xs
xsm
sm
md
lg

โซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารมูลนิธิเด็ก

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ก่อนอื่นต้องขอสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งมีอาการปวดหลังทำให้นั่งนานไม่ได้ ค้นหาข้อมูลลำบาก รวมทั้งมีงานประชุม สัมมนา และงานส่วนตัวประดังเข้ามาติดๆ กันเลย แต่ด้วยสัญญาใจที่ผมได้ให้ไว้กับตนเอง (ตามคำขอร้องของผู้อ่าน 2 ท่านซึ่งผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว) ว่าจะพยายามเขียนให้ได้สัปดาห์ละหนึ่งชิ้นโดยไม่ขาด

ความจริงสัปดาห์นี้ผมควรจะเขียนเรื่องราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มแพง เพราะกำลังอยู่ในกระแสซึ่งคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชนได้หยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นและทำข้อเสนอต่อกระทรวงพลังงาน แต่เนื่องจากผมไม่ได้ติดตามเสียนานจึงทำให้เขียนไม่ได้ ทั้งๆ ที่ได้พยายามแล้ว

มาถึงเรื่องมูลนิธิเด็กและการประเมินผลเบื้องต้นในโครงการโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคาร

มูลนิธิเด็ก ได้ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2522 ปัจจุบันมีอายุ 39 ปี มีสำนักงานอยู่ที่เลขที่ 95/24 หมู่ 6 ซอยกระทุ่มล้ม 18 ถนนพุทธมณฑลสาย 4 จังหวัดนครปฐม ผมขอนำปกหนังสือครบรอบ 39 มาลงให้ดูกันเพลินๆ ก่อนนะครับ

สำนักงานมูลนิธิเด็กมีอาคาร 3 หลัง แต่ละเดือนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณ 4-6 หมื่นบาท โดยในปี 2560 ค่าไฟฟ้ารวมกัน 6.3 แสนบาท เพื่อลดภาระดังกล่าว อาจารย์พิภพ ธงไชย เลขาธิการมูลนิธิฯ จึงได้ขอความอนุเคราะห์ไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จนได้รับการช่วยเหลือเป็นเงิน 1.8 ล้านบาท

ทางมูลนิธิฯ จึงได้ติดตั้งบนหลังคาอาคารสำนักงานกลางจำนวน 94 แผ่น รวม 30.08 กิโลวัตต์ ชนิด Polycrystalline โดยมีตัวแปลงไฟฟ้า (Inverter) ขนาด 29 กิโลวัตต์ ดังนั้นจึงถือว่าโครงการนี้มีขนาด 29 กิโลวัตต์

เท่าที่ผมทราบ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ชุดดังกล่าวได้แล้วเสร็จมานานประมาณ 2 ปีแล้ว แต่เพิ่งสามารถเดินไฟฟ้าได้เต็มทั้งเดือนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 นับถึงเดือนพฤษภาคม ก็รวม 6 เดือนเต็ม

โครงการนี้ไม่สามารถขายไฟฟ้าให้ทางการไฟฟ้าภูมิภาคได้ นอกจากนี้ยังต้องติดอุปกรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสายส่งอีกประมาณ 2 แสนบาทเท่าที่ผมทราบประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย รัฐแคลิฟอร์เนีย อินเดีย ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน 2 แสนบาทนี้

ตารางข้างล่างนี้เป็นรายการค่าไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วง 6 เดือน

โดยปกติ การประเมินกำลังการผลิตของโซลาร์เซลล์จะทำได้สมบูรณ์ขึ้นก็ต่อเมื่อมีข้อมูลครบ 12 เดือน เพราะผลการผลิตจะขึ้นกับฤดูกาล เช่นในเดือน พฤษภาคมถึงตุลาคม ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมจะมีฝน แดดไม่ค่อยดี ไฟฟ้าที่ได้จึงน่าจะน้อยกว่าเดือนอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวและข้อมูลอื่นๆ ที่ใกล้เคียง ผมขอประเมินว่าในหนึ่งปี สามารถผลิตได้ 1,450 หน่วยต่อกิโลวัตต์

สิ่งที่ผมต้องการจะทราบก็คือ ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าตลอดโครงนี้เป็นเท่าใดสิ่งที่นักวิชาการนิยมใช้ในการคำนวณก็คือ การต้นทุนไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดโครงการ (25 ปี) หรือ LCOE (Levelized Cost of Energy) โดยไม่คิดดอกเบี้ยและค่าบำรุงรักษา และค่าเสื่อมของอุปกรณ์

นั่นคือ นำต้นทุนทั้งหมด หารด้วยจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งโครงการตลอด 25 ปี ผลลัพธ์ที่ได้เท่ากับ 1.71 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า

อย่าลืมนะครับว่า นี่เป็นต้นทุนเมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว ล่าสุด โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลาได้ติดตั้งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2560 ขนาด 20 กิโลวัตต์ในราคา 8 แสนบาท (แต่ไม่คิดค่าแรง)

ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้ามูลนิธิเด็กจะติดตั้งเพิ่มในอีก 2 อาคารที่เหลือขนาด 29กิโลวัตต์ ต้นทุนน่าจะประมาณ 1.4 ล้านบาท นั่นคือต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (LCOE) เท่ากับ 1.33 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ค่าไฟฟ้าจากระบบสายส่งประมาณ 3.9 บาทต่อหน่วย

ท่านผู้อ่านอาจจะแย้งว่า ในเวลากลางคืนไม่มีแสงแดด แล้วจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ คำตอบก็คือเอาไฟฟ้าจากระบบสายส่งนั่นแหละ ตอนกลางวันก็ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเอง

ในอนาคตเมื่อราคาแบตเตอรี่ถูกลง ซึ่งในหลายประเทศได้มีขายกันอย่างแพร่หลายแล้ว เราสามารถหามาใช้ได้

อีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ถ้าเราคิดว่าเราสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.8 บาทโดยแต่ละกิโลวัตต์สามารถผลิตได้ 1,450 หน่วย นั่นคือโครงการนี้จะได้ทุนคืนภายใน 8 ปีครึ่ง [คือ 1,400,000 บาท หารด้วย (1,450 x 3.8 x 25)]

นั่นคือ ที่เหลืออีกประมาณ 17 ปีได้ใช้ไฟฟ้าฟรีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น