xs
xsm
sm
md
lg

ดันนิคมประดับยนต์ "อุตตม"หนุนตั้งที่บุรีรัมย์ อัดสินเชื่อช่วยชาวไร่อ้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-"อุตตม"รับลูกภาคเอกชนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ดันตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์ประดับยนต์ในบุรีรัมย์ หลังพบมีศักยภาพทั้งมีสนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลก เอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออก ตลาดมีแนวโน้มเติบโตสูง ชงพัฒนาเหมืองแร่เก่าทำเป็นอ่างเก็บน้ำ ดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามสุรินทร์โมเดล และผลักดันเปิดศูนย์ซ่อมตู้คอนเทนเนอร์และโลจิสติกส์อุตสาหกรรม พร้อมอัดสินเชื่อช่วยชาวไร่อ้อยปีละ 2 พันล้าน พัฒนาเป็นเกษตรอัจฉิรยะ

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2561 ที่จ.สุรินทร์และบุรีรัมย์ วานนี้ (7 พ.ค.) ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมโดยส่วนราชการที่อยู่ในภูมิภาคได้จัดประชุมหารือกับเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 คือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ ภายใต้แนวคิด "การสร้างรายได้ ขยายโอกาส เสริมเศรษฐกิจฐานราก" โดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ได้เสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 เรื่อง ได้แก่ การตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์ประดับยนต์ การฟื้นฟูและพัฒนาเหมืองแร่เก่า และโครงการ Inland Container Depot (ICD)

โดยโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์ประดับยนต์ (Motor Sport) ในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากเห็นว่า จ.บุรีรัมย์ มีสนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลกและมีการนำรถเข้ามาแข่งในพื้นที่จำนวนมาก ประกอบกับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ของไทยมีความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ส่งออกไปยังต่างประเทศ มีมูลค่าการผลิตกว่า5หมื่นล้านบาท และยังมีการขยายตัวด้านยานยนต์ในในกลุ่ม CLMV การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ทำให้มีความต้องการอุปกรณ์ตกแต่ง ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทางภาคเอกชนจึงได้มองเห็นถึงโอกาสในการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมที่จะช่วยผลักดัน หากมีนักลงทุนและมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแล้ว โดยเห็นว่า จ.บุรีรัมย์เป็นตลาดที่ใหญ่พอ ส่วนจะมุ่งเน้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใด ต้องมีการสำรวจความเป็นไปได้อีกครั้งก่อน

ทั้งนี้ ในปี 2556 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้เคยศึกษาไว้ โดยพบว่า ไทยมีศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์ตบแต่งยานยนต์สูงมาก และเป็นที่นิยมของต่างประเทศ โดยพบว่าชิ้นส่วนที่ไทยมีศักยภาพเป็นโปรดักส์ แชมเปี้ยนได้ในกลุ่มรถยนต์ เช่น สเกิร์ต สปอยเลอร์ กันชน ล้ออัลลอย บังลมกันแดด ซันลูฟ อุปกรณ์กันขโมย และโคมไฟหน้า ส่วนในกลุ่มรถจักรยานยนต์ ที่มีศักยภาพสูง คือ หมวกกันน็อค งานพลาสติกตกแต่งตัวถังรถ จานเบรกและคาลิเปอร์ โคมไฟส่องสว่าง โช๊คอัพแต่ง โซ่และจานโซ่ เป็นต้น

นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาเหมืองแร่ โดยนำเหมืองเก่าที่ได้เลิกกิจการแล้วมาฟื้นฟูเป็นอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำหรือสุรินทร์โมเดล ในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 27 ไร่ จุน้ำ 600,000 ลบ.ม. ซึ่งโครงการนี้ จะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ในการช่วยกันพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

ส่วนโครงการ Inland Container Depot (ICD) ใน จ.นครราชสีมา กระทรวงฯ พร้อมจะช่วยต่อยอด เช่น การพัฒนาเป็นเขตประกอบการโกดังการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ และโครงการด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรม

นายอุตตมกล่าวว่า การลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อย โรงเรียนสอนชาวไร่อ้อย ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 มีพื้นที่ปลูกอ้อย 1.7 ล้านไร่ มีผลผลิต 21.6 ตันต่อปี โดยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในการบริหารจัดการไร่อ้อย ต้นทุนค่าแรงสูง และยังขาดประสิทธิภาพการผลิต โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงมีแผนขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ออกไปอีก 3 ปี (2562-2564) วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการไร่อ้อยสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่ 4.0

นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่หมู่บ้าน CIV องค์การบริหารส่วนตำบลสวาย ที่โดดเด่นเรื่องตลาดผ้าไหมใต้ถุนเรือน หมู่บ้าน CIV บ้านเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยกระทรวงฯ ได้เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าภูอัคนี (ย้อมจากดินภูเขาไฟที่ดับแล้ว) ให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และตรวจเยี่ยมพงษ์พันธ์ฟาร์มจิ้งหรีด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้ขอความช่วยเหลือผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีในด้านเงินทุน และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้อนุมัติสินเชื่อ Micro SME แล้ว จำนวน 2 แสนบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น