xs
xsm
sm
md
lg

หลังเลือกตั้งใครจะเป็นนายกฯ?

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


ถึงแม้ว่าในขณะนี้ ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน แต่ถ้าดูจากเหตุปัจจัยทางการเมืองแล้ว ประเทศไทยจะต้องมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แน่นอนในเวลาอีกไม่นานต่อจากนี้ ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในขณะนี้ประชาชนเริ่มจะเบื่อรัฐบาลในระบอบเผด็จการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้จะเห็นได้จากเสียงวิพากษ์รัฐบาลในทางลบ ซึ่งปรากฏทางสื่อแขนงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อออนไลน์ แต่ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมเห็นจะได้แก่การจัดตั้งกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และจัดทำกิจกรรมทางการเมืองเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง

2. ประชาชนที่เคยหนุนรัฐบาลอย่างออกหน้าออกตา โดยหวังจะให้เข้ามาแก้ปัญหาของประเทศที่หมักหมมและสะสมกันมานาน ซึ่งรัฐบาลในอดีตแก้ไม่ได้หรือไม่ได้แก้

แต่วันนี้ส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้ และอาจเป็นส่วนใหญ่ด้วย ได้หันมาวิพากษ์รัฐบาลในทางลบ เนื่องจากผิดหวังในการทำงานของรัฐบาล และในที่สุดกลุ่มนี้จะผลักดันให้มีการเลือกตั้ง และเชื่อได้ว่าคงจะเลือกฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล

3. โรดแมปซึ่งเป็นนโยบายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดไว้เป็นที่แน่นอนว่าจะมีการเลือกตั้งหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกประกาศใช้

จากเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น เป็นการอนุมานได้ว่าจะมีการเลือกตั้ง ส่วนวัน เวลาจะเป็นไปตามที่กำหนดไว้เดิมหรือขยายออกไปเท่านั้น แต่ถึงแม้จะขยายออกไปก็คงไม่มาก

ดังนั้น ความกังวลที่ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งคงจะหมดไป แต่จะมีข้อกังขาสงสัยในประเด็นใหม่เกิดขึ้น และน่าสนใจกว่า นั่นก็คือข้อกังขาที่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี หลังมีการเลือกตั้งระหว่างคนที่มาจากการเลือกตั้ง กับคนนอกวงการเลือกตั้ง แต่เป็นคนในข่ายแห่งความคาดหวังของประชาชนจะให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากเหตุปัจจัยทางการเมืองในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แล้วคนนอกวงการเลือกตั้งน่าจะได้เปรียบคนในวงการเลือกตั้ง ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 และภายใต้ความคาดหวังทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากการชุมนุมทางการเมือง ทั้งของกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส.จะเห็นได้ชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่เบื่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนจะให้มีการเลือกตั้ง

ดังนั้น การเลือกตั้งโดยที่ยังมิได้มีการปฏิรูปการเมือง ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ประชาชนอาจออกมาลงคะแนนเลือกตั้งน้อย ยกเว้นมวลชนจัดตั้งของพรรคการเมือง ซึ่งมีความผูกพันกับพรรคการเมืองและนักการเมือง เป็นการส่วนบุคคล จะออกมาเต็มจำนวนที่แต่ละพรรคและนักการเมืองแต่ละคนมีอยู่ ถ้าการอนุมานนี้ถูกต้อง พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีมวลชนจัดตั้งมากกว่าพรรคอื่น หรือแม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐจะได้รับเลือกมากกว่าพรรคขนาดเล็ก แต่ถึงกระนั้นก็คงจะไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว หรือแม้กระทั่งร่วมกับพรรคขนาดเล็กแล้วก็คงไม่พอ เว้นแต่สองพรรคใหญ่จะร่วมกัน และมีพรรคขนาดเล็กเข้าร่วมด้วย อาจมีจำนวนมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก จะเป็นไปได้ก็แค่ทำแนวร่วมในการคัดค้านคนนอกมิให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ดังนั้น ทางออกที่เหลืออยู่ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยร่วมกับ ส.ว. 250 คน โดยมีพรรคขนาดเล็กร่วมด้วย แล้วหนุนคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนคนนอกจะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือคนอื่น

ข้อนี้พอจะอนุมานได้ดังนี้

1. ถ้าพรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว. 250 คนร่วมกัน โดยมีพรรคขนาดเล็กร่วมด้วยก็มีโอกาสจัดตั้ง แต่คนนอกที่ว่านี้ ไม่น่าจะใช่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะถ้าพรรคประชาธิปัตย์หนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็เท่ากับยอมรับแนวทางของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว ประกอบกับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ต่อสู้กับระบอบเผด็จการมาตลอด คงจะไม่ยอมให้ผู้นำรัฐบาลในระบอบเผด็จการสืบทอดอำนาจ โดยการมาเป็นผู้นำรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ การตั้งรัฐบาลตามแนวทางข้างต้น จึงเป็นไปได้ยาก

2. ในทางกลับกันพรรคเพื่อไทยร่วมกับ ส.ว. 250 คน โดยมีพรรคเล็กร่วมด้วยแล้วหนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี แนวทางนี้เป็นไปได้มากกว่าแนวทางที่ 1 เพราะพรรคนี้ขึ้นอยู่กับนายใหญ่คนเดียว ถ้านายใหญ่เห็นด้วยอะไรก็เกิดขึ้นได้

แต่อย่างไรก็ตาม การที่พรรคเพื่อไทยจะหนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นไปได้ในสภาฯ แต่อาจมีการเมืองนอกสภาฯ ขึ้นมาเป็นอุปสรรคทำให้การตั้งรัฐบาลตามแนวทางนี้ไปไม่ถึงดวงดาวได้

3. การจัดตั้งรัฐบาลที่ลงตัวและเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับ ส.ว.โดยมีพรรคเล็กร่วมด้วย แล้วหนุนคนนอกซึ่งไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เป็นคนนอกที่อยู่ในข่ายแห่งความคาดหวังของประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับ ในทำนองเดียวกันกับที่พรรคประชาธิปัตย์เคยหนุนให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ มาแล้วในอดีต และทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นอุปสรรคในหลายด้านมาแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น