xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผู้โดยสารหาย กำไรหด น้ำมันพุ่ง โจทย์หิน “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” ดีดี “การบินไทย” คนใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดีการบินไทยคนใหม่
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กว่าบอร์ดการบินไทยจะเคาะตั้ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี ก็ใช้เวลาสรรหาไปร่วมสองปี จนในที่สุด “หวยล็อก” ก็ไปออกที่ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ผู้ซึ่งมีผลงานเคยพลิกฟื้น ธพส.จากขาดทุนมากำไร แต่เขาจะนำพาบินไทยโลดแล่นขึ้นชั้นพรีเมียมแอร์ไลน์ ภายใต้การแข่งขันอันดุเดือดได้สำเร็จหรือไม่ ยังไม่แน่ แม้ว่า “เฮียกวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ จะการันตีฝีมือว่าคนนี้ “ทำงานดี” ก็ตาม

หากพลิกโปรไฟล์ดีดีคนใหม่ หลานชายของ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม (อากู๋) ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็น่าแปลกใจอยู่สักหน่อยเพราะไม่ใช่คนในวงการอุตสาหกรรมการบินมาก่อน แต่โดดเด่นจากการบริหารแกรมมี่ของตระกูลดำรงชัยธรรม ก่อนจะมาฟื้นฟู บริษัทแฟมิลี่ โนฮาว จำกัด สถานีโทรทัศน์เพื่อเศรษฐกิจและการลงทุน Money Channel ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากนั้นโยกไปเป็น ผู้บริหาร บริษัท น้ำมันพืชไทย (TVO) และเข้ารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) เมื่อปี 2556

การได้รับคัดเลือกเข้ามานั่งเป็นดีดีบินไทย คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่านี่เป็นม้ามืดที่ถูกส่งมาจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้วยชื่อเสียงที่ว่ามีชั้นเชิงกลยุทธ์การบริหารที่เรียกว่า “ทฤษฎีอีแร้ง” คือการหาประโยชน์จากเศษซากหรือการหาและเพิ่มรายได้จากทุกภาคส่วนของกิจการ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟู ธพส. ให้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ก็คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ “ม้ามืด” รายนี้วิ่งเข้าเส้นชัยแบบเหนือความคาดหมาย แม้แต่เจ้าตัวเองก็ยังไม่คิดฝัน ดังนั้น การบินไทย ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤตจะฟื้นได้ด้วยทฤษฎีอีแร้งที่ม้ามืดคนนี้ถนัดหรือไม่ ยังต้องรอดูฝีมือกัน

แต่ก่อนจะไปว่าถึงภารกิจสุดหินที่การบินไทยในมือของ “หลานอากู๋” ขอย้อนไทม์ไลน์กลับไปดูการสรรหาดีดีบินไทยที่ลากยาวกันเกือบสองปี โดยรอบแรกที่เปิดรับสมัครเมื่อเดือน ก.ย. 2559 สิ้นสุด ต.ค. 2559 แต่ได้เลื่อนต่อเวลาอีกหนึ่งเดือน รอบนั้นมีผู้สมัคร 9 คน เหลือผ่านคุณสมบัติ 4 คน ประกอบด้วย 1. นายดนุช บุนนาค ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย 2.นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 3.นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ 4.นายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งก็มีลุ้นกันอยู่ที่ชื่อนายดนุช เพราะเป็นคนในบินไทย และนายยงสิทธิ์

แต่สุดท้ายก็ล้มโดยเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2560 นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงคลัง (ขณะนั้น) ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา แจ้งผลว่า ผู้สมัครทั้ง 4 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดตามที่ตามสเปกกำหนดหลักใหญ่ไว้ว่าต้องดูภาพรวมการบริหารโดยเฉพาะการเงิน การแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น บุคลากร การตลาด การเร่งตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจการบินด้วย

จากนั้น บอร์ดการบินไทย จึงมีมติเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2560 ให้ดำเนินการสรรหาดีดีใหม่อีกครั้ง โดยเปิดให้ผู้สนใจยื่นใบสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. - 15 ก.ย. 2560 และมีการขยายเวลาไปถึง 20 ต.ค. 2560 และเปิดให้ขยายเวลารับสมัครอีกครั้งจนถึงวันที่ 24 พ.ย. 2560 จากนั้นได้ขยายเวลาอีกถึง 29 ธ.ค. 2560 และขยายเวลารับสมัครอีกครั้งถึง 23 ก.พ. 2561 และขยายต่ออีกจนสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2561 โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ให้เหตุผลว่าเนื่องจากผู้สมัครยังมีคุณสมบัติไม่พอ

การรับสมัครรอบสองนี้ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานบอร์ดการบินไทย ระบุคุณสมบัติโดดเด่นของดีดีใหม่จะต้องรู้งานและทำตามแผนปฏิรูปองค์กรที่จะเน้นหนักในเรื่องการแข่งขันกับสายการบินทั่วโลก เชี่ยวชาญด้านบริหาร สื่อสารกับคนในบินไทยเพื่อเดินตามแผนปฏิรูปรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะสายการบินระดับพรีเมียมในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์

ในที่สุด การสรรหาครั้งล่าสุดที่มีผู้สมัคร 4 คน ได้แก่ 1. นายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2. นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 3. นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม และ 4. ดร.สุมาส วงศ์สุนพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มสามมิตร ก็มีผู้เข้าสัมภาษณ์ 2 คน คือ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม 4. ดร.สุมาส วงศ์สุนพรัตน์ ส่วนอีก 2 คนได้ขอถอนตัว และสุดท้ายก็เคาะไปที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ส่วนจะผ่านโดยมีคุณสมบัติเป็นไปตามสเปกที่กำหนดไว้ทั้งในการคัดเลือกรอบแรกและรอบสองหรือไม่ โปรไฟล์ของนายสุเมธ ก็มีคำตอบในตัวอยู่แล้ว

นายสุเมธ มีอายุ 54 ปี จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์บัณฑิต สาขาทฤษฎีการเงินและการคลังสาธารณะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาการบริหารและเทคโนโลยีการก่อสร้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, บริหารธุรกิจบัณฑิต (การบริหารทั่วไป) มหาวิทยาลัยรามคำแหง และพาณิชยศาสตร์มหาบัณฑิต (บริหารธุรกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากจบปริญญาโท เข้าทำงานกับบมจ.เงินทุนธนชาต ร่วมสิบปี ไต่เต้าขึ้นเป็นผอ.ฝ่ายบรรษัทธนกิจ จากนั้นย้ายมาที่บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และจีเอ็มเอ็ม มีเดีย มีตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ จากนั้นย้ายไปบริหารบมจ.น้ำมันพืชไทย ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ก่อนเข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) ตั้งแต่ปี 2556

ชื่อของนายสุเมธ เข้าตาจนกลายเป็นม้ามืดคว้าตำแหน่งดีดีบินไทย ด้วยผลงานที่ว่า นายสุเมธ เข้าบริหาร ธพส.ในช่วงที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรง มีหน่วยงานราชการค้างจ่ายค่าเช่า และค่าปรับปรุงสถานที่อีกมากกว่า 1,000 ล้านบาท รวมถึงปัญหาเรื่องการจัดการที่ร้านค้าในเชิงพาณิชย์ แต่นายสุเมธ ใช้เวลา 3 ปี พลิกฟื้นสถานะของ ธพส.และบริษัทย่อย จากขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ปี 2553 จนมีกำไร 585 ล้านบาทในปี 2558 ปี ขณะที่ปี 2559 มีกำไร 580 ล้านบาท ล่าสุดปี 2560 มีกำไร 872 ล้านบาท โดยหนึ่งในกลยุทธ์การบริหารที่ใช้เรียกว่า ทฤษฎีอีแร้ง โดยจัดระเบียบร้านค้าใหม่เพื่อหารายได้เพิ่มและการต่อยอดลงทุนในด้านที่มีศักยภาพ

แต่อย่างไรก็ตาม หลังมีชื่อขึ้นชั้นดีดีบินไทยแบบเหนือความคาดหมาย ฝ่ายที่ไม่ประสงค์ดีก็งัดข้อมูลด้านลบขึ้นมาเล่นงานทันทีว่า นายสุเมธ เป็นเพื่อนร่วมรุ่น 8 จากสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) กับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ขณะเดียวกัน ค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ของ “อากู๋” ก็ได้ชื่อว่าอยู่ในเครือข่ายธุรกิจที่ใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นายสุเมธ ชี้แจงผ่านสื่อต่อกระแสข่าวที่ออกมาว่า อยากให้ดูผลงาน ซึ่งที่ผ่านมาตนเองมีประสบการณ์บริหารองค์กรหลายแห่ง และไม่มีเรื่องเสียหายโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวโยงกับการเมืองหรือนักการเมืองนั้น ยืนยันได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใดในการเข้ามารับตำแหน่งดีดีการบินไทยในครั้งนี้ ที่ผ่านมาการบินไทยเจอปัญหาและกระแสข่าวด้านลบมาเยอะแล้วจึงต้องการให้ประชาชนในสังคมเข้าใจและเอาใจช่วยให้องค์กรรัฐวิสาหกิจแห่งนี้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับโจทย์ใหญ่ของดีดีบินไทยคนใหม่นั้น นายสมคิด ให้การบ้านว่าต้องทำให้การบินไทยแข่งขันได้ในตลาดระดับบน การบินไทยต้องไม่ลงไปแข่งกับโลว์คอร์ส ซึ่งมีบริษัทในเครือคือนกแอร์กับไทยสมายทำอยู่แล้ว ส่วนเรื่องหนี้สินสะสมไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ต้องดูแผนระยะยาวว่ามีแผนหารายได้อย่างไรและลงทุนอะไรบ้าง เช่น การซื้อเครื่องบินเพิ่ม สร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจสายการบินที่ต้องมีกลยุทธ์ในการบริหาร

ขณะที่ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูใหม่ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในช่วงปลาย พ.ค.นี้ เพื่อพิจารณารายละเอียด ทั้งนี้แผนฟื้นฟูการบินไทยใหม่ได้กำชับในเรื่องของการจัดทำแผนธุรกิจขององค์กรให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงการทำแผนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ และการบริหารจัดการองค์กร เพื่อให้สามารถสร้างกำไรและมีความยั่งยืนได้ควบคู่ไปกับการเร่งขายเครื่องบินเก่าที่จอดทิ้งไว้เพื่อจัดหารายได้เพิ่ม

การพลิกฟื้นการบินไทยให้กลับมารุ่งเรืองนั้น นายสุเมธ ต้องถอดสมการปัญหาจากรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของบินไทยล่าสุด ซึ่งปรากฏว่า ผู้โดยสารลด กำไรหดถึง 14% ขณะที่ราคาน้ำมันเป็นขาขึ้น ไหนยังจะแบกค่าซ่อมเครื่องบินอีก

รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 ของการบินไทย ตามที่นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ระบุการบินไทย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,717 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,157 ล้านบาท หรือลดลง 13.9% โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.24 บาท ลดลงจากปีก่อน 1.45 บาท หรือลดลง 14.5%

บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 53,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 3,662 ล้านบาท หรือ 7.4% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินเพิ่มขึ้น 6.4% จากปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น 2.2% และรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 4.5% รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์เพิ่มขึ้น 9.9% และรายได้จากการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 16.4%

สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 49,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,393 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.1% เนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 1,189 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.3% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นถึง 22.8% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 1,280 ล้านบาท หรือ 3.9% สาเหตุหลักเกิดจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน และค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่เพิ่มขึ้น

ในไตรมาสนี้บริษัทมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ในการดำเนินงาน 104 ลำ สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 9 ลำ โดยในไตรมาสนี้ได้รับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 จำนวน 4 ลำ อัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilization) เท่ากับ 11.9 ชั่วโมง ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่เท่ากับ 12.4 ชั่วโมง บริษัทฯ และบริษัย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 4.9% โดยปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 2.2% มีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.6% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 80.9% แต่ต่ำกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 82.8% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.25 ล้านคน ต่ำกว่าปีก่อน 4.1%

ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Operating profit) จำนวน 3,836 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 49.4% จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นทั้งรายได้ค่าบัตรโดยสารและน้ำหนักส่วนเกิน รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ และรายได้จากการบริการอื่น

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 2,473 ล้านบาท จากมูลค่ายุติของเครื่องบินที่ปลดระวางและรอการขายจากผู้ประเมินราคามาตรฐานที่บริษัทใช้อ้างอิงปรับลดลงจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเครื่องบินแอร์บัส A340 ขณะที่กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 583 ล้านบาทที่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชี ส่งผลให้มีกำไรสุทธิบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาสนี้ลดลงเมื่อเที่ยบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ณ วันที่ 31 มี.ค. 61 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 286,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค. 60 จำนวน 5,394 ล้านบาท (1.9%) หนี้สินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยเท่ากับ 251,413 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,651 ล้านบาท (1.1%) และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 34,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,743 ล้านบาท (8.6%) เป็นผลมาจากการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรในไตรมาสนี้

ถึงแม้การบินไทย จะมีกำไรลดลงในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ ประเมินในบทวิเคราะห์ว่า การบินไทย จะมีกำไรปี 2561 จำนวน 4,850 ล้านบาท และปี 2562 จำนวน 6,780 ล้านบาท

ขณะที่ สายการบินอื่นๆ มีแนวโน้มอู้ฟู่ถ้วนหน้า จากรายงานพิเศษ “วัดพลัง 4 สายการบิน เทกออฟ 3 เดือนแรก การบินไทยไม่ขาดทุนแต่ยังแพ้ ผู้โดยสารลดลง” ของ positioning mag เผยแพร่เมื่อ 20-05-2018 ระบุว่า ไทยแอร์เอเชียติดลมบน เพราะกวาดส่วนแบ่งตลาดผู้โดยสารในเส้นทางในประเทศจำนวนมาก จนทำให้มียอดรวมผู้โดยสาร รายได้ และกำไรเติบโต โดยในไตรมาสแรกปี 2561 มีรายได้ 11,642.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ประมาณ 22% กำไรสุทธิ 1,004.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ถึง 76.1% ทำให้ไทยแอร์เอเชียมั่นใจว่าปีนี้กำไรทะลุเป้าหมายแน่นอน จากผู้โดยสารที่คาดว่าจะมี 23.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17% โดยบริษัทหลักทรัพย์เคจีไอประเมินว่ากำไรปี 2561 และ 2562 จะทำได้ถึง 1,670 ล้านบาท และ 2,050 ล้านบาท

ส่วนนกแอร์ ที่มีสายการบินนกสกู๊ตในเครือด้วย ที่ขาดทุนมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 คือปี 2557 ขาดทุน 471 ล้านบาท 2558 ขาดทุน 726 ล้านบาท 2559 ขาดทุน 2,795 ล้านบาท และปี 2560 ขาดทุน 1,854 ล้านบาท ไตรมาสแรก ปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารรวม 2.52 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.83% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีผู้โดยสาร 2.43 ล้านคน มีรายได้รวม 6,083.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 6% ขาดทุน 1.18 ล้านบาท หรือลดประมาณ 99%

แต่หากดูเจาะลึกเฉพาะสายการบินนกแอร์ ขาดทุน 26.88 ล้านบาท แม้จะขาดทุนแต่ก็ลดลงจากปีที่แล้วมาก เพราะมีการลดต้นทุนตามนโยบายบริษัทแม่คือการบินไทยที่ถือหุ้นใหญ่ในนกแอร์และปรับกลยุทธ์บินเช่าเหมาลำไปจีนมากขึ้น สำหรับนกสกู๊ตมีรายได้ 1,772.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 32.6% กำไรสุทธิ 9.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 270.77% มีผู้โดยสาร 310,000 คน เพิ่มขึ้น 22.87% นกแอร์ไม่ประกาศการประเมินกำไรในปีนี้ แต่คาดว่าจะมีรายได้ 2,800 ล้านบาท

สำหรับบางกอกแอร์เวย์ ที่มีการเพิ่มเที่ยวบินต่างประเทศ และร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรมากขึ้น ทำให้มีรายได้รวม 7,830.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% และพลิกมากำไรในไตรมาสแรกของปีนี้ ถึง 710 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.6% จากไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้วขาดทุน 834 ล้านบาท สำหรับจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 1.75 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.4% จากปีที่แล้วมีผู้โดยสาร 1.62 ล้านคน เที่ยวบิน และเส้นทางบินที่เพิ่มขึ้น เช่น กรุงเทพ-ฟูโกว๊ก จาก 4 เป็น 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงเทพ-เวียงจันทน์ จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เปิดส้นทางบิน เชียงใหม่-ฮานอย 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และในเดือนก.พ.ลงนามบริการเที่ยวบินร่วมกับสายการบิน เอแอล อิสราเอชแอร์ไลน์ ทำให้มีพันธมิตรรวม 24 สายการบิน ส่วนเป้าหมายของรายได้ปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2560 ที่มีรายได้ 28,493.3 ล้านบาท

ดูทรงแล้ว การบินไทยจะสู้คู่แข่งได้หรือไม่ จะรุ่งเรืองหรือรุ่งริ่ง อีกไม่นานคงได้เห็นผลงาน “หลานอากู๋” กัน




กำลังโหลดความคิดเห็น