xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านจวก"เทเรซา เมย์" ไม่หารือรัฐสภาก่อนถล่มซีเรีย สมช.ห่วงคนไทยในอิสราเอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอังกฤษ" เริ่มความพยายามครั้งใหม่ที่องค์การสหประชาชาติ เพื่อสืบสวนการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย หลังการยิงโจมตีเป้าหมายในซีเรีย ด้าน "เทเรซา เมย์" นายกฯ อังกฤษ โดนจวกยับ ฐานไม่ปรึกษารัฐสภาก่อนลงมือ ด้านเลขาฯ สมช. ระบุฝ่ายความมั่นคง เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด เชื่อไม่น่าขยายวงกว้าง เหตุมุ่งถล่มเฉพาะศูนย์ผลิตอาวุธเคมี ห่วงแรงงานไทยในอิสราเอลได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ 3 พันธมิตร”สหรัฐ-อังกฤษ-ฝรั่งเศส” เผยแพร่ร่างมติร่วมในคณะมนตรีความมั่นคง ที่เรียกร้องการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างไม่รอช้า การบังคับใช้การหยุดยิง และข้อเรียกร้องให้ซีเรีย มีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพ ที่นำโดย ยูเอ็น

ความเคลื่อนไหวนี้ เป็นสัญญาณว่า ตะวันตกกำลังหันกลับไปใช้วิธีการทางการทูต เพื่อหาทางออกหลังจากปฏิบัติการทางทหารนานหนึ่งคืนที่โจมตีสถานที่ต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ตะวันตก ระบุว่า มีความเกี่ยวข้องกับโครงการอาวุธเคมี ของซีเรีย

ในหมู่ข้อเสนอที่มีปัญหา ร่างมติจะจัดตั้งการสืบสวนโดยอิสระต่อข้อกล่าวหาการใช้อาวุธเคมีในซีเรียด้วยเป้าหมายเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด เมื่อเดือนพ.ย. รัสเซียใช้สิทธิยับยั้ง 3 ครั้ง เพื่อขัดขวางการสืบสวนก่อนหน้านี้ ที่นำโดยยูเอ็น ที่พบว่า กองกำลังซีเรียใช้ก๊าซซาริน ในการโจมตีเมืองข่านเชคุน ในเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว

มาตรการดังกล่าว จะสั่งให้องค์การห้ามอาวุธเคมี (Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons : OPCW) ออกรายงานภายใน 30 วัน ว่า ซีเรีย ปิดซ่อนคลังอาวุธเคมีหรือไม่

ตะวันตก กล่าวหาซีเรียว่า ล้มเหลวในการรักษาข้อผูกมัดที่จะต้องยกเลิกโครงการอาวุธเคมี ภายใต้ข้อตกลงที่บรรลุกันระหว่าง สหรัฐฯ และรัสเซีย

คณะมนตรีความมั่นคง จัดการประชุมฉุกเฉินก่อนหน้านี้ ตามคำร้องขอของรัสเซีย ซึ่งประสบความล้มเหลวในความพยายามออกถ้อยแถลงประณามการโจมตีทางอากาศ

มีเพียงจีน และโบลิเวีย ที่โหวตข้างเดียวกับรัสเซีย สนับสนุนร่างมติประณามปฏิบัติการทางทหาร ในขณะที่อีกแปดประเทศ คัดค้าน สี่ประเทศ งดออกเสียง

ในการปราศรัยต่อคณะมนตรีความมั่นคง นิกกี ฮาเลย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ มั่นใจว่าการโจมตีทางทหาร ทำลายโครงการอาวุธเคมีของซีเรีย

ฮาเลย์ เตือนว่า สหรัฐฯพร้อมตอบสนองหากมีการใช้อาวุธเคมีเกิดขึ้นในซีเรียอีก

**จวก" เมย์"ไม่ปรึกษารัฐสภาก่อนโจมตี
ด้านนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ของอังกฤษ เผชิญกับกระแสโต้กลับจากกลุ่มฝ่ายค้านภายในประเทศ หลังปฏิบัติการโจมตีทางทหารหลายครั้ง ในซีเรีย โดยไม่ปรึกษารัฐสภา

ในขณะที่ผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม อธิบายเหตุผลสำหรับการโจมตีทางอากาศ บรรดาพรรคฝ่ายค้านอ้างว่า การโจมตีดังกล่าว มีความน่าสงสัยทางกม. เสี่ยงกระตุ้นความขัดแย้ง และควรได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติ

“ระเบิดไม่ได้ช่วยชีวิตคน หรือสร้างสันติภาพ”เจเรมี คอร์บิน ผู้นำหัวเอียงซ้าย ของพรรคแรงงาน แกนนำฝ่ายค้านกล่าว

“การกระทำที่มีข้อสงสัยทางกฎหมายนี้ เสี่ยงที่จะทำให้ความขัดแย้งที่เลวร้ายอยู่แล้วบานปลายยิ่งขึ้นไปอีก”

“เทเรสซา เมย์ ควรขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่ใช่เดินตามรอย โดนัลด์ ทรัมป์”

คอร์บิน เขียนถึงเมย์ ที่พยายามสร้างความมั่นใจว่า จะไม่มีการโจมตีทิ้งระเบิดอีก และเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจา เพื่อยุติสงครามกลางเมืองในซีเรีย

การทิ้งระเบิดของ อังกฤษ สหรัฐฯ และฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14เม.ย. ที่ผ่านมา มีขึ้นภายหลังการใช้อาวุธเคมีโจมตีในเมืองดูมา ของฝ่ายกบฏเมื่อวันที่ 7 เม.ย.

รัฐบาลของเมย์ ยืนกรานว่า การโจมตีเพื่อลงโทษนี้ ถูกกฎหมาย พร้อมออกถ้อยแถลงว่า การโจมตีมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความทุกข์ด้านมนุษยธรรมของชาวซีเรีย ด้วยการลดแสนยานุภาพทางอาวุธเคมีของรัฐบาล ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด
"อังกฤษได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเป็นกรณีพิเศษ ให้ใช้มาตรการเพื่อบรรเทาความทุกข์ด้านมนุษยธรรมอันถาโถม" ถ้อยแถลง ระบุ และยังเสริมว่า อังกฤษเชื่อว่า รัฐบาลซีเรีย ก่ออาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการใช้อาวุธเคมี และความพยายามหาทางออกร่วมกัน ผ่านองค์การสหประชาชาติ ถูกขัดขวางโดยมอสโก ที่เป็นพันธมิตรกับดามัสกัส
ทั้งนี้ เมย์ จะเผชิญกับการตั้งคำถามจากสมาชิกรัฐสภา ในวันจันทร์ (16เม.ย.) เมื่อรัฐสภาเปิดประชุมอีกครั้ง หลังช่วงพัก

**ห่วงกระทบแรงงานไทยในอิสราเอล

ด้าน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึง สถานการณ์ความตึงเครียด หลังกองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติการโจมตีทางทหาร กับประเทศซีเรีย ว่า ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการประเมินเป็นระยะๆ ซึ่งการโจมตีของสหรัฐฯมุ่งไปที่สถานีผลิต ศูนย์วิจัยอาวุธเคมี จึงน่าจะไม่มีการขยายวงกว้างมาก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กระทบประชาชนด้วย

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการครั้งนี้ ในภาพรวมย่อมเกิดผลกระทบไปในภูมิภาค และทั่วโลก เพราะประเทศมหาอำนาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ด้านเศรษฐกิจก็ต้องมีผลกระทบบ้าง เพราะประเทศซีเรีย ก็ถือว่าเป็นประเทศผลิตน้ำมันรายใหญ่ ตลาดหุ้นคงมีตกใจบ้าง

สำหรับประเทศไทย ในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) การดำเนินการต่างๆ จะยึดกม.ระหว่างประเทศ หากสถานการณ์น่ากังวลมากขึ้น สหประชาชาติ อาจมีเรียกระชุมฉุกเฉินได้ หรือหากมีชาติสมาชิกร้องขอ ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้เกิดความรุนแรง อยากให้ทั้งสองฝ่ายอดทน อดกลั้น สำหรับสถานการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ถ้ามองแง่ดี ไม่น่าจะมีเหตุรุนแรงมากขึ้น จึงไม่อยากให้วิตกจนมากเกินไป ส่วนของแรงงานไทยในอิสราเอล อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งคิดว่าฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตที่นั้นคอยดูแลอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น