xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เดินหน้าปรับปรุงค่าตอบแทน สนอง! “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มติคณะรัฐมนตรี หลายวันก่อน “ 1 พ.ค.61”ที่ ไม่มีการแถลงต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการจากคณะโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ เรื่องของการปรับปรุงค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
 
การปรับปรุงค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ที่ ครม.อนุมัติล่าสุด แม้จะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ว่าตำแหน่งใด ค่าตอบแทนเท่าไร แต่ได้ยินคร่าวๆว่า เป็นหน่วยงานเดิม ที่เคยเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

ย้อนหลังไปดูการดำเนินการ “ปรับปรุงค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง”มีการทำต่อเนื่องหลังจาก ต้นปี 61 ที่ผ่านมา มีการอนุมัติการปรับขึ้นเงินค่าตอบแทนตำแหน่ง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ที่ได้ปรับเพิ่มเป็น 83,090 บาท จากเดิม 75,590 บาท ประธานกรรมการในองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้รับ 81,920 บาท จากเดิม 74,420 บาท ขณะที่อัยการสูงสุด รองประธานศาลฎีกาหรือเทียบเท่า รองประธานศาลปกครองสูงสุดหรือเทียบเท่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับ 81,920 จากเดิม 73,240 บาท ประธาน ก.พ.ค. กรรมการในองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้รับ 80,540 บาท จากเดิมได้รับ 73,240 บาท ตุลาการศาลยุติธรรมตำแหน่งอื่น ชั้น 4 ตุลาการศาลปกครองตำแหน่งอื่นชั้น 3 ได้รับ 76,800 บาท จากเดิม 69,810 บาท โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด แต่จะตัดเงินเพิ่มพิเศษที่เคยได้รับให้ไปอยู่กับเงินค่าตอบแทนที่ได้เพิ่มขึ้น เพื่อประหยัดงบประมาณ ทั้งนี้ จะมีผลหลังจากกฎหมายใช้บังคับ รวมถึง กำหนดให้ตำแหน่ง รอง ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เป็นตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง และกำหนดให้ตำแหน่งผอ.สนทช.และรองผอ.สนทช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ในอัตรา 21,000 บาท และ 14,500 บาทตามลำดับ

มีการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ และร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 6 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ได้แก่ 1.1 ร่าง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 1.2 ร่าง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 1.3 ร่าง พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

1.4 ร่าง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 1.5 ร่าง พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ 1.6 ร่าง พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ที่ผ่านมา ครม.ได้สั่งการให้สำนักงานก.พ. ดำเนินการโดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง โดยทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากได้นำเงินเพิ่มค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามร่างพระราชบัญญัติ ข้อ 1.1 และ 1.2 แล้วแต่ละองค์กรจึงไม่ควรมีอำนาจกำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพดังกล่าวอีก

ให้แยกการกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากร่าง พระราชบัญญัติตามข้อ 1.3 เป็นกฎหมายเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้แยกศาลรัฐธรรมนูญออกจากองค์กรอิสระเป็นองค์กรศาลแล้ว
 
และให้กำหนดการมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันกับประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และรองประธานศาลปกครองสูงสุด ในอัตรา 12,500 บาท/เดือน และ 7,300 บาท/เดือน ตามลำดับ โดยให้เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 และตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 โดยให้นำเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวมารวมเป็นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามหลักการเดียวกับกรณีของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง

ให้นำการกำหนดเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมากำหนดเพิ่มเติมไว้ใน ร่าง พระราชบัญญัติตามข้อ 1.3 เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และองค์กรอิสระอื่นให้รวม ร่าง พระราชบัญญัติตามข้อ 1.5 และ 1.6 เป็นฉบับเดียวกันเพื่อความสะดวกในการบังคับใช้กฎหมาย

ทั้งนี้ ร่าง พระราชบัญญัติตามข้อ 1.1-1.3 เมื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติตามข้อ 1.1-1.4 แล้ว ให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป สำหรับ ร่าง พระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1.5 และ 1.6 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้

มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 โดยกำหนดให้ตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง” ที่ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเท่ากับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และมีจำนวนเท่ากับคณะรัฐมนตรี และให้พิจารณาการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ช่วยรัฐมนตรีไว้ด้วย โดยคำนึงถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และให้เสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) พิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

สุดท้าย ให้ความเห็นชอบสำหรับค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยให้ใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงานก่อน ตามที่คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐเสนอ
 
ทั้งหมดนี้ ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว เป็นนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการประกาศขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการและพนักงานราชการทุกประเภท 1.98 ล้านคน ใช้งบ 22,900 ล้านบาท โดยปรับเพิ่มให้ 3 ขั้น หรือประมาณ 10%

แต่ที่แน่ ๆ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง กำลังจะได้รับกันก่อน.



กำลังโหลดความคิดเห็น