xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความตกต่ำลงของคะแนนนิยม : มุมมองจากภายในและภายนอกรัฐบาล (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้วิเคราะห์ในมุมมองของรัฐบาลเกี่ยวกับความตกต่ำลงของคะแนนนิยม ในสัปดาห์นี้จะพิจารณามุมมองของบุคคลภายนอก ถึงสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลมีคะแนนนิยมตกต่ำลง บุคคลภายนอกที่นำเสนอข้อวิเคราะห์ที่ชี้ถึงสาเหตุที่ทำให้คะแนนนิยมรัฐบาลตกต่ำลงมีจากหลายวงการตั้งแต่นักวิชาการ สื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนทั่วไป ผมได้ประมวลและวิเคราะห์เพิ่มเติมทั้งในประเด็นปัญหาหลักและรายละเอียดไว้หลายประเด็น

ประเด็นแรกคือ การปฏิรูปประเทศล้มเหลว อันเกิดจากการมีเจตจำนงที่อ่อนแอ การมีวิสัยทัศน์ที่ผิดพลาด และขาดความกล้าหาญในการแก้ไขปัญหาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูป การดำเนินงานเพื่อปฏิรูปประเทศเป็นไปในลักษณะสร้างม่านพรางตาเพื่อแสวงหาความชอบธรรม ด้านหนึ่งมีการแต่งตั้งคณะบุคคลจำนวนมากทั้งในรูปแบบของสภาและคณะกรรมการ เพื่อให้มานั่งคิด ประชุม ถกเถียง และผลิตเอกสารจำนวนมหาศาลที่มีการเขียนคำว่า “ปฏิรูปอยู่บนหน้าปก” ทำให้ดูเสมือนว่ามีเจตจำนงอันแรงกล้าในการปฏิรูปประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อมีการผลิตเอกสารปฏิรูปเสร็จแล้ว รัฐบาลกลับ “ซุกเอกสาร” อยู่ในซอกมุม โดยหาได้นำมาใช้เพื่อการตัดสินใจและขับเคลื่อนการปฏิรูปแต่อย่างใด

ไม่มีการปฏิรูปในความหมายที่เป็นมาตรฐานตามเหตุผลและหลักการเชิงวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในบรรดาผู้รู้และประชาชนผู้มีปัญญาโดยทั่วไป จะมีก็แต่เพียงการปฏิรูปในความหมายตามอารมณ์ความรู้สึกของผู้มีอำนาจรัฐ ที่ยอมรับกันในพวกพ้องของตนเองเท่านั้น ภาพของผลลัพธ์แห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปจึงผุดขึ้นดังดอกเห็ดต้นฤดูฝน เช่น ด้านการศึกษา คะแนนวัดสัมฤทธิผลการศึกษาของนักเรียนยังต่ำเฉกเช่นเดิม ไม่ว่าจะทดสอบด้วยแบบวัดภายในหรือภายนอกประเทศ ด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ดัชนีความโปร่งใสก็ตกต่ำลงตามจำนวนปีที่เป็นรัฐบาล ด้านกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ตำรวจก็ยังมีการบริหารแบบเดิม มีการปฏิบัติหน้าที่แบบเดิม โดยพฤติกรรมที่สร้างความไม่ธรรมแก่ประชาชนก็ยังปรากฎอย่างแพร่หลาย และอาชญากรรมก็ไม่มีแนวโน้มลดลง

การปฏิรูปประเทศเป็นพันธกิจหลักอย่างหนึ่งที่เป็นฐานของความชอบธรรมในการครองอำนาจของรัฐบาลนี้ ประชาชนจำนวนมากได้ตั้งความคาดหวังต่อรัฐบาลค่อนข้างสูงในการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นเมื่อประชาชนรับรู้และตระหนักว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลหาได้มีเจตจำนงอันแรงกล้า และมิได้มีความจริงจังในการปฏิรูป รวมทั้งยังรับรู้ถึงแนวทางการบริหารประเทศที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับการปฏิรูป ความนิยมที่ประชาชนเคยมีให้รัฐบาลในช่วงแรก ก็ค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่สอง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น อันมีทหารเป็นแกนหลัก ราชการเป็นแกนรอง และกลุ่มทุนเป็นแกนเสริม แต่ลดบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มีการให้ทหารเข้าไปเป็นแกนหลักทั้งการฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทั้งการบริหารราชส่วนกลางในฐานะรัฐมนตรี และการบริหารส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด กล่าวได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่ทหารชี้นำทิศทางการบริหารและการพัฒนาประเทศในทุกระดับ มุมมองและกรอบคิดของทหารนั้นติดอยู่ในเรื่องความมั่นคงและระเบียบวินัย มีโครงสร้างความคิดแบบกลไกและการเชื่อฟังสายบังคับบัญชา ซึ่งโดยธรรมชาติของความคิดและการบริหารเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับบริบทที่ซับซ้อน มีความหลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงสูงของสังคมในยุคปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้นการให้ทหารเข้าไปพัวพันกับเรื่องการบริหารด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารการพัฒนาและการดูแลความสงบเรียบร้อยภายในประเทศเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ตกอยู่ในวงจรของระบบอุปถัมภ์แบบตำรวจ ฝ่ายปกครอง และนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของทหารโดยทำให้อยู่ในระนาบเดียวกับตำรวจและนักการเมืองท้องถิ่นได้

การเพิ่มความเข้มข้นของการรวมศูนย์อำนาจ ยังทำให้ระบบราชการซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำอยู่แล้ว ยิ่งต่ำลงไปอีก เพราะการลดอำนาจในการตัดสินใจของข้าราชการระดับพื้นที่ ข้าราชการไม่กล้าตัดสินใจแก้ปัญหา ต้องรอฟังคำสั่งจากส่วนกลางหรือทหารเป็นหลัก ทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้าและไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน เมื่อประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที หรือแก้ไขแล้วแต่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนเพราะไม่ฟังเสียงประชาชน มิหนำซ้ำยังปิดกั้นการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชน การมีส่วนร่วมที่สร้างขึ้นก็เป็นเพียงการมีส่วนร่วมแบบพิธีกรรมเท่านั้น สิ่งที่ตามมาคือ การทำให้ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธาในข้าราชการและระบบราชการยิ่งขึ้นไปอีก และความเสื่อมนี้ย่อมเชื่อมโยงไปสู่รัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นที่สาม ยุทธศาสตร์การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด โดยมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบสุดขั้ว และเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนนักธุรกิจทั้งต่างชาติและทุนไทยอย่างมหาศาล ขณะที่ละเลยการแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจในระดับกลางและระดับฐานราก ไม่สามารถยกระดับรายได้ของประชาชนอย่างทั่วถึง ความยากจนและความเหลื่อมล้ำขยายตัวออกไปในวงกว้าง ธุรกิจขนาดกลางและเล็กประสบปัญหาต้องปิดตัวจำนวนมาก ราคาสินค้าเกษตรหลักตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าเกษตรอื่นๆ ขณะที่ค่าครองชีพกลับสูงขึ้น

การเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนปรากฎแก่สายตาของประชาชนอย่างชัดเจนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายให้สิทธิประโยชน์แก่นายทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือนายทุนด้านโทรทัศน์ดิจิตอล หรือการนำเงินภาษีประชาชนอุดหนุนเอทานอลที่นำมาผสมแก๊สโซฮอลล์ ด้วยการรับซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาดโลกเกือบเท่าตัว ขณะที่เก็บภาษีน้ำมันแพงอย่างมหาศาล หรือการไม่ใส่ใจในการสร้างความเป็นธรรมในการผลิตน้ำมัน ปล่อยให้นายทุนเอาเปรียบประชาชน ตลอดจนไม่ยอมแก้ไขโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก จนทำให้ประเทศไทยมีราคาน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบไปขายต่างประเทศ ประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลช่วยเหลือนายทุน มากกว่าประชาชน จึงเลี่ยงไม่พ้นที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากเลิกสนับสนุนรัฐบาล

ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยังมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์แก่นายทุนใหญ่ในด้านอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ทั้งการมีนโยบายจะนำเงินภาษีประชาชนรับซื้อเรือประมงพาณิชย์ที่ทำประมงผิดกฎหมาย และทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ หรือการยอมเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนยาปราบศัตรูพืช แทนที่จะมุ่งรักษาสุขภาพของประชาชน โดยยังยินยอมให้มีการจำหน่ายพาราควอต ยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีอันตรายอย่างสูงต่อสุขภาพของมนุษย์ แม้ว่าหลายประเทศห้ามใช้ยานี้แล้ว แต่ในประเทศไทยรัฐบาลยังยอมให้จำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย

ประเด็นที่สี่ ความล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริต และการปกป้องพวกพ้อง แม้ว่าในช่วงแรกรัฐบาลทำท่าขึงขังเอาจริงเอาจังกับการทุจริต โดยการโยกย้ายข้าราชการระดับกลางและล่างที่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต และการปลดผู้บริหารท้องถิ่นออกเป็นจำนวนมาก แต่ถึงที่สุดแล้วกลายเป็นว่าไม่ได้กระทำอย่างจริงจัง เพราะแทบจะไม่ปรากฎว่ามีข้าราชการหรือนักการเมืองท้องถิ่นรายใดถูกดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีเรื่องอื้อฉาวของคนใกล้ตัวเกี่ยวกับเรื่องการใส่นาฬิกาหรูจำนวนหลายสิบเรือน ก็ออกมาปกป้องอย่างออกหน้าออกตา จึงทำให้ประชาชนมองว่ารัฐบาลไม่ได้จริงจังกับเรื่องที่ประกาศต่อสาธารณะในทางกลับกันทำให้ภาพของการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานปรากฎขึ้นนั่นคือ การเล่นงานแต่คนที่ไม่ใช่พวก ส่วนคนที่เป็นพวกเดียวกับตนเองกลับปกป้อง เมื่อประชาชนมีการรับรู้แบบนี้ก็ทำให้ความไว้วางใจต่อรัฐบาลลดลง และเมื่อข้อมูลเกี่ยวกับดัชนีการทุจริตที่ประกาศโดยองค์การความโปร่งใสปรากฎออกมาในทิศทางที่บ่งชี้ว่าลำดับความโปร่งใสของรัฐบาลไทยต่ำลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ก็ยิ่งทำให้ความเชื่อว่าการทุจริตภายใต้การบริหารของรัฐบาลนี้มีไม่น้อยกว่ารัฐบาลอื่นๆที่มาจากการเลือกตั้ง ความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลก็ตกต่ำลงไปอีก

ประเด็นที่ห้า บุคลิกของผู้นำประเทศ ทั้งในเรื่องการพูดและการแสดงกิริยา ในเรื่องนี้ผมได้ประมวลความรับรู้ของประชาชนที่มีต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งตัวนายกรัฐมนตรีและทีมงานอาจมองไม่เห็นหรืออาจพอจะได้ยินอยู่บ้างแต่ไม่ยอมรับไว้ ๗ ประการคือ ๑). การพูดมากในลักษณะอวดดี อวดรู้ทุกเรื่อง และชอบกล่าวหาว่าประชาชนไม่เข้าใจหรือไม่รู้ ๒). การพูดและมีกิริยาท่าทีแบบยะโส โอหัง แข็งกระด้าง ไม่แคร์ใครและไม่เห็นใครอยู่ในสายตา ๓). การพูดแบบชอบทวงบุญคุณประชาชน ว่าตนเองยอมเสียสละมาทำงานเพื่อบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองสงบสุข ๔). การพูดจาในเชิงการข่มขู่หลายรูปแบบ เช่น “หากทำแบบนี้แล้ว ไม่รับประกันว่าในอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้น” หรือ “ขอให้พูดกันอย่างระมัดระวังกันด้วย เพราะไม่อยากให้ใครเดือดร้อน รัฐบาลไม่ได้ขู่ ไม่ได้ใช้กฎหมายไปบังคับ แต่กฎหมายมันมีอยู่แล้ว ก็ขอเตือนให้ทุกคนได้ทราบ” ๕) การพูดด้วยท่วงทำนองกราดเกรี้ยว ดุร้ายมีอารมณ์โกรธนำ เรื่องนี้เกิดบ่อยโดยเฉพาะในยามที่ถูกนักข่าวถามเรื่องที่จี้ใจของตนเอง ๖). การพูดจาหลักลอย หรือพูดแบบกลับไปกลับมา เช่นแนวคิดเรื่องการปฏิรูปตำรวจโดยกระจายอำนาจลงในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นการพูดแบบพูดแล้วพูดเลย ไม่ได้มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องให้เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด และ๗) การพูดแบบไม่รับผิดชอบหรือโยนความผิดให้คนอื่นๆ เช่น การพูดว่าราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นเพราะตลาดโลก หรือ ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นเพราะตลาดโลก

จะเห็นได้ว่าในมุมมองของคนภายนอกที่วิเคราะห์ถึงความนิยมที่ตกต่ำของรัฐบาลนั้นเกิดจากยุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ไม่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ผสมกับการบริหารทำลายความคาดหวังของประชาชน โดยสิ่งที่ประชาชนคาดหวังให้รัฐบาลทำ แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ทำ หรือมักทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความคาดหวัง และท้ายที่สุดคือบุคคลิกของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคลิกที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำการทางการเมืองในยุคศตวรรษที่ ๒๑

ทั้งหมดนั่นคือปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลให้รัฐบาลประยุทธ์ ต้องเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า “ตกจากสรรค์ของการมีคะแนนนิยมสูงในอดีต มาสู่ผืนพิภพแห่งความเป็นจริงของการมีคะแนนนิยมที่ตกต่ำปัจจุบัน” และผมคิดว่า หากพลเอกประยุทธ์ ยังบริหารและมีบุคลิกแบบเดิมต่อไป และยืนกรานจะเล่นการเมืองภายใต้บริบทการเลือกตั้งในอนาคต สิ่งที่จะเห็นคือประตูนรกแห่งเสียงก่นด่ากำลังเปิดรอต้อนรับอยู่




กำลังโหลดความคิดเห็น