xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกหลังเลือกตั้ง ศึกสามก๊กหรือรัฐบาลแห่งชาติ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ชัดเจนแล้วล่ะว่า มือไม้ของรัฐบาลทหารจะตั้งพรรคมาผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ตอนนี้จึงทำทุกวิถีทางเพื่อดึงนักการเมืองมาเป็นพวก เพื่อบ่อนเซาะพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อซื้อใจคนระดับล่างซึ่งเป็นมวลชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ที่แท้จริงในระบบวันแมนวันโหวต

แน่นอน การเปลี่ยนเป้ามาที่การเป็นนายกฯ คนในที่พรรคการเมืองเสนอชื่อนั้น เพราะเห็นว่าการเป็นนายกฯคนนอกหรือคนในนั้นไม่แตกต่างในความต้องการของเสียงสนับสนุนคือต้องมี ส.ส.เกินครึ่งหนึ่งคือมากกว่า250เสียง แต่การเป็นนายกฯ คนในนั้นสง่างามกว่า และมีภาพของความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า แม้ว่าการเป็นนายกฯ คนนอกจะอ้างถูไถได้ว่าเป็นนายกฯ ตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ก็ตาม

แต่ถามว่า เป้าหมายเพื่อรวบรวมเสียงส.ส.ให้ได้เกิน250คน เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้กลับมาเป็นนายกฯนั้นง่ายไหม คำตอบก็คือไม่ง่ายเลย ตราบที่2พรรคใหญ่คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง

ตอนนี้ในฝั่งของพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะกลับมาเป็นขั้วรัฐบาลร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ อาจจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้างสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคก็ได้พูดเปิดช่องเอาไว้บ้างว่าต้องไปดูคะแนนหลังเลือกตั้งว่าเป็นอย่างไร ถ้าผมจะเดาก็คือ หมายความว่า ถ้าพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้เสียงชนะพรรคประชาธิปัตย์ถึงตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์อาจจะยอมเป็นรัฐบาลผสมก็ได้ แต่ถ้าเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ถ้าสามารถรวบรวมเสียงได้เกิน250เสียงนั้นแปลว่า ต้องสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อขึ้นมา

ดังนั้นแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะหนีจากนายกฯคนนอกมาสู้แบบนายกฯคนในก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ดูเหมือนพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาและยังไม่รู้ชื่ออะไร จะพยายามดูดนักการเมืองที่เคยสนับสนุนทักษิณเข้ามาร่วมพรรคให้ได้มากที่สุด หรืออย่างน้อยแม้จะไม่มาร่วมพรรคแต่ต้องประกาศเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนคือ พรรคพลังชล พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา แต่เราจะเห็นว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคนของพรรคเพื่อไทยแท้ๆ ข้ามฟากมาฝั่งนี้เลย บางคนบอกว่า ตระกูลอดิเรกสาร ไงเล่าที่ยกตระกูลมาจากพรรคเพื่อไทย แต่พอไปดูผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาตระกูลอดิเรกสารไม่มีที่นั่งในจังหวัดสระบุรีเลย ส่วน ตระกูลสะสมทรัพย์ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมาร่วมหรือไม่

ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว ตอนนี้พลังดูดของรัฐบาลทหารยังเข้าไปเจาะพื้นที่หลักของพรรคเพื่อไทยไม่ได้เลย ที่สำคัญมวลชนของทักษิณถึงวันนี้น่าจะมีความผูกพันกับทักษิณมากกว่าตัวบุคคลในพื้นที่ ดังนั้นต่อให้ใครถูกดูดไปก็ไม่กระเทือนพรรคเพื่อไทย

และหากเอาวิธีการนับคะแนนตามรัฐธรรมนูญใหม่มาวิเคราะห์กับฐานคะแนนเก่าของพรรคที่เคยลงเลือกตั้งโดยเฉพาะ2พรรคการเมืองใหญ่คือเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ หลายคนยังมีความเชื่อตรงกันว่า พรรคเพื่อไทยจะยังคงมี ส.ส.บวกลบ200เสียง และพรรคประชาธิปัตย์จะยังมี ส.ส.บวกลบ 100 เสียง ซึ่งถ้ารวม2พรรคนี้ก็เท่ากับว่าจะมี ส.ส.บวกลบ300เสียง เกินครึ่งหนึ่งของ500เสียงมามาก และเท่ากับว่าพรรคอื่นจะมี ส.ส.รวมกันประมาณ 200 เสียง ในนี้ถามว่า พรรคอนาคตใหม่ที่เปิดตัวมาแรงและไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์แน่จะแบ่งไปกี่เสียง เอาว่าแค่10-20เสียง ก็จะเท่ากับบวกลบ 320 เสียง โอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยิ่งยากขึ้น เพราะมีเสียงแค่บวกลบ180เสียง

แต่ถามว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จะชิงจับมือกันตั้งรัฐบาลไหม ผมยังคิดว่าช่องทางนี้เป็นช่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะ2พรรคจะต้องคำนึงถึงวิกฤตศรัทธาของมวลชนที่สนับสนุนพรรคตัวเองด้วย ดังนั้นถ้า2พรรคยืนกรานไม่เอา 180 เสียงของฝั่งพล.อ.ประยุทธ์จะตั้งรัฐบาลได้ไหม คำตอบคือตั้งได้นะครับ เพราะมีเสียงส.ว.อีก250เสียงรวมกันเป็น 430 เสียงเกินครึ่งหนึ่งของ2สภา แต่บริหารประเทศได้ไหม ในเมื่อมีเสียงในสภาผู้แทนแค่180เสียง คำตอบคือ บริหารไม่ได้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่สามารถผ่านการอภิปรายได้เพราะมีเสียงน้อยกว่าฝ่ายค้านในสภาผู้แทน

จะเห็นว่า โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาอย่างมั่นคงได้มีทางเดียวคือ ต้องเจรจากับพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้ ซึ่งจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรที่สำคัญและมีอำนาจต่อรองสูง ถามว่าตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะยอมไหม เพื่อให้ตัวเองเป็นนายกฯ ต่อ แต่ต้องยกกระทรวงสำคัญให้พรรคประชาธิปัตย์บริหาร

แต่ถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้สภาพการเมืองไทยหลังเลือกตั้งจะกลายเป็นสามก๊กทันที จะทำให้บ้านเมืองขาดเสถียรภาพอีกครั้ง เพราะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้ แน่นอนโดยรัฐธรรมนูญรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังบริหารประเทศต่อไป และรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ตราบที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงมีมาตรา44อยู่ในมือ ถึงตอนนั้นเลือกตั้งแล้ว ประชาชนแสดงออกแล้วว่า ให้พรรคไหนเป็นเสียงข้างมาก ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกล้าใช้มาตรา44เป็นให้เป็นคุณกับตัวเองหรือไม่

ถ้ากล้าใช้ ถามต่อว่าจะมีเสียงสะท้อนจากประชาชนหรือไม่ ถ้ามันขัดกับเจตนารมณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ออกมาลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง แล้วจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองอีกครั้งไหม

ต้องยอมรับนะครับว่า รัฐบาลประยุทธ์ได้วางร่างแหยุทธศาสตร์ชาติไว้ เพื่อให้ตัวเองได้เข้ามาสานต่อหลังเลือกตั้งเพื่อผลักดันนโยบายต่างๆไม่ว่าจะเป็น อีอีซี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่วางกองทัพเข้ามาเป็นกรรมการร่วม แผนยุทธศาสตร์20ปีที่ต้องการความต่อเนื่องกับสิ่งที่ตัวเองพยายามผลักดันอยู่ ซึ่งต้องการความเบ็ดเสร็จและรัฐบาลที่มีเอกภาพเข้ามาบริหาร

แต่หากเรามองจากตอนนี้ แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ มีมาตรา44ที่จะทำให้ตัวเองเหาะเหินเกินลงกาได้เพราะเหนือกว่าอำนาจใดๆ แต่ปัจจุบันรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ฝังรากลึกในระบบการเมืองและระบบราชการของไทยได้เลย แล้วถ้าต้องเป็นรัฐบาลผสมหลังเลือกตั้งหากสามารถรวบรวมเสียงได้เกิน250เสียง แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกฯก็มีคำถามว่า ในสภาพเช่นนั้นและไม่มีมาตรา44อยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์จะบริหารประเทศได้หรือ เมื่อเทียบกับศักยภาพความสามารถและสติปัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เราเห็นๆ กันอยู่

ดังนั้น แม้จะดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมได้และมีพรรคเล็กพรรคน้อยมาเป็นรัฐบาลผสมก็ใช่ว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์จะบริหารประเทศไปได้อย่างราบรื่น

เมื่อพิจารณาภาพรวมด้วยสายตาที่เป็นจริงแล้ว การเมืองไทยหลังเลือกตั้งก็ไม่สามารถนำประเทศชาติให้พ้นจากหุบเหวของความขัดแย้งได้ เว้นเสียแต่ว่าพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์จะชนะการเลือกตั้งถล่มทลายแบบที่พรรคของทักษิณเคยทำซึ่งถึงตอนนี้มองไม่เห็นหนทางที่จะเป็นอย่างนั้นได้เลย

มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายรวมถึง ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เคยเสนอให้มีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอย่างน้อยใน 4 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญให้มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจาก สส.ในสังกัดไม่น้อยกว่า4 ใน 5 ของจำนวน สส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

หรือที่เรียกว่า “การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ”

แต่อย่าลืมว่า ระบอบประชาธิปไตยโดยความหมายของมันนั้นหมายถึงประชาชนเป็นใหญ่ ถามว่า ประชาชนที่ยังมีความขัดแย้งกันสูงแบ่งเป็น2ฝ่ายชัดเจนจะยอมรับให้รัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นไหม ทุกวันนี้ประชาชนทั้งสองฝ่ายในสังคมไทยแทบจะเข้าใจในสิ่งที่ “ถูก” และ “ผิด” แตกต่างกันราวกับเป็นขั้วตรงข้าม ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่า ความคิดและอุดมการณ์ของตัวเองเป็นฝ่ายถูกและฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายผิด

การตั้งรัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องการสมยอมกันของนักการเมืองอย่างเดียว แต่ต้องฟังเสียงประชาชนซึ่งมีความคิดที่แบ่งแยกแตกฝ่ายกันอย่างสุดขั้วด้วย

แล้วการเป็นรัฐบาลที่ไม่มีพรรคฝ่ายค้านนั้น มันเป็นทางออกของประเทศจริงๆ หรือ ความน่าเชื่อและเครดิตของนักการเมืองและผู้มีอำนาจนั้นมันมากพอไหมที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่า พวกเขาจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

นั่นเป็นคำถามที่สรุปสั้นๆ ว่า เราไว้วางใจนักการเมืองได้ไหม

และถ้าจะว่าไปการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น มันยังขัดแย้งกับหลักการของประชาธิปไตย และมีคำถามว่า เราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม เพื่อมีบทสรุปเช่นนั้น เพราะมันทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรมอำพรางเท่านั้นเอง

หากมองสถานการณ์หลังเลือกตั้งตอนนี้จึงมีทางออกอยู่ไม่กี่ทางนั่นคือ พรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์สามารถรวบรวมเสียงในสภาได้เกินครึ่ง ทางออกนี้ยากมากถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วย พรรคประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมากค่อนข้างแน่ๆ แต่โอกาสแทบเป็นไปไม่ได้เลย พรรคของประยุทธ์แม้จะไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนได้ แต่จับมือกับส.ว.250เสียงโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ โดยยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่มีกองทัพหนุนหลัง หรือทางออกสุดท้ายคือ การเป็นรัฐบาลแห่งชาติที่ไม่มีฝ่ายค้าน

จะเห็นว่า ปมสำคัญของการเมืองหลังเลือกตั้งมันอยู่ที่กิเลสของ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปนั่นเอง ทำให้ทุกทางออกล้วนแล้วแต่มีวิกฤตซ่อนอยู่ทั้งสิ้น

ดังนั้น จึงยังมองไม่เห็นเลยว่า หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรนอกจากความขัดแย้งและวิกฤตของการเมืองไทยอันหมายถึงวิกฤตชาติที่เกิดขึ้นมากว่า10ปีจะยังดำรงอยู่




กำลังโหลดความคิดเห็น