหาอยู่ไม่น้อย

นอกจากนั้นพรรคเล็กก็จะยากที่จะเติบโตเข้ามาแข่งขันกับพรรคใหญ่ได้ เพราะยากที่จะหาสมาชิกพรรคให้ครบทุกเขตการเลือกตั้งได้ ต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งแบบใหม่ที่จะทำให้ทุกคะแนนเสียงมีประโยชน์ที่เรียกกันว่า “ไม่ตกน้ำ” แม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้งในเขตนั้นก็ตาม ดังนั้นพรรคที่หาคนลงสมัครได้ทุกเขตการเลือกตั้งก็จะได้เปรียบ

เพราะการลงคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งเขตทุกคนจะถูกนำไปรวมเป็นคะแนนของพรรค พรรคใหญ่ส่งได้ครบ350เขต ก็จะได้เปรียบพรรคเล็กที่มีศักยภาพส่งได้100เขตเพราะอาจไม่มีทั้งคนที่มาเป็นสมาชิกตามกฎหมายอาจจะไม่มีเงินมากพอ เท่ากับว่า ทิ้งคะแนนไปถึง250เขต ความไม่เท่าเทียมความเหลื่อมล้ำทางการเมืองก็เกิดขึ้น เหมือนความเหลื่อมล้ำของคนจนและคนรวยในสังคมไทย

ส่วนกรณีคนดีมีความสามารถที่พรรคจะนำมาทำงานการเมืองแต่ไม่มีฐานเสียงนั้น เดิมพรรคจะใส่ในบัญชีรายชื่อระดับต้นๆ แต่ระบบใหม่นั้น พรรคต้องส่งรายชื่อ150คนให้สมาชิกเลือกเสียก่อน โดยกฎหมายกำหนดว่าใน150คนต้องคํานึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกัน ระหว่างชายและหญิง สมาชิกจะเลือกได้คนละ15รายชื่อ แล้วใครได้คะแนนเท่าไหร่ก็จัดเรียงลำดับกันไปจากมากไปหาน้อย แต่ถ้าหัวหน้าพรรคต้องการลงบัญชีรายชื่อต้องให้หัวหน้าพรรคเป็นอันดับ1

ดังนั้นจะเห็นว่าโอกาสของคนดีคนเก่งมีความสามารถแต่ไม่มีฐานเสียงยากมากที่จะได้คะแนนในลำดับต้นๆแบบเก่า แต่คนที่มีบารมีในท้องถิ่นจะมีโอกาสมากกว่า และจะมีความเหลื่อมล้ำจากคนที่มาจากจังหวัดใหญ่และเล็ก แม้ระบบจะให้1คนเลือกได้คนละไม่เกิน15รายชื่อก็ตาม(อาจเลือกไม่ถึง15รายชื่อได้) และจะง่ายต่อการบล็อกโหวตเขียนโพยว่าในจังหวัดนี้จะเลือกใครบ้างเพื่อให้มีเอกภาพเกิดขึ้นแล้วอาจจะเกิดการฮั้วกันระหว่างจังหวัด

ผมต้องการชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ แม้จะยอมรับว่ามันอาจจะมีผลดีในระยะยาวเมื่อประชาชนมีความเข้าใจการเมืองมากขึ้น บางคนบอกว่าถ้าเราไม่เริ่มต้นทำวันนี้โดยอ้างว่าประชาชนไม่มีความพร้อม เราก็คงจะไม่ได้ลงมือทำเสียที ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้นเสมอ

อย่างไรก็ตามแม้กฎหมายจะบังคับให้ทำไพรมารีโหวตแล้วตามที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ผมก็ไม่มั่นใจนะว่าเราจะได้ใช้ระบบไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งหน้าไหม เพราะรัฐบาลอาจใช้มาตรา44งดเว้นไปก่อนก็ได้ และก็มีกระแสเสียงทำนองนี้ล่องลอยอยู่

ถ้าถามว่าการจะได้ใช้ระบบไพรมารีโหวตหรือไม่อยู่ตรงไหน ผมคงต้องตอบว่าอยู่ที่พรรคหลักซึ่งจะสนับสนุนลุงตู่พร้อมหรือไม่นั่นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น