xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวทีสภาผู้บริโภค : ถกแถลงเรื่องราคาน้ำมันแพง

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

วันนี้ผมขอพูดถึงเรื่องใหญ่ 2 เรื่องที่กำลังกดทับคนไทยเรามายาวนาน คือเรื่องสิทธิของผู้บริโภคกับเรื่องราคาน้ำมันรวมทั้งก๊าซหุงต้มแพงด้วย ถ้าว่าไปแล้ว 2 เรื่องนี้ก็คือเรื่องเดียวกัน

ขอเรื่องแรกก่อนครับ

ย้อนไปถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้บัญญัติให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามที่กฎหมายบัญญัติ กลุ่มคนทำงานที่สนใจเรื่องนี้ก็ได้รวมตัวกันเสนอร่างกฎหมาย แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ยังไม่ผ่านวุฒิสภา

เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศประมาณ 300 องค์กรก็ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)” เพื่อทำหน้าที่ตามหลัก “สิทธิของผู้บริโภคสากล” ที่มีความเชื่อว่า “ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงสินค้าที่ปลอดภัยและบริการที่มีคุณภาพ เมื่อมีสิ่งที่ผิดพลาดเกิดขึ้นจะต้องได้รับการแก้ไขที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ แต่ผู้บริโภคแต่ละรายมีความยากลำบากที่จะทำให้เสียงของตนได้รับการพิจารณาหรือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

เรื่องราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มขึ้นราคาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่าเสียงบ่นแต่ละรายจะไม่มีพลังพอ

มาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติว่า “ผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” (มาตรา 46)

ขณะนี้ทาง คอบช. กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเสนอร่างกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง ถ้านับจากปี 2540 ถึงปัจจุบันนี้ก็ 21 ปีแล้วครับ ยังไม่สำเร็จ แต่ประชาชนจะท้อถอยไม่ได้ ถึงยังไม่มีกฎหมายเฉพาะมารองรับ แต่สิทธิของผู้บริโภคเป็นสิทธิที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคนโดยกำเนิดที่ทั่วโลกเขายอมรับกันแล้ว

ภาพข้างล่างนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในตอนบ่ายวันที่ 7 มิถุนายน นี้ครับ ใครสะดวกเชิญครับ

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องพลังงานซึ่งผมเองได้ให้ความสนใจและนำเสนอมาตลอดก่อนอื่น ผมต้องขออภัยในความผิดพลาด (จากการอ่านตัวเลขผิดไปหนึ่งรายการคือมูลค่าปิโตรเลียมของปี 2558 คือ 432,349 ล้านบาท ซึ่งที่ถูกต้องคือ 342,349 ล้านบาท ขออภัยอีกครั้งครับ) ในบทความเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดังนั้น ในปี 2559 บริษัทผู้รับสัมปทานมีกำไรสุทธิ 79.6% (ไม่ใช่ 143%) พร้อมกันนี้ผมได้นำบางส่วนในเอกสารอ้างอิงมาลงให้ดูด้วยครับ ใครสงสัยหรือไม่เชื่อก็ลองเข้าไปค้นดูได้ครับ

ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนก็คือ ให้ยกเลิกระบบสัมปทานไปมาเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิต ซึ่งหัวใจสำคัญระบบการแบ่งปันผลผลิต คือการประมูลว่า (1) บริษัทใดจะคิดค่าการลงทุนต่ำที่สุด และ (2) แบ่งผลผลิตให้รัฐในอัตราที่สูงที่สุด ในขณะที่ระบบสัมปทานเป็นการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการในประเด็นเล็กๆ เช่น แผนงานการผลิต การให้ทุนวิจัย และทุนการศึกษา เป็นต้น ส่วนประเด็นสำคัญ เช่น การหักค่าใช้จ่ายและภาษีเงินได้ ได้กำหนดไว้ตายตัวหมดแล้ว ไม่ต้องพิจารณาอะไร

แม้ไม่ได้มีหลักประกันว่าระบบการแบ่งปันผลผลิตจะให้ผลประโยชน์กับรัฐมากกว่าระบบสัมปทานเสมอไป แต่ก็เชื่อกันว่าระบบการแข่งขันน่าจะดีที่สุด นั่นคือรัฐได้รับผลประโยชน์มากขึ้น หรือบริษัทผู้ผลิตได้รับผลกำไรลดลงจากระดับ 80% ลงมาเหลือสัก 25% ก็ยังดี คิดเป็นมูลค่าก็หลายหมื่นล้านบาท

ประเด็นที่ผมสนใจก็คือ โลกในวันนี้และอนาคตความจำเป็นต่อการใช้น้ำมันลดลง

เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ผมเคยสรุปในบทความหนึ่งว่า “ต่อให้โลกนี้มีน้ำมันมากและราคาถูกเหมือนน้ำทะเล เราก็ไม่สามารถใช้น้ำมันได้มากกว่านี้อีกแล้ว เพราะเกินขีดจำกัดของระบบนิเวศที่ส่งผลให้เกิดโลกร้อน”

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รวมถึงข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2558 เป็นเครื่องยืนยันได้ดี และถ้าทุกประเทศร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจก (ซึ่ง 3 ใน 4 เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) อย่างจริงจัง โลกก็ยังร้อนเกิน 2 องศาเซลเซียสในปี 2100

นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และถ้าอยากจะไม่ให้อุณหภูมิเกิน 2 องศาเซลเซียสจริง ชาวโลกจะต้องลดการปล่อยลงอีกเท่าตัวของที่ได้ประกาศไปแล้ว หลังจากนั้น (หลังปี 2100) จะต้องหยุดการปล่อยก๊าซทั้งหมดและตลอดไป ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็ตายลูกเดียว หรือ Do or Die

ความจริงแหล่งพลังงานไม่ได้มีเฉพาะปิโตรเลียม นิวเคลียร์ และถ่านหินเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง คือ Nikola Tesla เคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ควรจะมีแหล่งพลังงานใช้ฟรี เพราะว่าพลังงานไฟฟ้ามีอยู่ทุกหนทุกแห่งอย่างไม่จำกัดจำนวน และสามารถขับเคลื่อนเครื่องจักรกลทั้งโลกได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ” (ดูภาพประกอบ)

Tony Seba อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Stanford ผู้เขียนหนังสือ Clean Disruption of Energy and Transportation ได้พยากรณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะถึงจุดสูงสุดที่ 100 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2020 จากนั้นจะลดลงเหลือ 70 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2030 เพราะคนจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของรถยนต์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย (ซึ่งมีประชากรประมาณ 40 ล้านคน) จะเพิ่มเป้าหมายจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า 5 ล้านคัน ในปี 2030 จากเดิมที่เคยตั้งไว้ 2.5 ล้านคัน ในขณะที่ปัจจุบันมีใช้แล้วประมาณ 3.4 แสนคัน พร้อมกันนี้ต้องใช้เงินลงทุนสถานีชาร์จแบตเตอรี่อีก 2,500 ล้านดอลลาร์

กลับมาที่บ้านเราครับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้ยกเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามาพิจารณา โดยการเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เขาบอกถึงข้อเสียอย่างที่ผมคิดไม่ถึงคือ “การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีผลโดยตรงต่อปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล และมีผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน” (ดูภาพประกอบ)

ผมคิดว่า วิธีคิดของ “คณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงาน” ชุดนี้ได้สะท้อนจุดยืนที่แท้จริงของพวกเขา

ในความเห็นของผมเรื่องการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ การลงทุนสถานีชาร์จแบตเตอรี่

ไม่ใช่เรื่องพ่อค้าน้ำมันจะขายน้ำมันไม่ได้

ดร.เฮอร์มันน์ เชียร์ อดีตสมาชิกรัฐสภาเยอรมนีและอดีตประธานสมาคม Eurosolar ได้เคยกล่าวว่า “อย่าปล่อยให้การส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในมือของระบบพลังงานในปัจจุบัน เพราะมันจะเหมือนกับการปล่อยให้การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่อยู่ในมือของนักอุตสาหกรรมผลิตบุหรี่”

จึงเรียนมาเพื่อให้ภาคประชาชนโปรดพิจารณาครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น