xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่ไล่ป่าแหว่ง โพล85%ชี้สร้างบ้านพักไม่เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พลังสีเขียวพรึบทั่วเมืองเชียงใหม่ “เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ”นำประกาศเจตนารมณ์ ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เน้นย้ำจุดยืนต้องรื้อทิ้ง “บ้านป่าแหว่ง”วอนนายกฯเร่งพิจารณาตัดสินใจให้สอดคล้องความต้องการของชาวเชียงใหม่ ลั่นหากยังไร้ความชัดเจน เตรียมนัดรวมตัวกิจกรรมอีกครั้ง สัปดาห์หน้า ด้าน นิด้าโพล ชี้ ร้อยละ 85.20 ระบุว่า การก่อสร้างบ้านพักตุลาการไม่เหมาะสม และเสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.84 ให้รื้อถอน

บรรยากาศที่ลานประตูท่าแพในตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อเช้าวานนี้ (29เม.ย.) เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีชาวเชียงใหม่ พร้อมด้วยประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เข้าร่วมกิจกรรม “วันประกาศเจตนารมณ์ ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ”ที่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จัดขึ้น เพื่อเน้นย้ำจุดยืนเรียกร้อง ให้มีการยุติ และยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เพื่อขอให้พิจารณาตัดสินใจแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวนี้ ให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนชาวเชียงใหม่ ที่ต้องการให้รื้อถอนบ้านพัก แล้วฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาดังเดิม

กิจกรรมในครั้งนี้ เริ่มจากการที่ชาวเชียงใหม่และผู้เข้าร่วมรวมตัวกันขี่จักรยานผูกริบบิ้นเขียว ขี่วนรอบคูเมืองเชียงใหม่ แล้วมารวมตัวกันที่ประตูท่าแพ ขณะเดียวกันมีการแจกริบบิ้นเขียว และสติ๊กเกอร์รณรงค์ ให้กับผู้คนที่ผ่านไปมา และการแสดงผลงานศิลปะ โดยศิลปินเพื่อสะท้อนมุมมองต่อกรณีปัญหานี้ รวมทั้งการร่วมกันลงรายชื่อเพื่อปกป้องดอยสุเทพ ก่อนที่ทางเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จะมีการเปิดตัวกว่า 40 องค์กร ที่ร่วมเป็นเครือข่าย และนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ นำอ่านแถลงการณ์เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ฉบับที่ 1 ประกาศเจตนารมณ์ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โดยยืนยันให้ต้องมีการรื้อบ้านพักและอาคารที่พักของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชิงดอยสุเทพ

หลังเสร็จสิ้นการอ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์แล้ว ทางเครือข่ายฯ ได้นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายพันคน ร่วมกันเดินขบวนจากบริเวณลานประตูท่าแพ ไปยังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อกราบสักการะขอพรให้การเรียกร้องของเครือข่ายประสบความสำเร็จ โดยในขบวนมีการแห่เครื่องสักการะ พร้อมด้วยการตีกลองสะบัดชัย และป้ายข้อความเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ อีกทั้งผู้เข้าร่วมขบวนพร้อมใจกันผูกริบบิ้น และโบกธงสีเขียว รวมทั้งช่วยกันถือผ้าสีเขียวผืนใหญ่ แสดงสัญลักษณ์เรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเมื่อถึงลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ได้มีการประกอบพิธีสักการะ ท่ามกลางผู้คนที่เนืองแน่น

นายนิคม พุทธา นักอนุรักษ์ที่ปักหลักนั่งเจริญภาวนาและอดอาหาร หน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. ได้นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมใจกันเจริญจิตภาวนา เพื่อขอให้ข้อเรียกร้องของชาวเชียงใหม่ประสบผลสำเร็จด้วย ขณะเดียวมีการแสดงทางวัฒนธรรม และการแสดงพลังร่วมกันด้วยการชูกำปั้นที่ผูกริบบิ้นสีเขียวไว้ที่ข้อมือ เพื่อบันทึกภาพด้วย ซึ่งบรรยากาศโดยภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก

นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า เบื้องต้นพอใจกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างมาก ที่มีชาวเชียงใหม่ เข้าร่วมประมาณ 3,000-5,000 คน จนเต็มลานประตูท่าแพ และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เป็นสิ่งบ่งบอกว่า ชาวเชียงใหม่ทุกหมู่เหล่าพร้อมต่อสู้แสดงพลังปกป้องดอยสุเทพ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หากรัฐบาลยังไม่ตัดสินใจ เชื่อว่าจะออกมามากกว่านี้

สำหรับจุดยืนของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และชาวเชียงใหม่นั้น นายธีระศักดิ์ ย้ำว่า เรียกร้องให้รื้อเท่านั้น ตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ได้เสนอไป เพื่อให้นายกฯ พิจารณา ซึ่งเบื้องต้นขอให้หยุดกิจกรรมทุกอย่างในพื้นที่โครงการ แล้วมาพูดคุยรายละเอียดกัน ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยอยากให้นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นสัปดาห์หน้าจะมีการจัดกิจกรรมกันอีก เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญต่อจิตวิญญาณของคนเชียงใหม่ เชื่อว่าคนจะออกมารวมพลังกันมากเรื่อยๆ หากยังไม่มีการตัดสินใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสรฺจสิ้นการกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ที่จะปกปักรักษาดอยสุเทพ ให้มีสภาพสมบูรณ์อยู่เป็นสง่าราศี คู่เมืองเชียงใหม่ตลอดไป จากนั้นทางเครือข่ายฯ ได้ยุติการจัดกิจกรรม เมื่อเวลาประมาณ 10.05 น.

ด้าน “นิด้าโพล”เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนไทยคิดอย่างไร กับโครงการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ”สำรวจระหว่าง วันที่ 21 - 23 เม.ย.61 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 หน่วยตัวอย่าง

จากคำถาม ถึงความเหมาะสมในการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.20 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะ เป็นการทำลายป่าไม้ ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ สิ้นเปลืองงบประมาณ ควรนำงบประมาณไปใช้ทำอย่างอื่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่บางส่วนระบุว่า บ้านพักควรสร้าง ในเมืองน่าจะดีกว่า รองลงมา ร้อยละ 14.56 ระบุว่า เหมาะสม เพราะ เป็นพื้นที่ที่ถูกต้องตามกม. ไม่เป็นการบุกรุก หรือรุกล้ำพื้นที่ป่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะพิจารณาตามความเหมาะสมมาอย่างดีแล้ว และเพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงาน และร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการรื้อถอนบ้านพักตุลาการฯ ออกทั้งหมด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.84 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้คืนผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม และจะเป็นการช่วยอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ รองลงมา ร้อยละ 43.68 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการรื้อถอน และเสียดายงบประมาณที่ใช้ไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังสามารถใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีก และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.36 ระบุว่า ให้ยุติการก่อสร้าง รื้อถอนบ้านพักทั้งหมด และปลูกป่าทดแทนให้กลับเป็นตามเดิม รองลงมา ร้อยละ 25.92 ระบุว่า ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป ไม่ต้องรื้อถอน แต่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์แทน ร้อยละ 22.96 ระบุว่า ให้ยุติการก่อสร้าง และรื้อถอนบางส่วนที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 7.52 ระบุว่า ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป และให้ตุลาการศาลเข้าไปใช้พื้นที่เหมือนเดิม เพราะถูกต้องตามกฎหมาย ร้อยละ 2.80 ระบุว่า ให้ยุติการก่อสร้าง และทำความตกลงไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย ร้อยละ 1.20 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป และปลูกต้นไม้ทดแทนไปด้วย ให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการทำเป็นรีสอร์ทเพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีงานทำ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ให้ยุติการก่อสร้าง และเรียกร้องค่าเสียหาย และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น