xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

7.2 แสนปัญหา แก้ด้วยเงิน3.4หมื่นล้าน จับตา 120 วันการเดินทาง“ไทยนิยม ยั่งยืน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประกาศใช้แล้วสำหรับงบประมาณขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จากวงเงินรวม 150,000,000,000 บาท
 
ตามมาตรา 15 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ให้ตั้งเป็นจำนวน 34,022,513,200 บาท จำแนกดังนี้ (1) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 20,000,000,000 บาท (2) กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 13,872,513,200 บาท (3) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช 150,000,000 บาท

วันก่อน ( 15 พ.ค.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ประชุมมอบแนวทางการลงพื้นที่ ครั้งที่ 4 (เวทีที่ 4) ของทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล/ชุมชน ผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) เพื่อเป็นการซักซ้อมแนวทางการลงพื้นที่ของทีมขับเคลื่อนฯ ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค 61 เป็นต้นไป ภายหลังจากการลงพื้นที่ เวทีครั้งที่ 3 (11 เม.ย.-15 พ.ค. 61) กว่า 78,516 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.56 พบว่ามีจำนวนประชาชนเข้าร่วม “เวที” 7.146 ล้านคน (จากประชากร 65 ล้านคน) เฉลี่ยเวทีละ 94 คน ซึ่งตามแผนงานใหม่ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปรับกรอบเวลา จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ค.2561 คือ เดือน 14 พ.ค- 10 ก.ย. 61 ต้องเรียบร้อยทั้งหมดคือ งบประมาณ 34,022,513,200 บาท จะต้องลงพื้นที่ในช่วงเดือนกันยายน 2561

ในด้านงบประมาณหมู่บ้าน/ชุมชน ละ 200,000 บาท ที่สั่งการให้จังหวัดไปรวบรวมนั้น มีการคาดการณ์ (สรุปจาก 3 เวทีแรก)ว่า หมู่บ้าน/ชุมชน จะเสนอมากว่า 87,473 โครงการ เป็นด้านสาธารณูปโภคสูงสุดถึง 69,539 โครงการ หรือร้อยละ 86.70 รองลงมาเป็นเรื่องของการสร้างอาชีพ/สร้างรายได้ 9,846 โครงการ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 4,671 โครงการ สิ่งแวดล้อม 611 โครงการ สาธารณสุข 12 โครงการ และโครงการอื่น 2,794 โครงการ
 
ขณะเดียวกันในพื้นที่ได้รายงานสภาพปัญหาความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ประชาชนเสนอในเวทีครั้งที่ 3 กว่า 726,784 รายการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะนำไปวิเคราะห์เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหา โดยเชิญเอกชน (ภาคประชารัฐ) ภาคประชาสังคม ผู้บริหาร อปท. และสถาบันการศึกษามาจัดทำแผนแล้ว

ตามกรอบเวลาแล้ว “กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณทั้ง 3.4 หมื่นล้านบาท และจัดสรรให้ ที่ทำการปกครองจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบโครงการที่คณะทำงานกลั่นกรอง “เอกชน ประชาสังคม มหาวิทยาลัย” พิจารณาจากหมู่บ้าน/ชุมชน แล้ว จังหวัดก็จะโอนเงินเข้าบัญชีหมู่บ้าน/ชุมชนนั้น ๆ

120 วันที่ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. ทีมขับเคลื่อนจะมีการเรียกประชุมประชาคม 78,516 แห่ง เพื่อคัดเลือกโครงการ (14-23 พ.ค.61) นั่นคือเสนอโครงการภายในวงเงิน 2 แสนบาท โดยเสนอได้ไม่เกิน 2 โครงการ และสามารถควบรวมโครงการกับหมู่บ้าน/ชุมชนข้างเคียงได้ จากนั้น จะมีการแต่งตั้ง “คณะผู้รับผิดชอบพิเศษ ต่าง ๆ” ประกอบด้วย คณะผู้รับผิดชอบจัดซื้อจัดหา คณะผู้รับผิดชอบตรวจรับ และคณะผู้รับผิดชอบเบิกจ่ายเงินและจัดทำบัญชี คณะละไม่น้อยกว่า 3 คน

จากนั้นระหว่าง (24-28 พ.ค. 61) คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน ที่มีอยู่แล้วกว่า 7 หมื่นแห่ง จะเป็นผู้ข้ามาจัดทำรายละเอียดโครงการ ร่วมกับ คณะผู้รับผิดชอบเบิกจ่ายเงินและจัดทำบัญชี เพื่อเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ประกอบด้วย ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน ธ.เพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และ ธ.อิสลาม
 
ส่วนขั้นตอนพิจารณาอนุมัติโครงการและส่งแผนใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอผู้ว่าชการจังหวัด/ปลัดกทม. เห็นชอบจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.2561 และส่งต่อไปยังสำนักงบประมาณและกองจัดทำงบประมาณพื้นที่ 18 พื้นที่ และวันที่ 23-25 มิ.ย.จะเข้าสู่กระบวนการโอบงบประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท จาก 76 จังหวัด/กทม. ไปยังบัญชีของโครงการที่ได้รับการกลั่นกรอง เพื่อให้หมู่บ้านและชุมชนเริ่มดำเนินโครงการ คือ 26 มิ.ย.-7 ก.ย.61 มีแนบท้ายว่า หากปิดบัญชีแล้ว หากมีเงินเหลือให้จัดส่งคืนอำเภอหรือเขต และสามารถขยายเวลาโครงการได้ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.61

การประชุมกับผู้ว่าฯ วันนั้น รมว.มหาดไทย ยังให้จังหวัดเตรียมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลโครงการที่คาดว่าหมู่บ้าน/ชุมชนจะเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน (หมู่บ้าน/ชุมชน ละ 200,000 บาท) ที่กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้จังหวัด/อำเภอรวบรวม

มีการแจ้งเพิ่มเติมไปยังทุกจังหวัด ว่า ในเวทีที่ 4 ให้เพิ่มประเด็นข้อมูล “มาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพดี” จะส่งผลให้ราคาข้าวมีมูลค่าสูงขึ้น และ “มาตรการช่วยเหลือชาวนา”ที่รัฐบาลเห็นชอบไปก่อนหน้านั้นวงเงินรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ไปประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่รับทราบ ประกอบด้วย

โครงการการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ครัวเรือนละไม่เกิน 12,000 บาท ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และข้าวปทุมธานี 1 อัตราไร่ละ 1,200 บาทต่อราย ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง ไม่เกินรายละ 10 ไร่ วงเงินจ่ายขาด 48,321.07 ล้านบาท

โครงการการจัดทำ Application "จองรถเกี่ยว" , โครงการประชารัฐเชื่อมโยงตลาดข้าวเชื่อมโยงผู้ผลิตภายใต้โครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่สนใจ เข้าร่วมโครงการของกระทรวงพาณิชย์ อาทิ ข้าวเจ้าพื้นนิ่ม/ ข้าว กข 43/ ข้าวอินทรีย์/ ข้าวสี เป็นต้น รวมถึง ส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ, มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 ,โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ,โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ,โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และโครงการประกันภัยข้าวนาปี

ในงบประมาณวงเงิน 4.3 หมื่นล้านนั้น ยังรวมไปถึง “แผนการจ้างนักศึกษาช่วยปฏิบัติงานสนับสนุนโครงการ” ในพื้นที่ 78,516 แห่ง โดยคุณสมบัติของนักศึกษา ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี นับถึงวันสุดท้ายของวันรับสมัครต้องเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี และไม่อยู่ระหว่าง พักการเรียน หรือไม่อยู่ระหว่างรอสภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญา เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอที่รับสมัคร (ยกเว้นอำเภอใดมีจำนวนผู้สมัครไม่เพียงพอให้รับสมัครผู้มีภูมิลำเนาในอำเภอข้างเคียงได้)

หน้าที่ความรับผิดชอบ ประกอบด้วย การลงพื้นที่ในตำบลที่ได้รับมอบหมาย (1 คน ต่อ 1 ตำบล)โดยลงพื้นที่ร่วมกับทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการ (ทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล) บันทึกข้อมูลการลงพื้นที่ และสนับสนุนทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล ในการทำงาน ช่วยอำเภอในการบันทึกข้อมูลตามโครงการช่วยดำเนินงานตามโครงการ หมู่บ้าน/ชุมชนละ 200,000 บาท และภารกิจอื่น ๆ ตามที่นายอำเภอมอบหมาย
 
ระยะเวลาการจ้าง ให้จ้างจำนวนไม่เกิน 60 วันต่อคน โดยให้เริ่มจ้างได้ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป อัตราค่าจ้าง ให้จ่ายค่าจ้างในอัตราไม่เกินวันละ 300 บาทต่อคนต่อวัน ให้ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน และ จ่ายเงินค่าจ้างให้กับนักศึกษาด้วยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนักศึกษา ทุก 15 วันเฉพาะงบประมาณ จัดจ้างนักศึกษาช่วยปฏิบัติงานสนับสนุนโครงการใน 78,516 ตำบล รายละ 18,000 บาท/เดือน (วันละ 300บาท/ไม่เกิน 60 วันต่อคน) รวมทั้งสิ้น 1,413,288,000 บาท.




กำลังโหลดความคิดเห็น